สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กองทุนสวล.จ่อถังแตก เงินไหลออกไม่หยุด

กองทุนสวล.จ่อถังแตก เงินไหลออกไม่หยุด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




"ที่สำคัญหากตรวจสอบพบว่ามีการนำเงินงบกองทุนไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ก็ควรเรียกคืนเงินกลับคืนมา": เกษมสันต์ จิณณวาโส

นับจากการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในปี 2535 จนถึงปัจจุบันกว่า 22 ปี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดของเสีย รวมทั้งกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมีงบประมาณทั้งสิ้น 14,382 ล้านบาท แต่ล่าสุดมีรายงานว่า ขณะนี้มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่เพียงไม่ถึง 1,000 ล้านบาทเท่านั้น

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) บอกว่าจากที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในช่วงปี 2549 ทำให้พบปัญหาในการบริหารจัดการเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น ทั้งในเรื่องของเงื่อนไขการให้ทุน การขอรับทุนทั้งจากหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และท้องถิ่นที่ยังขาดความชัดเจน

ขณะที่การอนุมัติและจัดสรรเงินจากกองทุนก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการกำหนดกรอบ รวมทั้งระยะเวลาในการทำโครงการ ทำให้พบหลายโครงการไม่ได้ทำตรงตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะโครงการที่จ่ายงบผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือแม้แต่หน่วยงานราชการในสังกัดของทส.เอง ซึ่งมีอย่างน้อย 2 โครงการที่ขอใช้งบกองทุนสิ่งแวดล้อมก้อนใหญ่ โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

นายเกษมสันต์บอกอีกว่า โครงการแรกคือการของบกองทุนสิ่งแวดล้อมในปี 2540-2542 จำนวน 2,500 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดซื้อที่ดินก่อสร้างโครงการระบบบำบัดน้ำเสียรวมจังหวัดสมุทรปราการ หรือคลองด่าน ซึ่งปัจจุบันโครงการมีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมาย และถูกระงับโครงการ

นอกจากนี้ในปี 2552 ทางสำนักงานปลัดทส. ยังขอใช้งบ จำนวน 2,254 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ หรือการสำรวจแนวเขตป่า ซึ่งไม่ทราบสถานะของโครงการ ขณะที่ยังมีบางโครงการ เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป) ได้ของบ 48 ล้านบาท ใช้ในการฟื้นฟูสภาพอ่างเก็บน้ำและทางน้ำที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือเมื่อปี 2549 เหล่านี้ เป็นต้น

ซึ่งทั้ง 2-3 ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าบางครั้งการอนุมัติใช้เงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ก็มีการใช้อำนาจทางการเมืองมาหักหาญน้ำใจนำเงินก้อนนี้ไปใช้

นายเกษมสันต์เล่าว่า สมัยที่ผมเป็นเลขาสผ. เคยมีตัวแทนจาก อปท.แห่งหนึ่ง นำเอกกระดาษเอกสารเพียง 2 แผ่น มาเสนอของบกองทุนจำนวน 300 ล้านบาท บอกว่าจะนำไปสร้างเตาเผาขยะในท้องถิ่น ผมถามว่าแบบนี้น่าให้หรือไม่ และอยากจะฝากว่า อย่าคิดว่ามีเครือข่ายการเมืองหนุนหลังแล้วจะใช้อำนาจมาบีบเงินกองทุนไปใช้

ซึ่งจากสิ่งที่เจอนี้เองทำให้สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม ต้องกำหนดกรอบทิศทางการสนับสนุนเงินอุดหนุนตามมาตรา 23 (4) สำหรับส่วนราชการและอปท.คือ กำหนดกิจกรรม โครงการที่ชัดเจน และระยะเวลาคือ 3 ปี และให้เงินอุดหนุนไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งเสนอว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับโครงสร้างการบริหารเงินกองทุนเสียใหม่

"ที่สำคัญหากตรวจสอบพบว่ามีการนำเงินงบกองทุนไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์กองทุน ก็ควรเรียกคืนเงินกลับคืนมา ไม่ใช่ปล่อยให้ผ่านเลย เพราะจะเป็นการตัดโอกาสองค์กรอื่นๆ" หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ทส.ระบุ

นอกจากนี้ นายเกษมสันต์ยังบอกด้วยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม พบว่าขณะนี้การขอตั้งงบเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งขณะนี้กองทุนตั้งมาแล้ว 16 ปี ตอนนี้เหลือเงินอยู่เท่าไหร่ และจะใช้ได้อีกเท่าไหร่ ซึ่งจากการประมาณการคาดว่าเงินก้อนนี้อีกแค่ 6 ปีก็จะหมด เพราะมีแต่ไหลออก แต่ไม่มีไหลเข้า

ดังนั้นสผ.ในฐานะที่บริหารและอนุมัติโครงการที่จะให้เงินจากกองทุนไปยังอปท. หน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน คงต้องมาปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์กันใหม่แล้วว่าจะทำอย่างไรให้เงินงอกเงยขึ้น โดยไม่รอแค่เงินจากดอกเบี้ยเท่านั้น

ส่วนน.ส.สุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักกองทุนสิ่งแวดล้อม สผ. ยอมรับว่าจากตัวเลขยอดเงินสุทธิของกองทุนสิ่งแวดล้อมจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 56 มีทั้งสิ้น 1,800 ล้านบาท มีความสุ่มเสียงต่อสถานภาพ เนื่องจากในแต่ละปีจะมีการอนุมัติอุดหนุนเงินกองทุนเฉลี่ย 1,000-1,100 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะปีงบ 2557 แค่เพียงช่วงไตรมาสแรกมีการขอกู้เงิน และรอกระบวนการอนุมัติถึง 400 ล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่เงินจากกองทุนลดน้อยลงนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลไม่ได้ตั้งงบอุดหนุนให้กับกองทุนมาตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งหลังจากมีการตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นในปี 2535 มีงบประเดิมจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงราว 4,500 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตอีก 500 ล้านบาท รวมทั้งเงินกู้งินกู้ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) 2,718 ล้านบาท โดยมีแค่ 3 ปีคือระหว่างปีงบประมาณปี 2536-38 ที่รัฐตั้งงบเข้ากองทุนให้รวมอีก 1,250 ล้านบาทเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ไม่มีอีกเลย

น.ส.สุชญา ระบุว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีดอกผลและเงินรับคืนจากโครงการ 5,151 ล้านบาท และเงินรับคืนเงินกู้อีกราว 263 ล้านบาท แต่เมื่อมีการอนุมัติโครงการมาเรื่อยๆ ตลอดเกือบ 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินอุดหนุนให้กับท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐตามมาตรา 23(1) สำหรับโครงการขยะ-น้ำเสียประมาณ 100 โครงการ รวมวงเงินอุดหนุนไป 9,000 ล้านบาท รวมทั้งโครงการคลองด่านด้วย และเขาจะจ่ายเงินคืนต่อเมื่อระบบเดินหน้าและเก็บเงินได้ แต่ที่ผ่านมาโครงการเหล่านี้ไม่สามารถเก็บเงินได้เลย ดังนั้นยอดจึงลดลง

ประกอบกับมีการขอใช้งบอีก 2,000 กว่าล้านบาทเพื่อทำโครงการสำรวจแนวเขตป่าของสำนักงานปลัดทส. ที่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการตั้งงบกลับคืนให้ตามเงื่อนไข โดยล่าสุดทางสำนักงานกองทุนได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานปลัดทส.เพื่อขอให้ตั้งงบคืนกองทุนตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เพราะขณะนี้โครงการสำรวจแนวเขตป่าดำเนินการจบแล้ว

" ปัญหาเงินในกองทุนลดจำนวนลง จนเกรงว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพนั้น ขณะนี้สผ.ได้ว่าจ้างให้นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 22 ว่าด้วยเรื่องที่มาของแหล่งเงิน และประเมินว่าศักยภาพว่ากองทุนควรมีเงินหมุนเวียนในปริมาณที่เหมาะสมมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลว่าจะนำเงินจากแหล่งไหนมาเติมเข้ากองทุน รูปแบบการบริหารจัดการ และวงเงินต้นที่ควรจะหมุนเวียนในกองทุน คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถสรุปข้อเสนอต่อทส. ตามขั้นตอนต่อไป" ผู้อำนวยการสำนักกองทุนสิ่งแวดล้อม ระบุ

เปิด 20 ปีใช้งบกว่า 1.3 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลโครงการ และงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปีงบ 2535 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2556 รวมทั้งสิ้น 16 ปี พบว่ามีการอนุมัติเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 13,785 ล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินมาเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม รวม 14,413.59 ล้านบาท

ทั้งนี้คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาจัดสรรเงินให้กับโครงการต่างๆ ดังนี้ 1.เงินอุดหนุนเพื่อจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและระบบกำจัดของเสียของส่วนราชการ หรืออปท.รวมทั้งสิ้น 104 โครงการ จำนวนเงินอนุมัติ 9,381 ล้านบาท 2.เงินกู้สำหรับภาคเอกชนในการป้องกันหรือควบคุมหรือขจัดมลพิษจากกิจกรรม จำนวน 27 โครงการ รวมวงเงินอนุมัติ 1,077.53 ล้านบาท

3.เงินช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กรรมการสิ่งแวดล้อม เห็นชอบ จำนวน 141 โครงการ รวมวงเงิน 3,097.84 ล้านบาท 4.เงินบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อม 229 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 13,785 ล้านบาท ดังนั้น เท่ากับว่าในปัจจุบันกองทุนมีวงเงินคงเหลือเพียง 628 ล้านบาทเท่านั้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view