สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดิ้นขายข้าว ดึงงบกลาง กู้ผิดกฎหมาย ใช้หนี้ชาวนา

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แผนล้วงเงินเด็กถูกเปิดโปง จะหันมาล้วงเงินข้าราชการก็เจอศอกกลับ จะกู้จากรัฐวิสาหกิจยังไม่แน่ว่าจะมีพวกหมูไม่กลัวน้ำร้อนกล้าร่วมทำผิดด้วย กี่ราย หันซ้ายหันขวาเกิดปิ๊งไอเดียดึงงบกลางมาใช้หนี้จำนำข้าวแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนดีกว่า แต่อย่างไรเสียก็ต้องลุ้นตัวโก่งว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเอาด้วยหรือไม่ ส่วนเป้าหมายจะขายขายข้าวในสต็อกเดือนละหมื่นล้าน ก็ต้องลุ้นเช่นกันว่าจะทำได้อย่างที่โม้หรือไม่ เพราะถ้ามีฝีมือจริงป่านฉะนี้ก็ไม่ต้องวิ่งวุ่นหาเงินกันจ้าละหวั่น
       
       ถึงนาทีนี้ ต้องบอกว่าโครงการจำนำข้าวยังออกจากกับดักมรณะไม่ได้ เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะหันไปใช้วิธีการใดหาเงินมาจ่ายหนี้จำนำข้าวก็ดูตีบตันไป เสียหมด จนกระทั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องหลบลี้หนีหน้าชาวนา
       
       ขณะที่บรรดาลิ่วล้อที่ปากกล้า ขาสั่น ก็หดหัวไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “โต้ง ไวท์ไลน์” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง ที่เคยเจอชาวนาปารองเท้า ขวดน้ำ โห่ไล่ ไม่ต่างกับอดีตรมช.พาณิชย์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งวันนี้รูดซิบปากสนิท ไม่กล้าโผล่หน้ารับอาสามาเคลียร์ปัญหา
       
       กระบวนการแก้ผ้าเอาหน้ารอดหาเงินมาใช้หนี้จำนำข้าว ที่เริ่มต้นจากการประชุมของ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนจะหาแหล่งเงินที่ไหนมาจ่ายหนี้ชาวนา มีเพียงทางเลือกเดียวที่ให้กระทรวงพาณิชย์ไปเร่งขายข้าวให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาใช้หนี้และเป็นทุนหมุนเวียน
       
       กล่าวสำหรับการประชุมบอร์ดของธ.ก.ส. นอกจากจะไม่มีหนทางออกจากปัญหาเขาวงกตนี้แล้ว ยังมีข่าวลือหนาหูก่อนการประชุมด้วยว่าจะมีรายการเชือดบิ๊กบอส ธ.ก.ส. เซ่นโครงการรับจำนำข้าวเป็นรายที่สองต่อจากบิ๊กออมสินที่ไขก๊อกไปแล้ว โทษฐานที่ไม่สนองนโยบายรัฐบาล
       
       อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. จะยังเหนียว เพราะได้แรงหนุนจากพนักงานทั่วประเทศที่ตบเท้าออกมาให้กำลังใจอย่างล้นหลาม ผิดกับนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่พนักงานรวมกันขับไล่โทษฐานที่ยอมให้รัฐบาลเข้ามาล้วงเงินเด็กกับคนแก่
       
       ส่วนการประชุมของ กขช. นั้น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คนที่นายใหญ่กับนายหญิงภูมิใจเสนอนั้น ระดมไอเดียกระฉูดสุดๆ ได้แค่มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ เสนอของบกลางต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2557 วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้าน เพื่อมาช่วยชาวนาก่อน ซึ่งคณะรัฐมนตรีรักษาการที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ นั่งหัวโต๊ะ ในวันถัดมา ก็ตกลงตามนั้น แต่ก็ต้องฝ่าด่านนำเสนอต่อ กกต. พิจารณาก่อนว่าจะไฟเขียวหรือไม่
       
       เรื่องนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ออกมาให้คำแนะนำส่วนตัวให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจน ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1) รายละเอียดสัดส่วนงบกลางฉุกเฉินของ ปี 2557 ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 72,000 ล้านบาท ว่ามีการกำหนดไว้ใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง เนื่องจากในงบกลางดังกล่าวนั้น เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะพิจารณาอนุมัติได้ และขอให้ชี้แจงว่า การขอยืมงบกลางมาหมุนเวียนครั้งนี้ จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ( 3 ) หรือไม่ อย่างไร 2) ข้อมูลในการขายข้าวของปี 2557 ทั้งหมด และ 3) รายละเอียดว่าการอนุมัติงบประมาณครั้งนี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(4) มีผลได้เปรียบเสียเปรียบต่อการเลือกตั้ง ส่งผลให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่
       
       อย่างไรก็ตาม นายนิวัตน์ธำรง ก็ยังไม่วายวาดฝันว่า ระหว่างที่รอเงินก้อนที่ กกต. พิจารณาอยู่นั้น กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งระบายข้าวเพื่อนำเงินส่งคืนกระทรวงการคลัง ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 8,000 บาท และกระทรวงการคลัง จะได้นำเงินก้อนนี้ไปให้ ธ.ก.ส. แบงก์ที่เป็นกลไกในการบริหารจัดการโครงการรับจำนำข้าว ใช้เป็นทุนหมุนเวียนจ่ายเงินให้กับชาวนา โดยเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สามารถระบายได้ 1 ล้านตัน และคาดว่าเดือนก.พ.นี้ก็จะได้ในปริมาณเท่ากัน
       
       "รัฐบาลยังคงมีสต็อกข้าวอีก 12-13 ล้านตัน โดยจะเร่งระบายข้าวให้ได้เดือนละ 1 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 10,000 ล้านบาทต่อเดือน"
       
       สำหรับแผนการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลนั้น ในช่วงปลายเดือนก.พ.-ต้นเดือนมี.ค. 2557 คาดว่าจะระบายข้าวออกจากสต็อกรัฐบาลได้อีก 8 แสนตัน แบ่งเป็นการเปิดประมูลทั่วไป 3 แสนตัน เพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออกให้กับกลุ่มผู้ประกอบโรงสีที่ยื่นความต้อง การเสนอซื้อข้าวสารสต็อกรัฐบาล อีก 3 แสนตัน จะระบายให้กับผู้ประกอบการที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากในประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและจัดทีโออาร์ และอีก 2 แสนตัน เป็นการระบายข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟท)
       
       ที่ต้องจับตาในการระบายข้าวครั้งนี้ก็คือ คำโวของนายนิวัฒน์ธำรง ที่ว่า นายหนิงฟู่ขุย เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ พร้อมแสดงเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือชาวนาไทย โดยจีนจะสั่งซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลไทยจะไปจัดเตรียมรายละเอียดการซื้อขายแบบจีทูจี (รัฐต่อรัฐ) ภายใน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งยอมรับว่าการซื้อขายครั้งนี้ แม้เปลี่ยนรัฐบาลจะไม่มีปัญหา และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องส่งให้ กกต.พิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลตกลงซื้อขายเอง
       
       แผนการระบายข้าวที่ฟังแล้วเคลิ้มข้างต้น ถูกตั้งคำถามจากจอมแฉ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอความชัดเจนว่าจะขายได้จริงหรือว่าเป็นการปั่นกระแสหลอกชาวนาซื้อเวลาไป เท่านั้น จะขายให้ใคร ขายในราคาเท่าไหร่ ส่งมอบเมื่อไหร่ เพราะที่นายนิวัฒน์บุญทรง บอกว่าจะขายในราคากก.ละ 10 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ประมาณกก.ละ 28 บาท นั้นถือว่าเป็นราคาที่ต่ำมาก
       
       ที่สำคัญก็คือ การรับปากว่าจะจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาในสัปดาห์นี้ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี บอกกับชาวนา แต่กลับมีการส่งสัญญาณจากนายนิวัฒน์ธำรง ที่ออกมายอมรับคงจ่ายให้ไม่ทัน จริๆ แล้วชาวนาจะได้เงินเมื่อไหร่กันแน่ หรือจะโดนหลอกเหมือนเดิม
       
       อาจกล่าวได้ว่า การเร่งระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงหนทางเดียวที่เหลืออยู่ เพราะการกู้เงินนั้นไม่ว่าจะดิ้นรนไปกู้ที่ไหน ด้วยวิธีการพลิกแพลงเช่นใด ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งล่าสุด แค่มีข่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมออกพันธบัตรกู้เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายหนี้ค่าข้าวให้แก่ชาวนา ก็มีเสียงปฏิเสธมาจากนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กบข.ทันควัน เพราะ กบข.ไม่สามารถปล่อยกู้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
       
       นอกจากนั้น เงินของสมาชิกที่เข้ามาในแต่ละเดือนต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้ ซึ่ง กบข.ก็ได้นำไปลงทุนผูกพันระยะยาวเต็มพอร์ตตามที่ชี้แจงก่อนหน้านี้ ซึ่งในการลงทุนแต่ละครั้ง กบข.จะมีเกณฑ์การตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาความเสี่ยงทุกด้านรวมทั้งด้าน กฎหมายด้วย
       
       เช่นเดียวกับกองทุนวายุภักษ์ ที่กำลังถูกบีบให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำเงินไปให้ ธ.ก.ส.จ่ายหนี้ชาวนา ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป มีเพียงการแบ่งรับแบ่งสู้เพราะไม่เหลือสภาพคล่อง แต่ถ้าต้องทำตามใบสั่งจริงคงต้องมีการเทขายหุ้นของปตท.และการบินไทย ป่วนตลาดหุ้นแน่
       
       ขณะที่การกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ โดยการเปิดประมูลซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน (พีเอ็น) เพื่อให้ ธ.ก.ส.นำเงินไปจ่ายในโครงการจำนำข้าวตามที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงผู้บริหารรัฐวิสาหกิจถึงหลักเกณฑ์และแนวทางการประมูล ตั๋วพีเอ็น วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 8 เดือน โดยกำหนดยื่นซองเสนออัตราดอกเบี้ยวันที่ 27 ก.พ. 2557 มีรายงานข่าวว่า มีรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง มายื่นซองตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เช่น การประปานครหลวง (กปน.) วงเงิน 1,000 ล้านบาท และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มีข่าวว่าบอร์ดเตรียมวงเงินให้กระทรวงการคลังกู้ 4 หมื่นล้านบาทก่อนหน้านี้
       
       เรื่องนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องการเชิญรัฐวิสาหกิจประมูลตั๋วพีเอ็นดัง กล่าว โดยระบุ 10 ข้อที่รองผู้อำนวยการ สบน.ต้องเตรียมคำตอบ เช่น การดำเนินการกรณีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงการเลือกตั้ง การดำเนินการมิได้เป็นไปตามครรลองปกติของการกู้ยืมเงินของกระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจที่เข้าประมูลไม่ได้ทำธุรกิจสถาบันการเงิน มีรายใดเชี่ยวชาญตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้เช่นเดียวกับ Primary Dealers หรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยที่จะตกเป็นภาระของรัฐเป็นอัตราที่ต่ำสุดตามสภาพตลาดหรือ ไม่
       
       อย่างไรก็ตาม เห็นบทเรียนกรณีธนาคารออมสินแล้ว บอกได้คำเดียวว่า ถ้าไม่ถูกบีบจนหน้าเขียว คงไม่มีหน่วยงานไหนอยากให้เกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นมาอีก
       
       ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาที่ยังติดตามทวงเงินจำนำ ข้าวไม่ลดละ ปรากฏว่า มีกลุ่มชาวนาในเครือข่ายพสกนิกรชาวนาไทย 32 จังหวัด ได้เตรียมยื่นฎีกาขอพึ่งพระบารมีในหลวงให้ความช่วยเหลือ เพราะไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือ กปปส. โดยจะเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักพระราชวัง วันที่ 27 ก.พ. 2557 เพื่อขอพึ่งพระบารมีในหลวง ให้ทรงช่วยเหลือชาวไทยที่กำลังเดือดร้อน
       
       เครือข่ายชาวนากลุ่มนี้ นำโดยนายภาณุพงศ์ ภัทรคนงาม ผู้ประสานงานเครือข่ายพสกนิกรชาวนาไทย เปิดเผยว่า การกราบบังคับทูลถวายฎีกาเนื่องจากรัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาและทำให้ปัญหา เรื้อรัง ขณะเดียวกัน ชาวนาไม่เชื่อว่ากลุ่ม กปปส.จะสามารถแก้ปัญหาโครงการจำนำข้าวให้ชาวนาได้จริง
       
       ชาวนากลุ่มนี้ ประกอบด้วย กลุ่มชาวนาที่มีใบประทวนและขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส.แล้ว แต่ยังไม่ถูกเรียกให้ไปทำสัญญา ซึ่งหากทำสัญญาแล้วจะได้เงินภายใน 3 วัน กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มชาวนาที่มีใบประทวนแต่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับ ธ.ก.ส. กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มชาวนาที่ได้เฉพาะใบชั่งน้ำหนักข้าวแต่ไม่ได้ใบประทวน ซึ่งการค้างจ่ายเงินมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้วนั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ชาวนาบางรายที่ทนแรงกดดันไม่ได้ ได้ฆ่าตัวตายไปแล้วถึง 11 ราย หากไม่แก้ไขปัญหาคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกกี่ราย
       
       ผู้ประสานงานเครือข่ายพสกนิกรชาวนาไทย ยังมีความเห็นว่า การที่รัฐบาลเร่งรีบขายข้าวเพื่อนำมาชำระหนี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อราคาข้าว ในอนาคต เพราะเป็นการขายข้าวที่ต่ำกว่าราคารับจำนำ และต่ำกว่าราคาในท้องตลาด การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลจะฉุดให้ราคาข้าวต่ำลง จนกระทั่งทำให้ชาวนาไทยไม่สามารถประกอบอาชีพชาวนาได้อีกต่อไป เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ที่ดินและไร่นาจำนวนมากจะถูกปล่อยให้ร้างและถูกเจ้าหนี้ยึดครอง
       
        ส่วนชาวนาอีกกลุ่มหนึ่งหวังพึ่งศาลปกครอง ซึ่งนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา และผู้บริโภคกว่า 64 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา
       
       คำฟ้องได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนหรือห้ามการดำเนินโครงการ รับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 78 (1) มาตรา 83 และมาตรา 84 พร้อมสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการที่ส่อไปในทางมิชอบ หรือทุจริตภายใน 30 วัน รวมทั้งพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดทำบัญชีเกษตรกรชาวนาและมูลค่า ข้าวที่รัฐบาลยังไม่ได้ชำระส่งต่อศาล พร้อมร่วมกันชดใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินเป็นค่าจำนำข้าวให้แก่ชาวนาทั่ว ประเทศที่นำข้าวมาจำนำข้าวกับรัฐบาลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา โดยระหว่างพิจารณาคดีขอให้ศาลฯกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ด้วยการสั่งระงับแผนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเป็นการชั่วคราวเพื่อ ป้องกันความเดือดร้อนเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศชาติโดยรวมไว้ก่อนด้วย
       
       ขณะที่การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มเครือข่ายชาวนาไทย ที่ปักหลักที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ได้เดินทางไปทวงถามความคืบหน้าเงินจำนำข้าวกับรัฐบาลที่ฐานทัพอากาศดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ไม่ได้รับคำตอบ แถมชาวนาคนหนึ่งยังได้รับบาดเจ็บถูกโล่ตำรวจกระแทกเข้าที่แก้มซ้ายจึงเดิน ทางกลับมาที่กระทรวงพาณิชย์เช่นเดิม และจะยังไม่เคลื่อนไหวใดๆ เพราะเกรงจะเผชิญหน้ากับกลุ่ม นปช. ที่ชุมนุมที่หน้าสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นวันที่ป.ป.ช.นัดหมายให้นางสาวยิ่งลักษณ์ มารับทราบข้อกล่าวหาในกรณีการบริหารราชการผิดพลาดและปล่อยให้มีการทุจริตใน โครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 27 ก.พ.2557 อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ส่งทีมทนายมารับทราบข้อกล่าวหาแทน
       
       เครือข่ายชาวนายังเชื่อรัฐบาลที่ส่งตัวแทนมาเจรจาให้กลุ่มเครือข่าย ชาวนาหยุดเคลื่อนไหว โดยรับปากว่าภายใน 3 วัน นับจากวันที่ 26 กพ.เป็นต้นไป จะทยอยจ่ายเงินในแต่ละจังหวัด หากไม่มีการจ่ายเงินจริง กลุ่มชาวนาจะเตรียมยกระดับการชุมนุมครั้งใหญ่อีกครั้ง
       คราวนี้ กลุ่มชาวนาจากภาคอีสาน นำโดย นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย ซึ่งไปร่วมประชุมหารือกับกลุ่มเกษตรกรชาวนาภาคอีสาน ที่บริเวณศูนย์สาธิตวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายสมัชชาเกษตรกรายย่อยนครราชสีมา บ้านสระตะหมก ตำบลละลมใหม่พัฒนา อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อวางแนวทางการเคลื่อนไหวกดดันทวงเงินที่รัฐบาลติดค้างค่าจำนำข้าว ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเดินทางไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มชาวนาภาคอื่นๆ ในกรุงเทพฯ โดยการเดินทางในลักษณะกองทัพมด ทั้งการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือเดินทางด้วยขบวนรถไฟฟรี เพื่อป้องกันถูกสกัดกั้น และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
       
       เหตุที่ชาวนาจากภาคอีสานขยับเข้าร่วมชุมนุม เพราะขณะนี้พี่น้องเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศถูกขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้เดินทาง เข้ากรุงเทพฯ ซึ่งวันนี้ชาวนากำลังอดตาย การชุมนุมครั้งนี้ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองฝ่ายใด แต่เป็นการทวงเงินที่เป็นสิทธิ์ของชาวนาเท่านั้น เมื่อชาวนาได้เงินแล้วก็จะกลับบ้านทันที จากนี้ไปชาวนาทุกพื้นที่จะทยอยเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อป้องกันใบ ประทวนขาดอายุความ หากรัฐบาลไม่จ่ายเงินก็จะฟ้องเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญา
       
       ปัญหาจำนำข้าวฤดูกาลนี้ ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ง่ายๆ แต่รักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่หมดสภาพไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้แล้ว ยังไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ แต่ก็อย่างว่า ถ้าฐานเสียงชาวนาพัง พรรคเพื่อไทยก็พังพินาศเช่นกัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags :

view