สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โอฬาร พิทักษ์ จี้ชาวนา พลิกวิกฤตภัยแล้ง ลดต้นทุนผลิตข้าว

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์

สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเกษตรทั่วประเทศ ล่าสุดรัฐบาลได้ประชุมเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดสรรน้ำกินน้ำใช้ที่เหลืออยู่ เพื่อรับมือฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง วันนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงแนวทางช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้กับเกษตรกร ดังนี้



- สถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้

ตามปกติเกษตรกรต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มาใช้ในการอุปโภค-บริโภคแต่เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำน้อย กรมส่งเสริมฯจึงวางแผนร่วมกับกรมชลประทาน ในการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนทั้ง 2 แห่งให้สามารถนำน้ำไปใช้ เพื่อประโยชน์ได้หลายทาง นอกเหนือจากการอุปโภค-บริโภค เช่น ใช้ในการรักษาระบบนิเวศ ไม่ใช่เพื่อการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากปีนี้น้ำน้อย ทำให้ต้องปรับแผนลดการปลูกข้าวนาปรังไม่ถึง 5 ล้านไร่ในปีนี้ และต้องงดการทำนาปรังรอบสอง เนื่องจากมีเกษตรกรปลูกไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่ เกินเป้าหมายขึ้นมาเกือบเท่าตัว ขณะที่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 80% ที่เหลือเก็บกักไว้ใช้ช่วงหลังเดือนมี.ค.-เม.ย.เนื่องจากทางกรมชลฯได้ประกาศไม่เปิดน้ำเพื่อการเกษตรอีกในช่วงดังกล่าว

- กรมส่งเสริมฯจะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไรบ้าง

ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 57 ได้ข้อสรุปร่วมกันทุกจังหวัดว่า จากนี้ไปเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งจะต้องไม่มีการปลูกนาปรังรอบสอง ประเด็นถัดมา พี่น้องเกษตรกรได้ทำนาปีและนาปรังไปแล้วอย่างละรอบ และการทำนา 2 ครั้งเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่การปลูกข้าวของไทยเริ่มมีปัญหา"ต้นทุน" แพงกว่าต่างประเทศ เพราะเกษตรกรปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปัญหาเรื่อง "ศัตรูพืช" ซึ่งต้องใช้สารเคมีในการกำจัด และจำเป็นต้องใช้ "ปุ๋ย" ในปริมาณมาก สิ่งที่อยากส่งเสริมช่วงนี้ คือให้ "พักนา" การปลูกพืชบำรุงดิน เริ่มในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ราว 45 วัน ก่อนกลับเข้าสู่ฤดูการปลูกข้าวอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้เริ่มต้นฤดูฝน จะทำให้มีปุ๋ยในดินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องราคาข้าว ซึ่งการพักทำนาจะทำให้พี่น้องเกษตรกรไม่เสียหาย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันปลูกข้าวในรอบใหม่ในราคาต้นทุนดี ได้ข้าวคุณภาพ

- แผนการจัดการน้ำที่มีอยู่น้อย

ในปีนี้ทางกรมชลฯมีแผนชัดเจนในการจัดการน้ำว่าจะส่งไปตำบลไหนหมู่ไหน คลองไหนไปที่ใด และน้ำในรอบนี้จะไม่มีไปยังพื้นที่ไหนบ้าง ดังนั้น คงไม่มีเหตุการณ์ที่เกษตรกรทำการปลูกไปแล้วมาขอรับการเยียวยาช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่การเกษตร อันเกิดจากปัญหาภัยแล้ง โดยขอวิงวอนว่าช่วงนี้อย่าปลูกเลย ในส่วนของกรมส่งเสริมฯเองได้ถ่ายภาพทางอากาศทุก 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจดูว่ามีการปลูกข้าวในพื้นที่บริเวณใดบ้าง อย่างภัยแล้งนี้ ถ้าปลูกในที่ห้ามปลูก จะส่งเจ้าหน้าที่จากกรมเข้าไปคุยด้วย โดยจะช่วยหาทางออกให้ พร้อมแจ้งว่าพื้นที่ใดไม่มีน้ำ จึงขอให้พี่น้องเกษตรกรให้ความร่วมมือ

นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการประสานงานช่วยเหลือเกษตรกร จัดสัมมนาร่วมกรมชลประทาน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น พืชคลุมดิน และส่งต่อนโยบายไปยังจังหวัดในการจัดทำเป็นแผน ภายใต้งบประมาณราว 45 ล้านบาท และมีการคุยกับกรมพัฒนาที่ดินอย่างชัดเจน ในกรณีที่เกษตรกรอยากปลูกพืชบำรุงดิน ให้ประสานกับศูนย์พัฒนาที่ดินได้เลย ซึ่งปัญหาภัยแล้งนี้ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว หากพี่น้องเกษตรกรได้รับความรู้ และทำตามที่เจ้าหน้าที่บอก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags :

view