สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

FAO เตือนโลกจะเกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอาหาร ชี้ เอเชีย-แปซิฟิก สุดเสี่ยงเผชิญภาวะความไม่มั่นคง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกโรงเตือนในวันจันทร์ (10) โดยระบุว่าโลกจะต้องเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารอีกราว 60 เปอร์เซ็นต์จากระดับปัจจุบัน ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตขาดแคลนอาหารที่อาจนำไปสู่ปัญหาความไม่สงบทางสังคม รวมถึงการเกิด “สงครามกลางเมือง” เพื่อแย่งชิงอาหารประทังชีวิต ชี้ภูมิภาค “เอเชีย-แปซิฟิก” สุดเสี่ยงเผชิญภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร
       
       ฮิโรยูกิ โคนูมะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เผยระหว่างเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารที่กรุง อูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย โดยระบุว่าโลกจะต้องเผชิญกับความต้องการอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดหลายทศวรรษจากนี้ซึ่งประชากรโลกส่อเค้าจะเพิ่มจำนวนทะลุระดับ “9 พันล้านคน”
       
       อย่างไรก็ดี โคนูมะระบุว่า แม้ความต้องการด้านอาหารจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกกลับมีการใช้จ่ายที่ลดลงอย่างสำคัญในด้านการวิจัยทางการเกษตร ซึ่งส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากตั้งคำถามว่า ปริมาณการผลิตอาหารของโลกจะเพียงพอต่อความต้องการอาหารของประชากรโลกที่ เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไร
       
       “ถ้าเราล้มเหลวต่อเป้าหมายในการเพิ่มการผลิตอาหาร เราจะต้องเผชิญกับการขาดแคลน และความเสี่ยงอันสูงยิ่งต่อการเกิดความไม่สงบทางสังคม ปัญหาทางการเมือง รวมถึงสงครามกลางเมืองและการก่อการร้าย” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่เอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกล่าว
       
       ข้อมูลล่าสุดของเอฟเอโอระบุว่า โดยภาพรวมแล้วทั่วโลกจะต้องเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารอีกราว 60 เปอร์เซ็นต์จากระดับปัจจุบัน ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตขาดแคลนอาหาร
       
       แต่สำหรับ “ประเทศกำลังพัฒนา” แล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางเพิ่มผลผลิตอาหารให้ได้ถึงราว “77 เปอร์เซ็นต์” ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร”
       
       ทั้งนี้ เอฟเอโอระบุว่า ขณะนี้โลกของเรามีประชากรกว่า 842 ล้านคนที่ต้องประสบภาวะขาดแคลนอาหาร และมีภาวะด้านโภชนาการที่ไม่เหมาะสม โดยราว 2 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view