สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แนะดับไฟด้วยผงฟู-ปูนขาวดีกว่าใช้น้ำจาก บ่อขยะ ทำสารพิษกระจาย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

นักวิชาการชีววิทยาสิ่งแวดล้อมแนะ ใช้ปูนขาวหรือผงฟูอุตสาหกรรมดับไฟจากบ่อขยะที่สมุทรปราการ ดีกว่าใช้น้ำที่หมุนเวียนจากบ่อขยะ เพราะยิ่งให้สารพิษฟุ้งกระจาย พร้อมแสดงความเสียดาย “มีเทน” จากขยะที่ผลิตไฟฟ้าเลี้ยงคนได้ครึ่งจังหวัด
       
       “3 วันแล้วยังดับไฟไม่ได้เลย ผมว่ามีเทนมีมหาศาล” รศ.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ หัวหน้าภาควิชาเคมี และห้องปฏิบัติการชีววิทยาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน พร้อมทั้งชี้ว่าการทิ้งขยะแบบเปิดในบ้านเราเป็นสิ่งที่ผิดมาตั้งแต่ต้น และคาดว่าการไหม้ครั้งนี้น่าจะเกิดจากความประมาทของใครสักคน
       
       รศ.ประหยัดยังแสดงความเห็นเสียดายก๊าซมีเทนที่เกิดจากการทับถมของขยะ ปริมาณมหาศาลในบ่อขยะที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 100 ไร่ และมีความลึก 10-100 เมตร ซึ่งหากมีการจัดการก๊าซมีเทนเหมือนที่ฟาร์มเลี้ยงหมูหลายแห่งทำ จะได้ก๊าซมีเทนที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่คนใน จ.สมุทรปราการ ได้กว่าครึ่งจังหวัด
       
       พร้อมกันนี้หัวหน้าภาควิชาชีววิทยายังได้ยกตัวอย่างการจัดการขยะของ ประเทศที่เจริญแล้ว ว่ามีการฝั่งกลบอย่างมิดชิด และแบ่งเป็นชั้นๆ โดยมีชั้นดินกลบ และมีการต่อท่อนำก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์ หรืออีกวิธีคือการขัดแยกขยะ นำขยะที่รีไซเคิลได้ไปหมุนเวียนผลิตใช้ใหม่ ส่วนขยะเปียกหรือขยะที่เป็นเชื้อเพลิงก็นำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แต่การจัดการเหล่านี้ล้วนใช้เงินทุน
       
       ทางด้าน รศ.เอกสิทธิ์ สมสุข จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล อธิบายถึงการเผาไม้ว่า ต้องมี 3 สิ่งประกอบกัน คือ เชื้อเพลิง ออกซิเจน และพลังงานหรือความร้อน โดยก๊าซที่ติดไฟง่ายอย่างมีเทนหรือน้ำมันเบนซินจะติดไฟได้เองยังต้องอยู่ใน ที่อุณหภูมิสูงมาก อย่างมีเทนต้องมีอุณหภูมิมากถึง 537 องศาเซลเซียสจึงจะติดไฟ ส่วนเบนซินต้องมีอุณหภูมิ 246-280 องศาเซลเซียส
       
       “การเผาไหม้มีทั้งแบบที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ หากเผาไหม้สมบูรณ์จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ แต่ถ้าไม่สมบูรณ์จะได้ควันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ออกมา การที่เห็นเป็นควันสีขาวๆ นั้นเกิดจากอุณหภุมิในการเผาไหม้ไม่เพียงพอ ทำให้เชื้อเพลิงออกมาเป็นละอองผสมกับอากาศ และสีเปลวไฟยังบ่งบอกได้ หากเป็นสีแดงเป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าเป็นสีน้ำเงินเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ส่วนถ้าเห็นเปลวสีส้ม สีเขียว หรือแปลกๆ แสดงว่าอาจมีโลหะหนักอยู่” รศ.เอกสิทธิ์
       
       ทั้งนี้ นักวิชาการซึ่งรวมเสวนาเรื่อง “มหันตภัยจากควันไฟบ่อขยะ” ในกิจกรรม Science Cafe ที่จัดขึ้นวันที่ 21 มี.ค.57 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่สามารถสรุปได้ว่า ในบ่อขยะที่เกิดไฟไหม้ดังกล่าวจะมีขยะพิษจากอุตสาหกรรมหรือไม่ เนื่องจากไม่มีอำนาจในการเข้าตรวจพื้นที่ แต่ได้ให้ข้อมูลสิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้
       
       รศ.ประหยัด คาดว่าน่าจะเกิดสารพิษอย่างไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งจากการเผาขยะ พลาสติก และมีอันตรายที่สุด ตามมาด้วย “ฟิวแรน” (Furan) ที่เกิดจากการเผาไหม้พลาสติกที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ท่อน้ำพีวีซี เป็นต้น และสไตรีน (styrene) ที่เกิดจากการเผาโฟมหรือกล่องโฟมบรรจุอาการ ซึ่งเป็นขยะที่มีเยอะ นอกจากนั้นยังมีไนโตรเจนออกไซด์ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองตาและเยื่อบุของ ร่างกาย คาร์บอนมอนอไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดฝนกรด รวมถึงก๊าซไข่เน่าหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ร่างกายคนเราผลิตขึ้นทุกวัน
       
       สำหรับการดับไฟนั้น รศ.เอกสิทธิ์ การดับไฟนั้นทำได้โดยแยกเอาเชื้อเพลิงออก แต่สำหรับกรณีนี้ไม่สามารถทำได้ สิ่งที่ทำได้คือลดอุณหภูมิหรือพลังงาน ซึ่งมีการฉีดน้ำหล่อไม่ให้ไฟลาม หรือเอาออกซิเจนซึ่งเป็นปัจจัยในการเผาไหม้ออก แล้วใส่คาบอนไดออกไซด์เข้าไปแทนที่ แต่ในกรณีบ่อขยะกองมหึมาอาจทำไม่ได้ จึง มีอีกวิธีคือใช้ปูนขาว ซึ่งเมื่อปูนขาวถูกสลายด้วยความร้อนจะกลายเป็นหินปูนและเกิดเป็นคาร์บอน ไดออกไซด์ช่วยดับไฟ โดยอาจจะใช้เปือกหอยหรือเปลือกไข่ทุบละเอียดช่วยดับไฟแทนได้
       
       ทางด้าน รศ.ประหยัดเสริมว่า จากที่ติดตามข่าว เห็นว่ามีการนำน้ำจากบ่อขยะขึ้นมาดับไฟ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะสารพิษจากบ่อขยะจะยิ่งฟุ้งกระจายไปตามอากาศ หากน้ำไม่เพียงพอแนะนำให้ใช้ปูนขาว หรือผงฟูอุตสาหกรรม (โซเดียมไบคาร์บอเนต) ที่มีลักษณะเป็นผงและจับอนุภาคได้ดีกว่า จะให้ผลในการดับไฟได้เร็วที่สุด
       
       ในส่วนของ พญ.ฉัฐญาณ์ วงศ์รัฐนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวอนามัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลในเชิงการดูแลสุขภาพว่า สารพิษหลายชนิดที่เกิดจากการเผาไหม้บ่อขยะทำให้เกิดการระคายต่อเยื่อบุและตา เนื่องจากเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดี และเยื่อบุต่างๆ ตามร่างกายก็มีน้ำ จึงแนะนำให้แต่งตัวอย่างรัดกุม มีหน้ากากและแว่นตากันสารพิษหรืออาจใช้แว่นตากันน้ำแทนก็ได้ หากนึกไม่ออกว่าควรแต่งตัวเช่นไรให้นึกถึงผู้ประท้วงตอนแต่งตัวกันก๊าซน้ำตา ซึ่งเป็นวิธีที่นำมาใช้ป้องกันสารพิษจากบ่อขยะได้เช่นกัน
       
       อย่างไรก็ดี รศ.เอกสิทธิ์ มองอย่างเป็นบวกว่า ปัญหาสารพิษจากไฟไหม้บ่อขยะที่เกิดขึ้นจะคลี่คลายเมื่อมีฝนตกลงมาชะล้าง และจากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีปริมาณฝนตกมากในเร็ววันนี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view