สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แม่โจ้โพลล์เผยชาวนา38.97%ขยาดจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แม่โจ้โพลล์" เผยชาวนา 38.97% ระบุจะไม่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวอีก เปิดช่องทุจริตคอรัปชั่น

นายสมเกียรติ ชัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยผลสำรวจ "อนาคตจำนำข้าว อนาคตชาวนาไทย" เพื่อให้ทราบถึงความคิดเห็นต่อสภาพปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ 78.77% มีความวิตกกังวลต่อปัญหาการจ่ายเงินจากโครงการรับจำนำข้าวที่ล่าช้า โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณในการนำมาจ่ายให้กับชาวนาและกังวลว่าอาจจะไม่ได้รับเงินดังกล่าว ขณะที่ 21.23% ไม่มีความวิตกกังวล โดยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ 38.97% ระบุว่าหากมีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่อไป จะไม่เข้าร่วมโครงการ โดยให้เหตุผลว่าชาวนาได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวน้อยและเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นมากและประสบปัญหาได้รับเงินล่าช้า จึงควรให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ส่วน 36.73% บอกว่ายังจะเข้าร่วมโครงการต่อไป โดยให้เหตุผลว่าสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้มีโครงการต่อไปแต่ควรมีการจำกัดปริมาณข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการและวงเงินในการรับจำนำข้าว และ 24.30% ยังไม่แน่ใจ เพราะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเงินมาจ่ายค่าข้าวหรือไม่

ทั้งนี้ ได้มีการสอบถามความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การผลิตข้าวของประเทศไทย พบว่าอันดับ 1 อยู่ที่ 84.91% คือ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อันดับ 2 อยู่ที่ 53.35% คือ มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในนาข้าวเพิ่มมากขึ้น อันดับ 3 อยู่ที่ 45.11% คือ คุณภาพข้าวลดลง อันดับ 4 อยู่ที่ 44.13% คือ ผลผลิตต่อไร่ลดลง และอันดับ 5 อยู่ที่ 34.63% จำนวนชาวนาที่ลดลง ไม่มีคนสืบทอดอาชีพทำนา

ขณะที่ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว พบว่า 47.70% แนะรัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำนี้โดยเร็ว 23.86% บอกว่ารัฐบาลควรมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ไม่โยนความรับผิดชอบให้กับหน่วยงานอื่นๆ 18.35% แนะควรในการช่วยเหลือชาวนาในด้านอื่นๆ เช่น ลดต้นทุนการผลิต และ 10.09% มีการชดเชยให้กับชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงิน

สำหรับนโยบายรับจำนำข้าว ระยะแรกเริ่มต้นเมื่อปีการผลิต 2527/28 ซึ่งมีการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการให้เกิดความสะดวกต่อเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา โดยหลักการเริ่มแรก เพื่อเป็นหลักประกันราคาข้าวขั้นต่ำให้แก่ชาวนา คือ หากราคาข้าวในตลาดสูง ชาวนาสามารถมาไถ่ถอนเพื่อนำข้าวไปขายเองได้ แต่หากราคาข้าวต่ำกว่าราคาตลาด ชาวนาจะปล่อยให้ข้าวหลุดจำนำโดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดๆ

แต่ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เปลี่ยนไป โดยถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือสร้างความนิยมทางการเมือง ด้วยการกำหนดราคารับจำนำข้าวที่สูงกว่าท้องตลาด ส่งผลให้มีการแทรกแซงกลไกตลาดและราคา ทำให้นโยบายนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในแง่ของการใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากและมีความเสี่ยงในการทุจริตทุกช่องทาง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายในปีการผลิต 2554/55 จนถึงปัจจุบัน ที่มีหลักการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่องบประมาณในการนำมาดำเนินโครงการ จนเกิดปัญหาการจ่ายเงินค่ารับจำนำข้าวล่าช้า สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจ ยังพบว่าสิ่งที่ชาวนาต้องการคือ การขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยกันแก้ไขปัญหาที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพื่อความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับกลุ่มชาวนาด้วย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags :

view