สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกษตรกรอ่วมซ้ำ-ปี57แล้งรุนแรง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย....โพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ดูเหมือนว่าปีนี้ชาวนาไทยจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมซ้ำซากไม่รู้จบ

เพราะขณะที่บางส่วนกำลังสู้ทัพจับศึกทวงเงินจำนำข้าวอยู่ในเมืองหลวง ยังมีชาวนาอีกหลายล้านคนในต่างจังหวัดกำลังกุมขมับกับปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าที่คิด

ล่าสุดกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 9 จังหวัด 33 อำเภอ 200 ตำบล 1,902 หมู่บ้าน  โดยแบ่งเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์ และสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น และศรีสะเกษ ภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ จ.สิงห์บุรี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี

ชาวนาหลายพื้นที่ไม่มีน้ำทำนา บางพื้นที่เริ่มเปิดศึกแย่งน้ำกันอย่างดุเดือด ขณะที่อีกหลายพื้นที่ถึงขั้นขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ สร้างความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยว่า เมื่อพิจารณาถึงปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ พบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย เขื่อนภูมิพลยังมีน้ำในเขื่อน 48% และมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้ 2,666 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำในเขื่อน 54% และมีปริมาณน้ำที่จะใช้ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าวิกฤตที่สุดในรอบ 10 ปีเลยก็ว่าได้

ส่วนสภาพอากาศที่หนาวจัดในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้อากาศแห้ง โอกาสเกิดปัญหาภัยแล้งจึงมีค่อนข้างสูง สุดท้ายเรื่องสถานการณ์ค่าความเค็มของน้ำทะเลก็น่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทย เพราะจะมีผลกระทบกับการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจากการตรวจวัดค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี พบว่าน้ำทะเลมีค่าความเค็มมากกว่า 6 กรัมต่อลิตร ซึ่งมาตรฐานค่าความเค็มเพื่อใช้การเกษตรจะต้องมีความเค็มไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร นั่นหมายความว่าขณะนี้ไม่สามารถใช้ทำการเกษตรได้แล้ว

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำในการทำเกษตรกรรมไว้ที่ 2.95 ล้านไร่ ปรากฏว่าชาวนาใช้พื้นที่ไปกว่า 5.4 ล้านไร่ ถือเป็นการผลิตเกินมาตรฐานมากเกือบสองเท่าตัว"

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย)กล่าวว่าก่อนหน้านี้หน่วยงานที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลเรื่องการใช้น้ำพยายามที่จะตักเตือนเรื่องพฤติกรรมการใช้น้ำของภาคประชาชน เกษตรกร และหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครออกมาตอบรับและปฏิบัติตาม  รวมทั้งหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเรื่องน้ำก็ไม่มีการกันหรือสำรองน้ำเอาไว้ใช้สำหรับแก้ปัญหาแต่อย่างใด

ด้าน ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าปริมาณน้ำใน 2 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะถูกนำไปใช้สนับสนุนกิจกรรมทุกอย่างทั้งการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรมได้เพียง 3 เดือน หรือจนถึงสิ้นเดือนพ.ค.นี้เท่านั้น

“ขอเตือนไปยังเกษตรกรว่าปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยาไม่เพียงพอที่จะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น การเสนอเข้า ครม.ครั้งนี้เพื่อให้มีการประกาศและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าหากเกษตรกรมีการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 จะไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือหรือเข้าโครงการจากภาครัฐแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยแล้งก็ตาม”

ทั้งนี้ตามกระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งต่อคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ก่อนเสนอแผนและแนวทางการช่วยเหลือชาวนาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

รอยลสรุปว่าปี 2557 ประเทศไทยจะแล้งกว่าปกติ แต่ไม่ทั่วประเทศ ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักคือภาคกลางกับภาคเหนือเท่านั้น

"ทางออกในฤดูแล้งคือต้องประหยัดและใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรกรรม ลดขนาดพื้นที่นาแล้วหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนปลูกข้าวนาปรังซึ่งใช้น้ำเยอะ เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผักสวนครัวอย่างแตงกวา บวบ โหระพา พริก กล้วย ตะไคร้น้ำหอม ถ้าปรับเปลี่ยนสำเร็จจะลดผลกระทบลงได้เยอ"รอยลระบุ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view