สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อปท.จวกนโยบาย จำนำข้าว ซ้ำเติมชาวนา ทำลายกลไกตลาด แนะปฏิรูปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       อปท.ชี้ ปัญหาเรื้อรังรุมเกษตรกรไทย ทั้งหนี้สิน-ระบบชลประทาน ยิ่งเพิ่มวงเงินกู้ ยิ่งก่อหนี้ ซัดนโยบาย “จำนำข้าว” ซ้ำเติมชาวนา ทำลายกลไกตลาดค้าข้าว แนะปฏิรูปเกษตรกรรมใช้พื้นที่ เป็นตัวตั้งสู่ “เกษตรกรรมยั่งยืน” ทางออกเกษตรกร เพิ่มคุณภาพชีวิต-สุขภาพดี

อปท.จวกนโยบาย “จำนำข้าว” ซ้ำเติมชาวนา ทำลายกลไกตลาด แนะปฏิรูปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน

        วันนี้ (23 ก.พ.) เกษตรกรเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แม่ข่ายทั่วประเทศ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิรูประบบเกษตรกรรมโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” โดย นายภาคภูมิ อินทร์แป้น แกนนำชุมชน ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กล่าวว่า  ปัญหาเรื้อรังที่ชาวนาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ หนี้สินโดยเฉพาะหนี้ในระบบ จากเดิมเมื่อ 4-5 ปีก่อน เป็นหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 50,000 บาท แต่ปัจจุบันเป็นหนี้ราวครัวเรือนละ 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ยิ่งสถาบันการเงินเพิ่มวงเงินกู้ให้เกษตรกรมากขึ้น ก็จะเป็นหนี้มากขึ้นด้วย เพราะส่วนใหญ่กู้เต็มเพดาน การเป็นหนี้สะสมส่วนใหญ่เกิดจากการไม่พึ่งตนเอง คือ ต้องการเร่งผลผลิต โดยซื้อยากำจัดวัชพืช หรือฮอร์โมนเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีคำโฆษณาว่าได้ผลผลิตสูง ทั้งๆ ที่เกษตรกรสามารถจัดการเมล็ดพันธุ์ และเพิ่มผลผลิตให้สูงได้ด้วยการปรับปรุงดิน เอาใจใส่ในการจัดการดูแล ไม่ต้องเสียเงินค่าต้นทุนเหล่านี้
       
        โครงการ รับจำนำข้าว ได้ทำลายตลาดข้าวและการค้าขายข้าวโดยสิ้นเชิง และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะส่งผลอย่างไรกับเกษตรกร ชาวนาจึงต้องหาทางเลือกใหม่ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดของของชาวนาคือ การทำเกษตรยั่งยืน/เกษตรพอเพียง ที่เน้นการพึ่งตนเอง ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย แม้ผลผลิตจะขายได้ในราคาไม่สูงแต่ต้นทุนต่ำ อย่างตนเองทำนาเกษตรอินทรีย์ มีผลผลิตเฉลี่ย 20 ตันต่อแปลงนา ขายได้ราคา 21 บาทต่อกิโลกรัม รวม 21,000 บาทต่อตัน สูงกว่าราคารับจำนำ 15,000 บาท ” นายภาคภูมิ กล่าว
       
        นายทวีป จูมั่น อดีต นายก อบต.หัวไผ่ จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ระบบการจัดการน้ำ แม้จะอยู่ในเขตชลประทาน แต่ก็มีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ ต้องประสบมาตลอด เนื่องจากการจัดระบบชลประทานไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่ การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควรใช้ ระบบชลประทานจากข้างล่าง ให้ระดับพื้นที่เป็นคนตัดสินใจในการเปิด-ปิดน้ำในระบบชลประทานของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้จริง ตรงเวลา และควบคุมให้มีการทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง
       
        น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ จัดการแผนงานส่งเสริมการพัฒนาระบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีการเปลี่ยนระบบเกษตรจากแบบพึ่งตนเองกลายเป็นแบบการตลาด เพื่อให้อาหารและผลการเกษตรมีราคาถูก ขณะที่เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด ซึ่งการทำการเกษตรต้องพึ่งธรรมชาติอย่างมาก จึงเกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีและไม่มีสุขภาวะ ส่วนโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่มีเงินสำรองเพียงพอหรือไม่ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการงบประมาณที่ไม่ดีพอ เมื่อชาวนาแห่ไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวแบบเทหมดหน้าตัก เพราะเชื่อถือรัฐบาล แต่ทันทีที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้ชาวนาไม่มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพียงพอ การแก้ปัญหาต้องใช้ระบบ CSA (Co mmunity Support Agriculture) ให้ชุมชนมาเป็นผู้ลงทุนการเกษตรและแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน โดยประกันความเสี่ยงให้กับชาวนา
       
        “แนว ทางการช่วยเกษตรกรอย่างได้ผลคือ แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด จากทำการเกษตรเพื่อขาย แต่เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและตนเอง โดย 1.เปลี่ยนปัจจัยการผลิตให้ เกื้อกูลของระบบการผลิต ปลูกพืชหลากหลายและสร้างอาหารให้ครัวเรือนและชุมชน และ 2.เปลี่ยนตลาด ให้ผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผู้บริโภค สร้างความเข้าใจในกันและกันราคาขายสมเหตุผลขณะเดียวกันสินค้ามีคุณภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันต่อนโยบายรัฐ หากชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนชุมชน รับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมช่วยให้เกิดการพึ่งตนเอง” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว
       
        น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบเกษตรกรรม การประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ปัญหาอุปสรรคของการปฏิรูประบบเกษตรกรรมโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อให้ชุมชนรู้จักตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญคือปัญหาเร่งด่วนจากนโยบายรับจำนำข้าว โจทย์ใหญ่คือ จะช่วยเหลือชาวนาให้ทำนาต่อได้อย่างไร ควรให้ อปท.เป็นหน่วยสำคัญในการบริหารจัดการในพื้นที่ เพราะอยู่ใกล้เกษตรกรมากที่สุด เกษตรกรสามารถปรึกษาปัญหาได้ทันที


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view