สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวสวนยางทวงเงินช่วยเหลือ4.2พันล้าน

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวสวนยาง เร่งรัฐบาลติดตามเงินช่วยเหลือเกษตรกร มูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท พร้อมเตรียมชุมนุมใหญ่หากรัฐไม่ตอบ

นายธีรพงษ์ ตันติเพชราภรณ์ รองประธานคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (คชยท.)เปิดเผยว่า  ที่ประชุมมีมติ  เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ 3ข้อคือ 1.ให้รัฐบาลเร่งจ่ายเงิน  เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในรูปแบบของเงินสนับสนุนปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,520 บาท ภายในวงเงิน 21,248.95 ล้านบาท ในขณะนี้ ได้มีการจ่ายให้แก่เกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 งวด รวมเป็นเงินประมาณ 16,000 ล้านบาท ดังนั้น ยังคงมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือประมาณกว่า 110,000 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงินกว่า 4,200 ล้าน ตามนโยบายมาตรการความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงราคายางตกต่ำในปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลได้จัดให้มีโครงการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 บาท  สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินโดยส่วนมากเป็นเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้  โดยโครงการจะหมดเขตในวันที่ 31 มีนาคม นี้ 

ทั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยดำเนินการให้ความช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่คงค้างให้เร็วที่สุด เพราะนอกจากปัจจุบันยังต้องขายยางได้ราคาต่ำแล้ว เกษตรกรยังมีความจำเป็นและต้องการที่จะนำเงินจำนวนนี้เพื่อไปบำรุงและปรับปรุงสวนยางของตน และบางส่วนก็จะนำไปทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย อีกทั้ง ช่วงนี้ยังเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ เกษตรกรส่วนใหญ่จึงไม่ได้ทำการกรีดยาง เมื่อไม่มีผลผลิต รายได้ก็ขาดหายไปเช่นกัน  และเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

2.ส่วนเรื่องของราคายางที่ยังผันผวนอยู่ ทางคณะกรรมการเครือข่ายฯ ก็ได้มีการหารือกันและเชื่อว่าสถานการณ์ราคายางคงจะยังไม่ดีขึ้นไปกว่านี้ เพราะพิจารณาจากสต๊อกยางของไทยในโครงการที่ทางรัฐบาลได้แทรกแซงไว้มีอยู่อีกประมาณ 200,000 กว่าตัน และยังมีสต๊อกยางที่อยู่กับพ่อค้าและโรงงานต่างๆ อีกประมาณ 300,000 ตัน เมื่อรวมแล้ว สต๊อกยางของไทยจะมีอยู่ที่ประมาณ 500,000 ตัน ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีปริมาณเยอะ  และเมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างประเทศพบว่า ประเทศจีนก็มีสต๊อกยางอยู่ประมาณ 200,000 ตันเช่นกัน ดังนั้น เมื่อนำสต๊อกยางทั้งหมดมารวมกันจะเห็นว่าราคายางในปีพ.ศ. 2557 จึงไม่น่าที่จะดีนัก คาดกันว่าทำให้ราคายางเหลือไม่ถึง 70 บาท/กิโลกรัม และคาดว่าราคายางในปีพ.ศ. 2558 อาจจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะในพื้นที่ที่มีการปลูกยางทั้งในและต่างประเทศก็เริ่มที่จะมีผลผลิตมากขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ยาง ซึ่งปริมาณการใช้ยางจะอยู่ที่ 11 ล้านตัน แต่ผลผลิตที่คาดการณ์รวมกันอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านตัน จะเห็นได้ว่า จากปริมาณความต้องการ การใช้ยาง ทำให้ราคายางพาราจึงไม่น่าที่จะสูงขึ้นกว่าเดิมมากนัก

3.คชยท. การขอใช้โรงงานยางแท่ง STR 20 ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณและสร้างไว้ที่จังหวัดอุดรธานี ศรีสะเกษ และนครพนม ซึ่งขณะนี้องค์การสวนยางเป็นหน่วยงานผู้ดูแล โดยทางเครือข่ายฯ เล็งเห็นว่า มีองค์กร และสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพที่จะเข้าไปบริหารจัดการและดำเนินงานภายในโรงงานดังกล่าวได้ จึงอยากขอร้องให้ทางรัฐบาลให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนทางเครือข่ายฯ ได้เข้าไปบริหารจัดการและดำเนินการแปรรูปยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริงต่อไป

ทั้งนี้ คชยท.ระบุว่า   เกษตรกรชาวสวนยางกำลังติดตามและรอดูการดำเนินงานของโครงการที่รัฐบาลได้พิจารณาไว้ ดังนั้น หากไม่เป็นไปตามกำหนด จำเป็นอย่างยิ่งที่อาจจะต้องมีการรวมตัวเพื่อขอความเป็นธรรมจาก 16 จังหวัดภาคีเครือข่ายชาวสวนยาง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทวงถามด้วยการยื่นหนังสือไปแล้วเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าตอบกลับแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังได้มีการทำหนังสือเพื่อยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงเกษตรฯและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ ฯลฯ เพราะต้องการให้รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาที่เกษตรกรได้รับ และควรเร่งช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view