สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จับตาแอลพีจีครัวเรือนพุ่ง

จาก โพสต์ทูเดย์

ผู้ใช้แอลพีจีครัวเรือนรับสภาพ 1 มี.ค. ขยับอีก 50 สต. สูง กว่าภาคขนส่ง รัฐเกาะติดหวั่นใช้ผิดประเภท

นายสมนึก บำรุงสาลี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มี.ค. ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนจะปรับขึ้นราคาอีก 50 สต.ต่อ กก. ถือเป็นครั้งที่ 7 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ได้กำหนดไว้ให้ปรับขึ้นทุกเดือน เดือนละ 50 สต.ต่อ กก. ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2556 ส่งผลให้ขณะนี้ราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนอยู่ที่ 21.63 บาทต่อ กก. สูงกว่าราคาแอลพีจีภาคขนส่งที่ยังไม่สามารถขึ้นราคาได้ โดยอยู่ที่ 21.38 บาทต่อ กก. เนื่องจากอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ

ทั้งนี้ แม้ส่วนต่างของราคาแอลพีจีครัวเรือนและภาคขนส่งที่เกิดขึ้นยังไม่มากนัก แต่กรมให้ความสำคัญกับเรื่องการลักลอบใช้ผิดประเภท โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่และพลังงานจังหวัดติดตามปริมาณการใช้ การจำหน่าย และการขนส่งแอลพีจี โดยเฉพาะจากโรงบรรจุก๊าซฯ ไปยังปลายทางถูกต้องตามที่ได้แจ้งไว้หรือไม่

สำหรับโครงการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาแอลพีจีครัวเรือน โดยเปิดโอกาสให้สามารถซื้อแอลพีจีในราคาเดิม 18.13 บาทต่อ กก.ได้นั้น ล่าสุดมียอดผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนแล้ว 1.84 แสนราย แยกเป็นกลุ่มหาบเร่ แผงลอย 1.1 แสนราย ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าฟรี โดยใช้สิทธิผ่านเอสเอ็มเอส 6.06 แสนครั้ง คิดเป็นจำนวนเงินที่ภาครัฐได้ช่วยเหลือไป 24.5 ล้านบาท โดยเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีจำนวนผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิมากขึ้น

นายสมนึก กล่าวถึงสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ม.ค. 2557 ว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเดือน ม.ค. 2557 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2556 เพียงเล็กน้อย โดยดีเซลยอดใช้อยู่ที่ 58.3 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 0.7% เทียบกับเดือน ธ.ค. 2556 ยกเว้นกลุ่มเบนซินมียอดใช้อยู่ที่ 21.3 ล้านลิตร ลดลงไปเฉลี่ย 6% จากเดือน ธ.ค. 2556 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลง เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในเขต กทม.และปริมณฑล

ด้านการใช้แอลพีจีในเดือน ม.ค. 2557 อยู่ที่ 6.47 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับเดือน ธ.ค. 2556 ภาคครัวเรือน 2.1 แสนตัน เพิ่มขึ้น 4.1% ภาคขนส่ง 1.53 แสนตัน ลดลง 2.7% ภาคอุตสาหกรรม 4.9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 6.6% และภาคปิโตรเคมี 2.34 แสนตัน เพิ่มขึ้น 0.3% ในขณะที่นำเข้าแอลพีจีเดือน ม.ค. 2557 อยู่ที่ 1.8 แสนตัน เพิ่มขึ้น 9% จากเดือน ธ.ค. 2556 โดยรัฐต้องจ่ายเงินชดเชย 4,707 ล้านบาท


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view