สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

2หมื่นล้าน จ่ายหนี้ชาวนา ราชการโยนวุ่น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ธ.ก.ส.เคว้ง งบกลาง2หมื่นล.บาทยังไม่ถึงมือ เผยพาณิชย์ยื้อเซ็นตั้งเรื่องขอคลังใช้เงินทดรองจ่าย หน่วยงานรัฐโยนวุ่น

การเบิกจ่ายงบกลางกรณีฉุกเฉิน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในการใช้หนี้ชาวนาโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ยังเต็มไปด้วยความสับสนในการเบิกเงินก้อนนี้ หลังจากหน่วยงานราชการพยายามปฏิเสธในการเป็นเจ้าภาพเบิกจ่าย

แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติให้รัฐบาลใช้งบกลาง มาจ่ายหนี้ค่าข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลยืนยันสามารถเบิกงบกลางและจ่ายหนี้ให้ชาวนาได้ภายในวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า จนถึงขณะนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ยังไม่ได้รับเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท

สาเหตุมาจากกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นต้นเรื่อง ที่จะขอใช้เงินทดรองจ่ายจากงบกลาง ยังไม่ได้มาทำข้อตกลงกับกรมบัญชีกลาง เนื่องจากในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าราชการจากกรมการค้าต่างประเทศ ได้สอบถามในที่ประชุมว่า หากกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถจัดหาเงินจากการระบายข้าวมาชำระคืนได้ทันภายในวันที่ 31 พ.ค. นี้ จะต้องรับผิดชอบหรือมีความผิดหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของข้าราชการ แต่ไม่มีคำตอบจากกระทรวงการคลัง ทำให้ยังไม่มีการเซ็นตั้งเรื่องขอใช้งบกลางดังกล่าวมาที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งส่งผลไปถึง ธ.ก.ส.ในฐานะที่ต้องนำเงินไปจ่ายให้ชาวนาตามใบประทวน เพราะยังไม่มีเงินเข้ามา โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินจากงบกลางจำนวน 712 ล้านบาท ที่ กกต.อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ให้แก่ชาวนาใน 5 จังหวัดเท่านั้น

คลังชี้พาณิชย์ผวาหาเงินคืนไม่ทัน

"เจ้าหน้าที่จากกรมการค้าต่างประเทศ ได้สอบถามถึงความรับผิดชอบ หากหาเงินระบายข้าวมาคืนกระทรวงการคลังภายในสิ้นเดือนพ.ค.ไม่ทัน แต่ไม่มีใครให้คำตอบ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่กล้าตั้งเรื่องขอใช้งบกลางมาที่กรมบัญชีกลาง แต่รัฐมนตรีประกาศไปแล้วว่า ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินภายในวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ธ.ก.ส.เดือดร้อนทันที เพราะชาวนาก็รอคอยเงินนี้อยู่"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จนถึงวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2556/2557 พบว่า มีปริมาณข้าวที่เข้าโครงการทั้งสิ้น 11.6 ล้านตัน วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท จำนวนเกษตรกร 1.5 ล้านราย ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้ชาวนาไปแล้วถึงวันที่ 10 มี.ค. จำนวน 7.1 หมื่นล้านบาท เกษตรกร 5.7 แสนราย ปริมาณข้าว 4.3 ล้านตัน ดังนั้นจึงเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินอีก 9.4 แสนราย ปริมาณข้าว 7.2 ล้านตัน วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หาก ธ.ก.ส.ได้รับเงินจากงบกลาง 2 หมื่นล้านบาทมาจ่ายให้ชาวนา เฉลี่ยรายละ 1.2 แสนบาท คาดว่าจะมีชาวนาที่ได้รับเงินเพียง 2 แสนรายจากทั้งหมด 9 แสนรายที่ยังไม่ได้รับเงินตามโครงการรับจำนำ

"กรมการค้าต่างประเทศ" ระบุแค่ตัวประสาน

ขณะที่ นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ มีหน้าที่ในการประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำงบประมาณกลางกรณีฉุกเฉิน 20,000 ล้านบาท มาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2556/57

ทั้งนี้ กรมมั่นใจว่าจะสามารถนำเงินที่ได้จากการระบายข้าว ส่งมอบให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้หนี้ในส่วนนี้ได้ทันกำหนดเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดภายใน 31 พ.ค. นี้

“ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการ เพื่อนำเงินออกมาจ่ายคืนให้ชาวนา ซึ่งกรมฯก็ทำหน้าที่ประสานงานด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าผมไม่เซ็นแล้ว เอาเงินออกมาไม่ได้ ไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราก็ประสานงานอยู่ในส่วนของเรา และมั่นใจว่าจะหาเงินมาคืนได้ทันตามกำหนดสิ้นเดือนพ.ค.นี้แน่นอน” นายสุรศักดิ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า งบกลางกรณีฉุกเฉินดังกล่าว รัฐบาลได้ทำการกู้โดยมีเงื่อนไขตามที่กกต.กำหนดคือให้นำเงินที่ได้จากการขายข้าวส่งคืนให้กระทรวงการคลังให้ครบจำนวน 20,000 ล้านบาท ภายใน 31 พ.ค. ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการระบายข้าวของรัฐบาลต้องร่วมลงนาม เพื่อยืนยันว่าจะสามารถชำระคืนได้ตามเงื่อนไข โดยคณะอนุกรรมการระบายข้าวได้ระบุให้กรมการค้าต่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบหน่วยงานเดียว ในการรวบรวมเงินจากการระบายข้าวทั้งหมด ในทุกรูปแบบ เพื่อส่งคืนให้กระทรวงการคลัง ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ ที่หน่วยงานใดเป็นผู้ทำสัญญาซื้อข้าวจากรัฐ ก็จะเป็นผู้ส่งมอบ เช่น องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)

กรมบัญชีกลางรอตั้งเรื่องเบิกให้ชาวนา

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กระทรวงการคลังและกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมเซ็นอนุมัติเงินทดรองจ่าย 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากหนังสืออย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งไปถึงเลขาธิการครม.เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการ จากเลขาธิการครม. อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานได้รับภาพถ่ายเอกสารมติกกต.หมดแล้ว

นายมนัส กล่าวว่า ได้ประชุมกับเจ้าหน้าที่จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มา 2-3 ครั้งแล้ว และทุกคนต่างยืนยันว่าพร้อมจะลงนามในเอกสาร การจ่ายเงินให้ชาวนาและการคืนเงินให้ กกต.ภายในเวลากำหนด 31 พ.ค.นี้

ส่วนผู้มีอำนาจลงนามเบิกทดลองจ่ายงบกลาง คือ อธิบดีกรมบัญชีกลาง หรือ รองอธิบดี หรือรองปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกับผู้มีอำนาจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเขาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่ไม่กล้าเซ็นเอกสารอนุมัติเงินงบกลางทดรองจ่ายให้ชาวนา

ทั้งนี้อธิบดีกรมบัญชีกลางให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า กรมบัญชีกลางพร้อมอนุมัติเงินทดรองจ่าย แต่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ต้องเป็นผู้ตั้งเรื่อง เพื่อขอเบิกมา เพราะว่ากรมบัญชีกลางไม่ใช่เจ้าของเรื่อง

เลขาฯครม.ชี้กกต.ส่งมติให้หน่วยงานตรง

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อขอเบิกงบกลางฯ วงเงิน 20,000 ล้านบาท มาจ่ายให้แก่ชาวนา ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งความเห็นในการดำเนินการเรื่องนี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยตรง โดยไม่ได้ส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขั้นตอนปฏิบัติต่อไป จึงอยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าในขั้นตอนการเบิกเงินส่วนนี้ ใครจะต้องเป็นผู้ลงนามในเอกสารบ้าง นายอำพน ตอบว่า ก็เป็นไปตามขั้นตอนปฏิบัติที่ได้ระบุไว้ของแต่ละหน่วยงาน

เมื่อถามว่าในการลงนามเอกสาร เพื่อขอเบิกงบกลางในทางปฏิบัติ จะต้องเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง นายอำพน กล่าวว่า ก็ต้องไปดูรายละเอียด ตนไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้แต่อย่างใด

"ยรรยง"เผยชาวนาต้องรออีก 10 วัน

นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อยู่ในระหว่างทำงานร่วมกัน เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายให้กับชาวนาตามระบบ ของ ธ.ก.ส. คาดว่าในระยะเวลาภายใน 10 วัน ธ.ก.ส.จะสามารถจ่ายเงินจำนวนนี้ให้กับชาวนาได้ตามขั้นตอนและตามลำดับก่อนหลังของใบประทวนที่ชาวนาได้รับ

สำหรับเงื่อนไขที่ กกต. กำหนดว่าให้มีการคืนงบกลางฯจำนวน 2 หมื่นล้านบาทให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค. 2557 นั้น ตนเชื่อว่ารัฐบาลจะคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เพราะขณะนี้การระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินไปด้วยดี เห็นได้จากการเข้ามาประมูลที่มีความสนใจเป็นจำนวนมาก คาดว่าในเดือน มี.ค. นี้ จะระบายข้าวได้มากกว่า 1 ล้านตัน และจะได้เงินเข้ามาอีกประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเดิมที่คาดการณ์ว่าจะระบายข้าวได้เงินประมาณ 8 พันล้านบาทต่อเดือน

"การระบายข้าวที่มีแนวโน้มที่ดีประกอบกับการทำงานของกระทรวงการคลังในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะสามารถหาเงินมาจ่ายหนี้ให้กับชาวนาได้ครบถ้วนก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ที่ผ่านมาจ่ายเงินก็หมุนมาตลอดระหว่างเงินขายข้าว และเงินกู้ เพียงแต่ติดขัดเรื่องหาเงินกู้ทำให้เงินขาดมือ ขณะที่งบกลางก็ค่อยๆ ทยอย ส่วนการคืนเงิน 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 31 พ.ค. ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร” นายยรรยง กล่าว

เผยยอดฝาก-บริจาค 698 ล้าน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รายงานว่า ยอดบริจาคและรับฝากเงินสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนาจนถึงวันที่ 11 มี.ค. 2557 มียอดรวมทั้งสิ้น 698.23 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น บริจาคเข้ากองทุนที่ 1 (แบบไม่ประสงค์รับเงินคืน) จำนวน 18.09 ล้านบาท ส่วนยอดเงินสมทบเข้ากองทุนแบบที่ 2 (แบบประสงค์รับเงินคืน แต่ไม่รับผลตอบแทน) อยู่ที่ 510.48 ล้านบาท ขณะที่ยอดเงินสมทบเข้ากองทุนที่ 3 (แบบประสงค์รับเงินคืนและรับผลตอบแทน) มีจำนวน 169.66 ล้านบาท

ฟิลิปปินส์เล็งนำเข้าข้าว 8 แสนตันปีนี้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเกษตรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีแผนที่จะนำเข้าข้าว 800,000 ตัน ในปีนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในสต็อกและดึงราคาข้าวในประเทศให้ลดลง

นายดันเต เดมิลา ปลัดกระทรวงเกษตร กล่าวว่า เจ้าหน้าที่หลายคนเห็นว่าการนำเข้าข้าวในปริมาณดังกล่าว ถือว่ามีความสำคัญในการสร้างเสถียรภาพราคา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

สต็อกข้าวโดยรวมของฟิลิปปินส์ลดลงเหลือระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน เมื่อเดือนก.พ. ขณะที่ราคาข้าวปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันแล้ว ทั้งที่สำนักงานอาหารซื้อข้าว 500,000 ตัน จากเวียดนาม ในการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว

การซื้อข้าวจากฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก อาจช่วยหนุนราคาข้าวที่ลดลงในเอเชีย โดยทั้งเวียดนามและไทย มีแนวโน้มจะยื่นประมูลกันอย่างหนักเพื่อให้ได้ข้อตกลง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view