สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤติหมอกควัน รอบบ่อขยะ เตือน4กลุ่มเสี่ยง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ไฟไหม้บ่อขยะภายในซอยแพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ หน่วยงานเกี่ยวข้องตรวจสอบสภาพอากาศ ถือว่ายังอยู่ในขั้นวิกฤติ แนะกลุ่มเสี่ยงให้ออกนอกพื้นที่

นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ควันที่เกิดจากไฟไหม้บ่อขยะได้พัดเข้าเขต กทม. ซึ่งได้รับผลกระทบ 6เขตในพื้นที่ใกล้เคียง จ.สมุทรปราการ โดยในส่วนของ คพ.มุ่งเป้าไปที่จุดเกิดเหตุก่อน การทำงานเหมือนลักษณะตีวงเข้ามา เพราะของอากาศเวลาเกิดขึ้นมันลอยขึ้นมา ยิ่งไกลยิ่งเจือจางเพราะไปผสมกับอากาศ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องไปตีวงว่าพื้นที่ที่ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ หาขอบเขตก่อน

ทั้งนี้ คพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ 2 ทีม คือ 1.ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินด้านอากาศ โดยวัดสภาพอากาศอยู่หลายจุด และห่างไกลที่สุดประมาณ 1 กม.จากกองขยะ เข้ามาทางทิศเหนือหรือทางกทม. เราพบว่ามีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คือ กำมะถัน เกินมาตรฐาน ซึ่งหากเจอน้ำจะเป็นกรดซัลฟูริก ตรงพื้นที่ตรวจพบมีอยู่ 2-4 ส่วนในล้านส่วน ในขณะที่ระดับมาตรฐาน กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 0.2 ส่วนในล้านส่วน แต่ตอนนี้ ที่เจออยู่สูงถึง 10 เท่า โดยก๊าซจะเริ่มกระทบต่อสุขภาพถ้าอยู่ในระดับตั้งแต่ 0.75 ส่วนในล้านส่วน

สำหรับทิศทางลมจะอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยตอนเช้าจะไปทางทิศใต้ ในช่วงตอนเย็นทิศเหนือ ตรงนี้เราได้ส่งข้อมูลให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรง ควรห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวหลีกเลี่ยงได้ก็หลีกเลี่ยง บางพื้นที่อพยพได้ ก็ต้องอพยพ

นายวิเชียร กล่าวว่า ยังได้ไปติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยเก็บสารอินทรีย์ระเหยง่าย และฝุ่น สิ่งเหล่านี้การเก็บต้องอย่างน้อย 24 ชั่วโมงถึงจะได้ผล แต่ผลที่ออกมาแล้วคือฝุ่น โดยฝุ่นที่ออกมาเก็บตัวอย่างใน 2 จุด คือ จุดที่ไกลที่สุด ห่างจากบ่อขยะประมาณ 1 กิโลเมตร ปรากฏว่าฝุ่นละอองประมาณ 10 ไมครอน วัดได้ 354 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน 3 เท่า สูงกว่าหมอกควันภาคเหนือ ส่วนฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน ระดับนี้เราเรียกว่า "วิกฤติหมอกควัน" เป็นพื้นที่ที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นเดียวกับพื้นที่ที่พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์

นอกจากนี้ เรายังวัดฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สูงถึง 365 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงมากจริงๆ ถือว่าเกินมาตรฐานค่อนข้างมาก ระดับฝุ่น 2.5 ไมครอน ถือว่าอันตรายมากเพราะสามารถเข้าขั้วปอดได้ อาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งปอดได้

2.ทีมรถโมบายรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เก็บสารอินทรีย์ระเหยง่าย ส่วนใหญ่เป็นสารตั้งต้นก่อมะเร็ง แต่ต้องใช้เวลา 7-8 วัน กว่าจะรู้ผล

นายวิเชียรกล่าวว่า บ่อขยะที่เกิดเหตุนี้ เคยเกิดไฟไหม้ใหญ่เมื่อปี 2551 และเป็นที่ชัดเจนว่ามีการแอบทิ้งขยะไม่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว และเป็นบ่อขยะที่หมดอายุไปนานแล้ว

กทม.เตือนหลีกเลี่ยงพื้นที่

นางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าขณะเดียวกันทางกองควบคุมและจัดการคุณภาพอากาศ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักอนามัย กทม.ยังคอยเฝ้าตรวจสอบสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังตรวจพบปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน รวมทั้ง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในระดับสูงกว่ามาตรฐาน จึงได้แจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงพื้นที่มีควันฟุ้งกระจาย หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากป้องกัน หรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก

นางสาวตรีดาว กล่าวว่า ได้กำชับให้เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ ความดัน รวมทั้งผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ถ้ามีอาการปวดศีรษะ หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หรือหมดสติ ให้รีบพบแพทย์ทันที

ชี้4กลุ่มเสี่ยงต้องออกนอกพื้นที่

นายแพทย์พิบูล อิสสระพันธุ์ รองผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวานนี้ (18 มี.ค.) สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการสุ่มตรวจค่ามลพิษในอากาศที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งห่างจากบ่อขยะประมาณ 1 กิโลเมตร ทำการตรวจภายในบ้านที่มีการปิดสนิทเพื่อตรวจสอบว่าประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้หรือไม่

ทั้งนี้ มีการตรวจสอบสารพิษ 5 ตัว คือ ฝุ่นที่มีอนุภาคต่ำกว่า 10 ไมครอน ค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, โอโซน ค่ามาตรฐาน 0.10 ppmต่อ 1 ชั่วโมง, คาร์บอนไดออกไซด์ 5,000 ppm, คาร์บอนมอนอกไซด์ ค่ามาตรฐาน 30 ppm ต่อ 1 ชั่วโมง และไนตริกออกไซด์ 0.17 ppmต่อ 1 ชั่วโมง

"ผลปรากฏว่า ทั้ง 5 ตัวไม่พบค่าเกินมาตรฐาน แต่ในส่วนของฝุ่นที่มีอนุภาคต่ำกว่า 10 ไมครอน พบ 80-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะอยู่อาศัยในบ้านที่ปิดมิดชิดได้หากมีความจำเป็น แต่เนื่องจากสภาพอากาศภายนอกบ้านยังมีฝุ่นควันและมีกลิ่นสูง ดังนั้น หากมีอาการไม่สบายตัวควรย้ายออกจากบ้าน"

นายแพทย์พิบูล กล่าวว่า มี 4 กลุ่มเสี่ยงไม่ควรอยู่ในพื้นที่ที่มีควัน ควรย้ายออกจากพื้นที่ ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ต่ำกว่า 3 เดือน เนื่องจากควันพิษสามารถผ่านรกและสายสะดือไปสู่เด็กได้ อาจทำให้เด็กมีความผิดปกติหรือเสียชีวิต 2.เด็กแรกเกิด ซึ่งปอดจะสามารถดูดซึมสารเคมีได้ดีกว่าผู้ใหญ่ อาจดูดซึมเข้ากระแสเลือด รวมทั้ง ระบบทางเดินหายใจยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ 3.ผู้สูงอายุ หัวใจจะทำงานหนัก และ 4.ผู้ป่วยโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ จะมีความไวต่อมลพิษในอากาศมากกว่ากลุ่มอื่น อาการอาจรุนแรง

พบผู้ป่วย15รายไม่มีอาการรุนแรง

นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะผู้บัญชาการวอร์รูม สธ.จังหวัดกรณีไฟไหม้บ่อขยะ กล่าวว่า สธ.จะดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1.จัดบริการทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลสมุทรปราการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่อบต.แพรกษาและวัดแพรกษา รวมถึงให้บริการสถานพยาบาลสังกัดสธ. ซึ่งในวันที่ 18 มี.ค. พบประชาชนมาเข้ารับบริการ 15 รายที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แพรกษา ด้วยอาการแสบตา แสบจมูก แสบคอ ไม่มีอาการรุนแรง

2.การเฝ้าระวัง แบ่งกลุ่มเฝ้าระวังเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสัมผัสมาก เช่น นักผจญเพลิง และประชาชนที่อยู่ห่างจากบ่อขยะ 200 เมตรจะมีการตรวจร่างกาย เอกซเรย์ เจาะเลือดและประเมินว่าจำเป็นต้องตรวจสารก่อมะเร็งหรือไม่ กลุ่มสัมผัสปานกลางและกลุ่มสัมผัสน้อย และ 3.การให้ความรู้และการป้องกัน มีการแจกหน้ากากอนามัยตามปริมาณการสัมผัสฝุ่นควันและออกรณรงค์ให้ความรู้

วอร์รูมได้จัดโซนนิ่งเพื่อวางมาตรการในพื้นที่ แบ่งเป็น 3 โซน โดยการใช้ค่าที่มีการตรวจปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นเกณฑ์ ได้แก่ โซนสีแดง มีปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มากกว่า 5 ppm ระยะห่างจากบ่อขยะ 300-500 เมตร ต้องย้ายออกจากพื้นที่ โซนสีเหลือง ปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2-5 ppm ระยะ 1 กิโลเมตรจากบ่อขยะ แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงหญิงท้อง เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หัวใจ ควรย้ายออกจากพื้นที่ และโซนสีเขียว ระยะห่างจากบ่อขยะมากกว่า 1 กิโลเมตร พิจารณาตามความเหมาะสม


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view