สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ออมสิน ระส่ำหวั่นคนแห่ถอนเงินหลังปล่อยกู้ ธกส. สหภาพฯ จี้ผู้บริหารยกเลิก

“ออมสิน”ระส่ำหวั่นคนแห่ถอนเงินหลังปล่อยกู้“ธกส.” สหภาพฯ จี้ผู้บริหารยกเลิก

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ASTVผู้จัดการ – ธ.ออมสินระส่ำหวั่นลูกค้าแห่ถอนเงิน หลังผู้บริหารรับปล่อยกู้ ธกส. 2 หมื่นล้าน สหภาพฯ จี้ยกเลิก-ทวงเงินคืนด่วน ชี้ ธ.ก.ส.สภาพคล่องล้น-กู้ผิดวัตถุประสงค์ ลุกลามกระทบความเชื่อมั่นต่อลูกค้า-ประชาชน เผยข้อมูลวันศุกร์สาขาพาราไดซ์ พาร์จเจอถอนไปแล้วกว่า 58 ล้าน สร.ธกส.ภาคใต้ตอนบนนัดแต่งดำจี้ผู้บริหารแจง คัดค้านการกู้จากออมสิน เตรียมยกระดับ
       
       จากข่าวตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการยืนยันว่ารัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยกระทรวงการคลังได้มีการส่งสัญญาณไปที่ธนาคารของรัฐคือ ธนาคารออมสินให้ดำเนินการปล่อยเงินกู้ระหว่างธนาคารต่อธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ เกษตรกรได้ ทว่า การดำเนินการดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(4) กระทั่ง ช่วงบ่ายวันนี้ (16 ก.พ.) นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ออกมาแถลงข่าวยอมรับว่า ธนาคารออมสินได้มีการปล่อยกู้ในลักษณะดังกล่าวให้กับ ธ.ก.ส.จริง ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยถึงปัจจุบัน ธ.ก.ส. ใช้เงินไปในหลักพันล้านบาท
       
       นอกจากนี้ นายวรวิทย์ได้ปฏิเสธว่าทาง ธ.ออมสินไม่ทราบว่า ธ.ก.ส.จะนำเงินดังกล่าวไปใช้อะไร เพราะการให้กู้ในลักษณะดังกล่าวปกติเป็นไปเพื่อเสริมสภาพคล่องของธนาคาร นั้นๆ นอกจากนี้ตนอยากวิงวอนว่าประชาชนมามาถอนเงินฝากจากธนาคารออมสิน
       
        วันนี้ (16 ก.พ.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน (สร.อส.) ได้ออกแถลงการณ์ด่วนเรื่อง "ขอให้ยกเลิกการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ (Interbank) ให้กับ ธ.ก.ส." โดยระบุว่า การดำเนินการปล่อยกู้ดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างแล้วเนื่องจากความไม่เข้าใจและทำให้ผู้ฝากและสาธารณชนทั่วไปเกิดข้อกังขา
       
        “ตามที่ธนาคารออมสินได้ให้กู้ Interbank ให้กับ ธ.ก.ส. ปรากฎว่า เกิดผลกระทบในวงกว้าง จากความไม่เข้าใจและเกิดข้อกังขากับผู้ฝากและสาธารณชนทั่วไป แม้ว่าการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้เกี่ยวโยงหรือเกี่ยวข้องกับการ ปล่อยกู้โครงการจำนำข้าวก็ตาม” แถลงการณ์ระบุ
       
       พร้อมกันนั้น สร.อส. ได้เรียกร้องให้ผู้บริหารพิจารณาดำเนินการ 3 ข้อ คือ หนึ่ง หยุดการให้กู้อินเตอร์แบงก์แก่ ธ.ก.ส.โดยทันที เนื่องจาก ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องสูงเพียงพอแล้ว, สอง ให้ทวงถาม ธ.ก.ส. และให้ ธ.ก.ส. คืนเงินที่ขอยืมไปจากธนาคารออมสินจากการกู้อินเตอร์แบงก์ดังกล่าวโดยทันที เพราะถือว่าไม่มีความจำเป็นและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ และ สาม งดการให้กู้ใดๆ ก็ตาม ที่จะลุกลามกระทบถึงความเชื่อมั่นต่อลูกค้าและประชาชนทั่วไป อันอาจจะเกิดความเสียหายต่อธนาคารออมสิน
       
       


       
       ขณะเดียวกันช่วงค่ำวันนี้ นายสรรเสริญ สมะลาภา กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับยอดการถอนเงินผิด ปกติจากธนาคารออมสิน สาขาพาราไดซ์ พาร์ค ซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า “ได้รับรายงานแสดง ว่า ธ.ออมสินสาขาพาราไดซ์พาร์ค มีการถอนผิดปกติ 80 ราย รวม 58 ล้าน สาเหตุของการถอนคือธนาคารเอาเงินไปปล่อยกู้ให้ ธกส.”
       
       สำหรับภาพที่นายสรรเสริญโพสต์นั้น เป็นภาพที่อ้างว่าเป็นรายงานยอดการฝาก-ถอน ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 ของธนาคารออมสิน ภาค 2 โดยระบุรายละเอียดว่า ที่สาขาพาราไดซ์ พาร์ค ในวันดังกล่าวมี "รายการถอนที่ผิดปกติ" จำนวน 80 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 57,691,238.96 บาท โดยมีการระบุสาเหตุที่ถอนว่า เกิดเพราะ 1.ธนาคารเอาเงินไปปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. และ 2.ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า ธ.พาณิชย์
       
       • สหภาพ ธกส.ภาคใต้ตอนบนนัดแต่งดำ ค้านกู้จากออมสิน เตรียมยกระดับ
       
       วานนี้ (15 ก.พ.) อนุกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (สร.ธกส) ภาคใต้ตอนบน ก็ได้ออกแถลงการณ์เช่นกัน โดยเป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ระบุว่า
       
       "เรียนพี่น้องเพื่อนพนักงานทุกท่าน ที่ผ่านมาธนาคารได้ชี้แจงและทำความเข้าใจกับลูกค้าและประชาชนได้ทราบโดยทั่ว กันว่า ธ.ก.ส.จะไม่นำสภาพคล่องไปใช้ในโครงการจำนำข้าวซึ่งส่งผลให้ลูกค้าและประชาชน เกิดความมั่นใจและ ธ.ก.ส.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาในการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปและให้เงินกู้ ในฤดูกาลผลิตใหม่ซึ่งชาวนาก็พอใจ แต่มีข่าวว่า ธ.ก.ส.ได้กู้เงินจากธนาคารออมสินมาจำนวน 20,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งข่าวนี้ได้แพร่หลายไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ลูกค้า และประชาชนไม่มั่นใจในเรื่องดังกล่าว สร.ธกส.ภาคใต้ตอนบนจึงมีมาตรการ ดังนี้
       
       "1.ให้ผู้จัดการออกมาชี้แจงให้พนักงานและประชาชนได้รับทราบข้อเท็จ จริง เรื่องการกู้เงินจากธนาคารออมสินจำนวน 20,000 ล้านบาท 2.ให้พนักงานแต่งชุดดำปฏิบัติงานในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. 2557 เพื่อคัดค้านการกู้เงินจากธนาคารออมสิน
       
       "3.หากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริงและส่งผลกระทบต่อองค์กรจะยก ระดับในการคัดค้านโดยทันที ทั้งนี้ขอให้พี่น้อง เพื่อน พนักงานเตรียมพร้อมในการร่วมกันต่อต้านการกู้เงินจากธนาคารออมสิน" แถลงการณ์ สร.ธกส.ภาคใต้ตอนบนระบุ
       
       


คำนูณ-ชี้ออมสินให้ธ-ก-ส-กู้เป็นนิติกรรมอำพราง

จาก โพสต์ทูเดย์

สว.สรรหา ชี้ ออมสินให้ธ.ก.ส.กู้อินเตอร์แบงก์เป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อจำนำข้าว จับตากรุงไทยอาจให้กู้ลักษณะเดียวกัน

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา แสดงทัศนะผ่านสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก กรณีการที่ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 2 หมื่นล้านบาท ว่า ทำให้เกิดคำถามว่าเป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อหาเงินไปจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ เพราะการกู้ระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) วัตถุประสงค์หลัก คือ เสริมสภาพคล่อง จะมีระยะเวลาชำระหนี้สั้นไม่กี่วัน แต่ในเงื่อนไขการกู้ระหว่างธนาคารออมสินและธ.ก.ส.ครั้งนี้ มีระยะเวลาชำระหนี้ถึง 9 เดือน

ทั้งนี้ การมี หนังสือรับทราบภาระหนี้สิน (Letter of Comfort) จากรัฐบาล ไม่ใช่ (Letter of Gaurantee) หมายความว่า หากมีปัญหาการชำระหนี้ รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นความเสี่ยงของ ธ.ก.ส. ที่จะต้องรับไว้เอง จึงขอเรียกร้องให้สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ตรวจสอบให้ได้ว่าจะจัดการกับเงิน 2 หมื่นล้านบาทนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้ ธ.ก.ส.เสียหาย และส่วนตัวเชื่อว่า คงทำแบบนี้กับธนาคารกรุงไทยด้วยเพื่อหา funding ให้ธ.ก.ส. ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) เวลา 14.00 น. ธนาคารออมสินเตรียมจัดแถลงข่าวด่วนเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ให้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมีนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้แถลงข่าว

สำหรับเนื้อหาที่นายคำนูณ โพสต์ในเฟซบุ๊กมีดังนี้

"นิติกรรมอำพราง ??

การที่ธนาคารออมสินให้ ธ.ก.ส.กู้ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาชำระหนี้ 9 เดือน โดยอ้างว่าเป็นการให้กู้แบบอินเตอร์แบงก์ทั่วไป โดยมี letter of comfort จากกระทรวงการคลังเป็นหลักฐาน ไม่ใช่ให้กู้ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือนี่เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่ เพราะการกู้แบบอินเตอร์แบงก์นั้นวัตถุประสงค์คือเพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นการกู้ระยะสั้น ปกติแล้วเพียงแค่วันเดียวสองวัน อย่างที่เรียกกันว่า overnight ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ 9 เดือนอย่างที่ทำ มีธนาคารไหนในโลกปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ 9 เดือนบ้างมั้ย และถ้าเป็นธนาคารเอกชนจะกล้าทำอย่างนี้มั้ย ผู้บริหารเงินฝากของลูกผม 2 บัญชีช่วยตอบหน่อย ถ้าไม่ตอบวันนี้ช่วยตอบผมในการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเงินฯวุฒิสภาอังคารที่จะถึงนี้ด้วย

กูรูทางการเงินยอมรับว่าฉลาดครับ เพราะเรื่องนิติกรรมอำพรางอาจจะพิสูจน์ได้ยาก เมื่ออ้างว่าเป็นการกู้แบบอินเตอร์แบงก์แล้วธนาคารออมสินไม่จำเป็นต้องรับรู้ว่าธ.ก.ส.จะเอาเงินไปใช้อะไร

ปัญหาอยู่ที่ ธ.ก.ส. ถ้าเอาเงินไปปล่อยโดยอิง letter of comfort ที่กระทรวงการคลังออกให้ แล้วรัฐบาลหน้าไม่จ่าย เพราะ letter of comfort ไม่ใช่ letter of guarantee ธ.ก.ส.ก็ต้องรับผิดชอบเอง รัฐบาลนี้ก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญเพราะธ.ก.ส.รับความเสี่ยงเอง

สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ต้องตรวจสอบให้ได้ว่าจะจัดการกับเงิน 20,000 ล้านจากออมสินอย่างไรไม่ให้ธกส.เสียหาย !

พวกเขาหวังว่าถ้ารัฐบาลนี้รอดไปได้ จะเปลี่ยน letter of comfort เป็นการค้ำประกันเหมือนเงิน funding ก้อนอื่น ๆ

แม้เบื้องต้นออมสินไม่เสียหายแน่เพราะปล่อยสินเชื่ออินเตอร์แบงก์ให้ธ.ก.ส. แต่ปัญหาคือธ.ก.ส.ทำไมยอมปล่อยสินเชื่อ against letter of comfort ซึ่งไม่มีผลยังคับตามกฎหมาย

ส่วนที่พอพูดได้ว่าออมสินซูเอี๋ยด้วยคือไม่มีธนาคารไหนในโลกปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์นาน 9 เดือน !

คงทำแบบนี้กับธนาคารกรุงไทยด้วยเพื่อหา funding ให้ธ.ก.ส.

ที่ตัองกู้อินเตอร์แบงก์ ก็เพื่อไม่จำเป็นต้องระบุวัตถุประสงค์ในการกู้ไง และที่ต้อง 9 เดือน ก็หวังว่าพ้นรักษาการแล้วจะกลับมาเคลียร์นิติกรรมอำพรางที่ทำไว้เพื่อเลี่ยงรัฐธรรมนูญช่วงรักษาการ

การกู้แบบนี้ควรเป็น term loan ต้องแสดงวัตถุประสงค์ในการขอเงินกู้ไปใช้และที่มาของเงินที่จะจ่ายคืน แต่ที่ไม่ทำเพราะบอกไมได้ว่าจะเอาไปจ่ายหนี้ชาวนา และก็ไม่สามารถระบุว่า repayment จะมาจากไหน ถึงต้องกู้เป็นอินเตอร์แบงก์พิสดารยาว 9 เดือน ทั้งๆ ที่อินเตอร์แบงก์ส่วนใหญ่วันต่อวัน overnight เท่านั้น

สรุปประเด็นด้านออมสิน

1. ทำไมปล่อยอินเตอร์แบงก์ยาวถึง 9 เดือน ปกติแบงก์กู้กันชั่วข้ามคืน เลี่ยงการปล่อนกู้เป็น term loan เพื่อไม่ให้สาวถึงเรื่องจำนำข้าวใช่ไหม

2. การปล่อยกู้มีอะไรเป็นหลักประกันหรือไม่ เพราะอะไร

สรุปประเด็นด้านธ.ก.ส.

1. กู้มาทำไม เพราะเคยบอกว่ามีสภาพคล่องเหลือไม่ใช่หรือ

2. ความเสี่ยงในการกู้ธนาคารรับไว้เองใช่ไหม หรีอรัฐบาลรับประกันเป็น letter of comfort มีหลักฐานเก็บไว้ไหม

3. รู้หรือไม่ว่า letter of comfort ไม่มีผลบังคับให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายถ้าปล่อยเงินให้โครงการจำนำข้าวแล้วเสียหาย

ทั้งหมดประมวลมาจากการสนทนากับกูรูทางการเงินที่เป็นกัลยาณมิตรกัน"


“ถาวร” ปูดออมสินปล่อยกู้ ธ.ก.ส.แล้ว 9 พันล้าน เอี่ยวจำนำข้าว เตือนเจ๊งต้องรับผิดชอบ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

แกนนำ กปปส.แฉเช้าวันนี้แบงก์ออมสินปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์แล้ว 4 พันล้าน ก่อนหน้านี้ 13 ก.พ. ปล่อยกู้ไป 5 พันล้าน หนำซ้ำกรุงไทยยังปล่อยกู้ไปแล้ว 7 พันล้าน เชื่อรัฐบาลหาทางแซะเงินฝากประชาชนใช้หนี้จำนำข้าว เตือนเจ๊งขึ้นมาต้องรับผิดชอบ เพราะเกี่ยวพันบัญชีเงินฝากหลายล้านบัญชี
       
       วันนี้ (16 ก.พ.) นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.กล่าวว่า ตนเพิ่งได้รับการแจ้งข้อมูลจากคนวงในของธนาคารออมสินว่า เช้าวันนี้ (16 ก.พ.) นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้อนุมัติวงเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อเกษตร หรือ ธ.ก.ส. อีก 4 พันล้านบาท หลังจากที่ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา 5 พันล้านบาท รวมเป็น 9 พันล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการกู้แบบอินเตอร์แบงก์ ซึ่งโดยข้อเท็จริงการกู้ในระบบนี้จะเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องของ สถาบันการเงิน โดยจะกู้ในระยะสั้นและดอกเบี้ยถูก ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.เองไม่ได้ประสบปัญหาสภาพคล่องเพราะมีเงินอยู่ถึง 1.8 แสนล้านบาท แต่เหตุที่ไม่ให้รัฐบาลกู้ไปใช้ในโครงการจำนำข้าวเพราะจะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งจะเป็นการสร้างหนี้สินผูกพันภาระต่อรัฐบาลหน้า อีกทั้งจะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 113 ที่ระบุว่า นิติกรรมใดที่ขัดต่อกฎหมายชัดแจ้ง นิติกรรมนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆะ
       
       นายถาวรกล่าวว่า การกู้นี้ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ชัดเจน อีกทั้งจะขัดหลักธรรมาภิบาล เพราะรู้ชัดแจ้งว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวงในขั้นตอนต่างๆ จนไม่มีเงินมาใช้หนี้ให้ชาวนา แต่นายวรวิทย์ได้อนุมัติปล่อยกู้เงินของออมสินครั้งนี้โดยอ้างว่าเป็นการกู้ แบบอินเตอร์แบงก์ น่าจะเป็นการหาทางเลี่ยงข้อกฎหมาย ซึ่งบุคคลนี้เป็นคนในระบอบทักษิณจึงเป็นการพยายามหาทางช่วยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อเงินฝากของบัญชี เด็กๆ หลายล้านบัญชี ซึ่งการช่วยอนุมัติวงเงินกู้ในครั้งนี้ ตนมองว่าไม่ใช่การกู้แบบอินเตอร์แบงก์อย่างที่พยายามกล่าวอ้างกัน
       
       “ผมไม่ได้ขัดขวางการหาเงินมาใช้หนี้สินที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ติดหนี้ชาวนาในโครงการจำนำข้าวกว่า 1.3 แสนล้านบาท เพราะรัฐบาลยังมีทางอื่นที่สามารถหาเงินมาช่วยชาวนาได้แต่ไม่ทำ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีคนในรัฐบาลออกมาคุยโวว่า สามารถหาเงินมาใช้หนี้ชาวนาได้แล้ว จึงน่าจะเป็นหนทางนี้ นอกจากนี้ยังทราบอีกว่า ธนาคารกรุงไทยก็ได้อนุมัติเงินกู้ช่วยไปแล่วเช่นกัน 7 พันล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงขอเตือนถึง ผอ.ธนาคารออมสิน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยว่า เงินที่อนุมัติให้รัฐบาลไปนั้นเป็นเงินฝากของประชาชนจำนวนหลายล้านบัญชี หากเกิดปัญหาหรือความผิดพลาดใดๆที่ขัดต่อหลักกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบผลความ เสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะทั้ง 3 สถาบันการเงินคือกรุงไทย ออมสิน และ ธ.ก.ส. ล้วนมีสถานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการดำเนินงานอยู่” นายถาวรกล่าว


“ออมสิน” ยอมรับปล่อยกู้ “อินเตอร์แบงก์” ให้ “ธ.ก.ส.” จริง วิงวอน ปชช. อย่าแห่ถอนเงิน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ธ.ออมสิน” ยอมรับปล่อยกู้ “อินเตอร์แบงก์” ให้แก่ ธ.ก.ส. จริงตามการร้องขอของธนาคารของรัฐด้วยกันเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง ย้ำไม่ใช่เงินฝาก ปชช. พร้อมแจงยังมีธนาคารอีก 35 แห่ง ที่มีการปล่อยกู้เป็นเงินกว่าแสนล้าน พร้อมฝากขอวิงวอน ปชช. อย่าแห่ถอนเงิน
         นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงยืนยันการปล่อยเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารด้วยกัน (อินเตอร์แบงก์) เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง ตามการร้องขอของธนาคารของรัฐด้วยกัน ซึ่งเงินที่ใช้ไม่ได้เป็นเงินฝากของประชาชน
       
       ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้ใช้เงินไปหลักพันล้านบาท จากวงเงินที่ให้สูงถึง 2 หมื่นล้านบาท โดยออมสินให้กู้แก่ธนาคารต่างๆ ให้ธนาคารอื่นๆ กู้อีก 35 แห่ง กว่าแสนล้านบาท ทั้งนี้ ขอวิงวอนประชาชนวันพรุ่งนี้อย่าแห่มาถอนเงิน เพราะธนาคารดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาล ขอให้ความมั่นใจว่า จะดูแลเงินฝากของประชาชนอย่างดี
       
       ทั้งนี้ ธนาคารออมสิน เป็นองค์กรเดียวที่ พ.ร.บ.จัดตั้ง ระบุว่า รัฐบาลเป็นประกัน และยืนยันว่าที่ผ่านมา คณะกรรมการไม่ได้รับการร้องขอเงินกู้ที่จะไปใช้โครงการรับจำนำข้าวแต่อย่าง ใด


ออมสินปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ธกส.5พันล้าน

ผู้บริหารแบงก์ออมสินออกโรงแถลงข่าวยอมรับปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ 5 พันล้านบาท ให้ธ.ก.ส. เสริมสภาพคล่อง ไม่เกี่ยวจำนำข้าว วอนลูกค้าอย่าแห่ถอน

นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แถลงข่าวในวันนี้ (16 ก.พ.) ว่า ธนาคารออมสินได้ปล่อยสินเชื่อให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในรูปแบบการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) จริง โดยออกเป็นตั๋วสัญญากู้เงิน วงเงิน 5 พันล้านบาท จากทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 30 วันเท่านั้น ไม่ได้เป็นตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ และการดำเนินการในส่วนนี้เป็นการนำเงินจากกำไรสะสม และเงินทุนสะสมมาใช้ ไม่เกี่ยวข้องกับเงินฝากของประชาชน

นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าการปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ไม่ได้เป็นนิติกรรมอำพรางกับรัฐบาลรักษาการอย่างแน่นอน เพราะการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์แต่ละครั้งออมสินจะพิจารณาจากสภาพคล่องของธนาคาร รวมถึงวัตถุประสงค์ของธนาคารที่ขอกู้ และอัตราดอกเบี้ยจูงใจให้ปล่อยกู้ แต่ในช่วงนี้จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบดันภาพลักษณ์ที่จะมีต่อกระแสสังคมด้วย อีกทั้ง การปล่อยกู้ครั้งนี้ กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกันให้ตามที่เป็นข่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ก.พ. นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการธนาคาร เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือในการเสริมสภาพคล่องใหักับประชาชนรายย่อยที่ต้องกู้นอกระบบ โดยในเบื้องต้นจะปล่อยกู้ในวงเงินรายละ 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย1%

นอกจากนี้ ยืนยันว่ายังไม่มีการถอนเงินออกจากออมสินจนผิดปกติ โดยธนาคารมียอดเงินฝาก 1.87 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์ 2.17 ล้านล้านบาท โดยมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 2 แสนล้านบาท

"ออมสินอยากจะขอร้องและวิงวอนให้ประชาชนเข้าใจและไม่แห่มาถอนเงินฝากออก เพราะที่ผ่านมาออมสินได้ให้สินเชื่อแบบอินเตอร์แบงก์กับธนาคารต่าง ๆ ถึง 35 ธนาคารทั้งไทยและต่างประเทศที่ทำธุรกิจในไทย"


“จะตายกันอยู่แล้วไม่มีอะไรจะกิน” “อย่าอยู่เลย อยู่แล้วรกแผ่นดินเปล่าๆ” เสียงสะท้อนจากชาวนาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน

       ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความ ทุกข์ระทมของชาวนาที่จำนำข้าวให้กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปแล้วยังไม่ได้เงินร่วม 5-6 เดือน หนี้สินท่วมหัวอีกร่วมแสน ความเครียดจึงสะสมกลายเป็นโศกนาฏกรรม ดังปรากฏเป็นข่าวชาวนาสิ้นหวังฆ่าตัวตายให้สลดใจเป็นรายที่ 10 (13ก.พ.57) ชาวนาจึงพากันตบเท้าเดินเข้ากรุงเทพฯเพื่อทวงเงินของตัวเอง ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะออกมารับผิดชอบแต่ประการใด ทั้งที่ตัวเองนั้นเป็นเจ้าของโครงการรับจำนำข้าวแท้ๆ ได้แต่หลบหน้าหน่ายหนีสงวนคำตอบ
       
       วันนี้ที่กระทรวงพาณิชย์จึงเต็มไปด้วยชาวนาปักหลักชุมนุมคอยเงินจาก รัฐบาลที่ถูกปล้นไป แม้แต่ชาวนาที่เป็นฐานเสียงให้กับรัฐบาล คือ กลุ่มชาวนาภาคอีสาน 20 จังหวัด ก็ลั่นวาจาว่าจะชุมนุมจนกว่าจะได้เงินคืน
       เงินอยู่ไหน ข้าวอยู่ไหน คำถามที่ชาวนาอยากได้คำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่สุด
       
       ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์จึงได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวนาเพื่อบอกเล่าความรู้สึกของ ผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพื่อสะท้อนหัวอกของผู้ที่วันนี้ไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน
“จะตายกันอยู่แล้วไม่มีอะไรจะกิน” “อย่าอยู่เลย อยู่แล้วรกแผ่นดินเปล่าๆ” เสียงสะท้อนจากชาวนาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นางธีรกาญจน์ ทองอินทร์
       นางธีรกาญจน์ ทองอินทร์
       ชาวนา อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
       
       -ตอนนี้ชาวนาเดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวกันมาก เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนตั้งแต่ทำนามา
       
       เดือดร้อนสุดๆ ถ้าไม่เดือดร้อนจะไม่มาเด็ดขาด นา 3ไร่ รัฐบาลติดค้างจ่ายอยู่แสนกว่าบาท ตอนนี้คิดอยู่ว่าทำยังไงถึงจะได้ตังค์ค่าข้าว มันโหดร้ายกับชาวนาเหลือเกิน ไม่เคยพบเคยเจอ อยู่มาจนอายุ 50 กว่า เพิ่งมาเจอครั้งนี้ ทำนามา3-4เดือนแล้ว พอเกี่ยวข้าวเสร็จนึกว่าจะได้ตังค์ วงจรมันเปลี่ยนไปหมดเลย มันปั่นป่วน ที่หมู่บ้านหยุดชะงักหมดเลย นี่น้ำก็เริ่มจะลงแล้ว คนที่ดูแลรถไถเขาบอกว่า ถ้าไม่เอาตังค์ไปให้ค่าน้ำมัน เขาก็จะไม่ไถนาให้ เขาก็จะไม่ปั่นนาให้เรา เรามีอาชีพทำนากันอย่างเดียวนะ ได้เงินมาก็มาแบ่งเงินให้พี่ๆ น้องๆในครอบครัว
       
       แต่ตอนนี้มีแต่หนี้สินเต็มไปหมดไหนจะค่ารถไถ ค่าปั่นนา ค่าข้าวปลูก ค่ายา ทุกอย่าง ตอนนี้ยิ่งลักษณ์ติดเงินชาวนาในหมู่บ้านอยู่ 2-3แสนบาทต่อครอบครัวเป็นอย่างต่ำ ตอนแรกที่ยังไม่มีโครงการรับจำนำข้าวเราได้เกวียนละ 7,000-8,000 บาทและก็เงินตามมาอีกรวมๆแล้วหมื่นต้นๆ ก็ดีแล้ว นี่ไม่ดี อะไรก็ไม่รู้ ของก็ขึ้น น้ำมันก็ขึ้น อะไรก็ขึ้น มาทุกทิศทุกทางเลยเดือดร้อนไปหมด
       
       -การตัดสินใจมากรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องเงินจากรัฐบาลครั้งนี้ เพราะไม่ได้ตังค์จริงๆ ไม่ได้เป็นชาวนาปลอมอย่างที่เขาว่า?
       
       กรุงเทพฯเราไม่อยากมาหรอก มาครั้งนี้ก็มีแต่เอายาประจำตัวมากินกับเงินทั้งเนื้อทั้งตัว70กว่าบาท (เปิดกระเป๋าให้ดู) ทำไมถึงทำกับชาวนาแบบนี้ ทุเรศจริงๆ เราก็จะอยู่เรียกร้องแบบนี้จนกว่าจะได้ตังค์ ตอนที่รัฐบาลส่งตัวแทนมาเจรจาที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ได้เรื่องเลย บอกว่าเป็นเพราะม็อบกปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)ไปปิดธนาคาร คุณพูดมาได้ไง คุณรับใบจำนำข้าวตั้งแต่เดือนกันยายน ปี56แล้ว คุณต้องเตรียมการสิ ว่าคุณจะเอาเงินที่ไหนมาให้ชาวนา ขนาดชาวนาเองยังมีการเตรียมพร้อมทำนาเลย เขาเตรียมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช รองลงมาก็ปุ๋ย ยาค่าแมลง ยาค่าวัชพืช และฮอร์โมน แล้วทำไมรัฐบาลถึงไม่รู้จักเตรียม คุณเปิดรับจำนำข้าวตั้งแต่เดือนกันยายน ปี56แล้ว คุณต้องมีเงินเตรียมให้ชาวนาสิ คุณเป็นถึงรัฐมนตรีระดับใหญ่โต คุณไม่มีการเตรียมการเลยหรือ เราเป็นชาวนาตัวเล็กๆเรายังเตรียมพร้อมเลย คุณเป็นผู้บริหารประเทศได้ยังไงกัน ส่วนที่บอกว่ายุบสภาแล้วหาเงินไม่ทัน มันไม่เกี่ยวกันเลย เราจำนำข้าวตั้งแต่เดือนกันยายน ปี56แล้ว รัฐบาลเพิ่งมายุบสภาไม่นานนี้เอง ถามจริงๆเถอะว่าคุณทำอะไรอยู่
       
       -เอาข้าวไปแต่เงินไม่มา?
       
       คุณก็รู้ ว่าคุณเอาข้าวชาวนาไป คุณต้องเอาเงินให้ชาวนา เพราะชาวนาไม่มีทางที่จะหาเงินที่ไหนมาได้ หนี้สินก็ล้นพ้นกันอยู่แล้ว ดอกมันเดินทุกวัน พอถามธ.ก.ส.(ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)ว่าจะได้ตังค์เมื่อไหร่ เขาก็บอกไม่รู้ โยนกันไปโยนกันมากับรัฐบาล
       
       -ความหวังที่จะได้เงินจากรัฐบาล
       
       อยากได้เร็วๆ จะตายกันอยู่แล้ว ต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ เพราะไม่งั้นเราจะเอาอะไรกิน ไหนจะลูกหลานอีก มีแต่จะให้เป็นหนี้ธนาคารให้เราไปกู้ แล้วที่เขาให้บัตรเครดิตเกษตรกรมา เราก็เอาไปรูดมาใช้จ่าย วงเงิน 5หมื่น เราก็รูดไปหมื่นสี่ แต่ก่อนไม่เคยเป็นหนี้ ตอนนี้มีมาเป็นลูกโซ่ เครียดไปหมดแล้วไม่รู้จะทำยังไง
       
       -อยากให้รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตรรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง
       
       อย่าอยู่เลย อยู่แล้วรกแผ่นดินเปล่าๆ จิตใจทำด้วยอะไรยิ่งลักษณ์ เป็นผู้หญิงเพศแม่ด้วยกันเหมือนกับเรา ทำไมถึงทำกับเราอย่างนี้ เรามีภาระเยอะต้องจ่ายตังค์ให้ลูก เมื่อเช้าลูกก็บอกแม่ตังค์หน่อย ๆ ตอนนี้เราเดือนร้อนกันไปหมด รัฐบาลต้องเอาตังค์ค่าข้าวมาให้เรา ถ้าไม่มีศักยภาพที่จะหาเงินมาให้ชาวนาก็ออกไปเถอะคนอื่นจะได้ขึ้นมาช่วยแก้ ปัญหาให้เราได้ แล้วเดี๋ยวจะขึ้นฤดูกาลทำนาอีกแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาลงทุน ค่าปั่นนาจะเอาเงินที่ไหน ทำไมยิ่งลักษณ์ไม่เอาเงินพี่ชายมาจ่ายให้เรา(เน้นเสียง) จะได้จบๆ
“จะตายกันอยู่แล้วไม่มีอะไรจะกิน” “อย่าอยู่เลย อยู่แล้วรกแผ่นดินเปล่าๆ” เสียงสะท้อนจากชาวนาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์
นายทศพร รักษ์เจริญ
       นายทศพร รักษ์เจริญ
       ชาวนาอ.สามพราน จ.นครปฐม
       
       -กำลังใจตอนนี้เป็นยังไงบ้าง จำนำข้าวแล้วยังไม่ได้เงิน
       
       ตอนนี้แทบไม่มีเงินจะกินจะใช้กันอยู่แล้ว อยู่ก็แบบขัดสนลำบาก ลูกเต้าก็ยังเรียนหนังสืออยู่มัธยมก็ต้องกินต้องใช้เงินทอง เงินตอนนี้บอกเลยว่าไม่พอที่จะใช้จริงๆมาทวงเงินค่าข้าวก็เจอบอกว่าไม่มีให้ เรา เราก็ต้องไปกู้เงินให้ตัวเป็นหนี้สิน ก็ไม่รู้ต้องทำยังไงมีแต่ทางนี้ ถ้าไม่กู้จะเอาเงินที่ไหนกิน ลูกเต้าจะร่ำเรียนยังไง เหตุการณ์มันบังคับ เงินที่รัฐบาลติดเราเป็นหลักแสนถ้าได้ตรงนี้มาก็จะช่วยอะไรได้มาก แต่ตอนนี้มันไม่ได้เราก็ต้องอดทนกันต่อไป
       
       -โครงการรับจำนำข้าว มีแต่ทำให้ชาวนาเจ๊ง เพราะรัฐบาลทุจริต
       
       เรื่องนโยบายจำนำข้าวที่ตามข่าวเห็นมีคนมาวิจารณ์ว่าจะเจ๊ง รัฐบาลก็ไม่ฟัง จนเป็นโครงการเน่าเละ เจ๊งจนได้ จากการที่ซื้อแพงแต่ขายไม่ได้ ตามหลักความเป็นจริงมันไม่ใช่เลย แถมรัฐบาลได้ข้าวไปก็ไม่ได้ไปขายอีกต่างหาก ถ้าขายจริงก็ต้องมีเงินมาจ่ายชาวนาไม่ใช่หรือ รวมกันโกงแบบนี้ประเทศชาติจะล่มจมตามชาวนาไปด้วยซ้ำไป เรื่องที่ไปขอกู้ธนาคาร เราก็เข้าใจว่าใครจะไปเชื่อใจเพราะโครงการนี้เจ๊งมาแล้วเห็นๆ ใครจะไปไว้ใจง่ายๆ นโยบายแบบนี้ของรัฐบาลมันไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงคือการไม่ไปไล่กู้เพียงอย่าง เดียว รัฐบาลบอกเงินไม่มีให้ชาวนาแต่ดันเอาเงินไปจัดการเลือกตั้งผลาญไปเท่าไหร่ก็ ไม่รู้
       
       -ชาวนาจะชุมนุมเพื่อทวงเงินรัฐบาลอีกนานแค่ไหน
       
       ส่วนตัวคงอยู่ทวงเงินแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะทำยังไง รอคอยจนกว่าจะได้ เพราะอยากรู้ว่าเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว อยากรู้ว่ามีการโกงเงินจำนำข้าวไปยังไงกันบ้าง อยากให้กฎหมายบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าโกงจริงก็ขอให้ติดคุกไปแต่ก็ไม่เคยเห็นพวกคนใหญ่คนโตติดคุก อยากให้จับคนโกงติดคุกจะได้เกรงกลัวการโกงกันบ้าง
       
       -ถ้าตอนนี้ยังหาเงินมาให้ชาวนาไม่ได้ อยากฝากบอกไปถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า?
       
       ถ้ารัฐบาลไม่มีทางออกก็ให้ลาออกไป คนอื่นที่มีความสามารถได้มาทำต่อ อยากถามถึงนายกรัฐมนตรีว่าจะไม่รู้เรื่องรู้ราวโครงการนี้เป็นไปได้อย่างไร ตัวเองเป็นถึงประธานโครงการข้าวแต่ไม่รู้เรื่องรู้ราว เป็นเด็กปัญญาอ่อนหรืออย่างไร มาพูดได้ว่าไม่เกี่ยวข้อง เป็นคนรับผิดชอบแท้ๆ บอกมาได้ยังไงว่าไม่รู้ไม่เห็น คนแถวบ้านก็แปลกชาวนาบางคนยังหลงงมงายกับรัฐบาลชุดนี้ก็มี ทั้งที่เงินถูกโกงไป ความเดือดร้อนถึงตัวแล้ว โกงจนประเทศชาติจะเจ๊งอยู่แล้ว อยากให้คนที่หลงงมงายรัฐบาลนี้อยู่ ลุกขึ้นมาเดินขบวนกันมากๆ มาช่วยกดดัน ลองคิดดูว่าถ้าใบประทวนหมดอายุความไปจะทำอย่างไร มีบางคนไม่รู้ว่ามันจะเป็นแค่เศษกระดาษถ้าหมดอายุ ถ้ารู้แล้วก็อยากให้ออกมาช่วยกดดันรัฐบาลกัน เพราะเห็นกันอยู่ว่าลำบากจะตายกันอยู่แล้ว

คลังบีบแบงก์รัฐปล่อยกู้ธกส.

ปิดเบื้องหลังแบงก์ออมสินปล่อยกู้ธ.ก.ส.วงเงิน2หมื่นล้านจ่ายโครงการจำนำข้าว คลังงัดเครดิตไลน์แบงก์รัฐ ช่องทางหาเงินกู้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

แผนการปล่อยกู้เงินของธนาคารออมสินให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ผ่านการกู้เงินระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถือเป็นการปล่อยกู้ก้อนแรกเพื่อแก้ปัญหาการจ่ายหนี้ค่าข้าวให้กับชาวนาที่กำลังเป็นปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่าขณะนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ขอความร่วมมือไปยังสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SSI) ประกอบด้วยธนาคารรัฐ 4-5 แห่ง อาทิเช่น ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารออมสิน เป็นต้น ที่มีศักยภาพในการปล่อยกู้ให้แก่ ธ.ก.ส. ผ่านอินเตอร์แบงก์วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 1.78-2.5% ระยะเวลา 30 วัน โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว เพื่อนำไปจ่ายหนี้ตามใบประทวนของชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57

อย่างไรก็ตาม การกู้เงินของธ.ก.ส.ครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้มีหนังสือยืนยันการค้ำประกันการกู้เงินให้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ผ่านอินเตอร์แบงก์ ที่เป็นเครดิตไลน์ของธนาคารรัฐ กรณีที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ซึ่งกรณีของธ.ก.ส.แม้จะไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่การกู้เงินครั้งนี้เพื่อต้องการนำไปใช้จ่ายหนี้ชาวนาซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะให้ดำเนินการลักษณ์ดังกล่าว

คลังงัด"เครดิตไลน์"หาเงินช่วยชาวนา

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายของธ.ก.ส.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557 ที่อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้แหล่งเงิน ที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นวงเงินก้อนใหม่ และยังมีความเห็นของสำนักงานกฤษฎีกาว่ากระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้

"แนวคิดในการกู้ผ่านเครดิตไลน์ เป็นข้อเสนอจากการหารือร่วมกับนายแบงก์ใหญ่ของรัฐแห่งหนึ่ง ที่เสนอให้ใช้แนวงทางดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการต่อต้านและขัดหลักกฎหมาย เพราะถือเป็นการบริหารสภาพคล่องของธนาคารปกติ" แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ธ.ก.ส.ได้รับเงินงวดแรกมาแล้ว 5,000 ล้านบาท ได้เตรียมทยอยจ่ายให้แก่ชาวนาพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานในสัปดาห์หน้า ซึ่งธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่เข้าโครงการรับจำนำไปแล้วตั้งแต่ต้นฤดูผลิตปี 2556/57 ทั้งสิ้นจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท ปริมาณข้าว 3.6 ล้านตัน ชาวนา 5 แสนราย จากใบประทวนที่รับจำนำไว้ทั้งหมด 1.79 แสนล้านบาท จำนวนข้าว 10.8 ล้านตัน จำนวนชาวนา 1.4 ล้านราย โดยมีวงเงินที่ยังค้างจ่ายแก่ชาวนาทั่วประเทศขณะนี้อยู่ที่ 1.14 แสนล้านบาท ชาวนา 9 แสนราย

อ้างมติครม.ยันกู้ผ่านอินเตอร์แบงก์ได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปล่อยกู้เงินผ่านอินเตอร์แบงก์ของธนาคารออมสินครั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยมติครม.เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2556 ที่อนุมัติให้ขยายกรอบวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 เพิ่มเติมอีก 1.3 แสนล้านบาท จากรอบวงเงินเดิม 5 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงิน

"กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือผ่านสภาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ การปล่อยกู้ให้แก่ธ.ก.ส. โดยแต่ละสถาบันการเงินจะช่วยเหลือสภาพคล่องตามศักยภาพที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของตัวเอง พร้อมกันนี้ก็ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนร่วมปล่อยกู้ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาว่าจะมีธนาคารแห่งใดที่จะปล่อยกู้ให้ได้บ้าง "แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกหลังจากธ.ก.ส.กู้เงินผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ ซึ่งเป็นตลาดเงินกู้ระยะสั้นแล้ว กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาล อายุระหว่าง 3-5 ปีจำหน่ายให้แก่ รัฐวิสาหกิจที่มีสภาพคล่องจำนวนมาก เพื่อระดมเงินมาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นจากตลาดอินเตอร์แบงก์ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 30 วัน เบื้องต้นนายกิตติรัตน์ ได้ประสานกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งไปบ้างแล้ว อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

"ธีระชัย"เตือนธ.ก.ส.ซิกแซกส่อผิดอาญา

นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตถึงการกู้เงินผ่านระบบอินเตอร์แบงก์ของธ.ก.ส.ว่าขณะนี้ ธ.ก.ส .มีสภาพคล่องสำหรับธุรกิจปกติอยู่หลายหมื่นล้านอยู่แล้ว การดิ้นรนไปกู้สภาพคล่องให้บานตะไทออกไปอีก ย่อมอยู่ในข่ายน่าสงสัย ธ.ก.ส. ดำเนินการโครงการนี้ ตามคำสั่งของรัฐบาล จึงต้องแยกบัญชีออก ต่างหากจากธุรกิจปกติอื่นๆ และการกู้ยืมเพื่อโครงการนี้ ก็โดยอนุมัติของกระทรวงการคลัง และมีคลังค้ำประกัน โดยจะมีการเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติก่อนดำเนินการแต่ละครั้ง

ดังนั้น หาก ธ.ก.ส. จะใช้เงินสภาพคล่องที่ ธ.ก.ส. หาเอง ก็จะเป็นการเปลี่ยนวิธีไปจากเดิมและจะไม่แตกต่างจากกรณีก่อนหน้านี้ ที่รัฐมนตรีคลังเคยเรียกร้องให้ ธ.ก.ส. นำเอาสภาพคล่อง ที่มีไว้เพื่อรองรับธุรกิจอื่นๆ ให้เอามาใช้ในโครงการนี้ แต่สหภาพไม่ยอมและเนื่องจากจะไม่มีรัฐบาลค้ำประกัน (มีแต่จดหมายรับรู้การกู้เท่านั้น) ธ.ก.ส. จึงจะต้องเสี่ยงเอาเอง

"วิธีการ คือบอร์ดต้องอนุมัติ หากเกิดเสียหายบอร์ดและผจก. ก็ต้องร่วมกัน หารสั้น หารยาว เฉลี่ยความรับผิดชอบทางแพ่ง แต่ยังมีอีกปัญหา คือที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ไม่เคยมีการโอนรายการ ข้ามจากบัญชีปกติ ไปใช้ในบัญชีนโยบายทางการ ซึ่งแยกต่างหาก หากมีการทำอะไร ที่ผิดแผกแหวกแนวไปจากปกติเดิม ก็จะเข้าข่าย ถูกสงสัย ว่าร่วมมือกับรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดผลดีแก่พรรคร่วมรัฐบาล คราวนี้จะติดกันเป็นพรวน จะมีความผิดอาญาด้วยอีกโสดหนึ่ง"

"วรวิทย์"ปัดคลังค้ำประกัน

ด้านนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยืนยันว่า ธนาคารได้ปล่อยเงินกู้ในตลาดอินเตอร์แบงก์ ให้กับธ.ก.ส.ไปแล้ว 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีกระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันแต่อย่างใด และการปล่อยกู้ครั้งนี้ธนาคารก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว

“เราปล่อยกู้ระหว่างแบงก์กันเองไม่มีฝ่ายที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการให้กู้ตามข้อตกลงระหว่างกลุ่มธนาคารรัฐว่า จะช่วยเหลือสภาพคล่องซึ่งกันและกัน โดยธนาคารออมสินเปิดวงเงินไว้ 2 หมื่นล้านบาท” นายวรวิทย์ กล่าว

แบงก์ออมสินยันคุยสหภาพฯแล้ว

ส่วนปัญหาการต่อต้านจากสหภาพแรงงานธนาคารออมสิน ต่อการปล่อยเงินกู้ให้โครงการรับจำนำข้าวนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่าได้คุยกับสหภาพแรงงานฯแล้ว ถึงการปล่อยกู้ครั้งนี้ โดยยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว แต่เมื่อธนาคารรัฐอื่น มีความเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่องก็ต้องเข้าไปช่วยในตลาดอินเตอร์แบงก์

การปล่อยกู้ในอินเตอร์แบงก์นั้น คิดดอกเบี้ยตามตลาด อายุไม่เกิน 30 วัน ส่วนจะยืดอายุเงินกู้ออกไปหลายๆรอบหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายกิตติรัตน์ ได้สั่งให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ธ.ก.ส. โดยกระทรวงการคลังค้ำในลักษณะ ออกเป็นหนังสือ Letter of comfort ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่แสดงความประสงค์ ที่กระทรวงการคลัง อยากจะค้ำประกัน แต่ยังไม่สามารถทำได้ก็จะพูดให้กำลังใจไว้ก่อน เอาไว้เมื่อพ้นสภาพรักษาการณ์ค่อยออกหนังสือค้ำประกันจริงๆ ภายหลัง

แหล่งข่าวจากธ.ก.ส. กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกิน 1.8 แสนล้านบาท หากต้องหักในส่วนของการดำรงค์เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ตามกฎของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แล้วทางธ.ก.ส.

ก็ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาปล่อยสินเชื่อปกติของธนาคาร

สหภาพธ.ก.ส.ชี้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบผิดกม.

นายประสิทธิ์ พาโฮม ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.กล่าวว่า ทางสหภาพฯจะตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ธนาคารได้เข้าไปกู้เงินอินเตอร์แบงก์กับธนาคารออมสิน โดยคาดว่า จะทราบรายละเอียดที่แท้จริงวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ เพราะเป็นเวลาทำการตามปกติ แต่เท่าที่ตรวจสอบขณะนี้ ยังไม่พบว่า มีเงินโอนเข้ามาหรือจ่ายออกไปสำหรับโครงการจำนำข้าวแต่อย่างใด

เขากล่าวว่า หากธนาคารดำเนินการกู้เงินดังกล่าวจริง จะต้องตรวจสอบว่า กู้ไปดำเนินงานด้านใด เนื่องจาก โดยหลักการของการกู้ลักษณะนี้ คือ กู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ขณะนี้ ธนาคารไม่ได้มีปัญหาด้านสภาพคล่องแต่อย่างใด และ มีกฎหมายใดที่รองรับการกู้และใช้จ่ายเงินตัวนี้ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทางฝ่ายบริหารหรือผู้ที่เข้าไปดำเนินการกู้นั้น จะต้องรับผิดชอบ

"จะต้องดูว่า เงินกู้นี้ มีกฎหมายใดรองรับ และมีความเสี่ยงต่อธนาคารหรือไม่ เพราะการกู้ลักษณะนี้ ธนาคารต้องเสียดอกเบี้ยสูงกว่าปกติ ขณะเดียวกัน ก็ยังกระทบต่อสัดส่วนการกู้ในภาพรวมของธนาคารด้วย"

เสนอรวมใบประทวนทำซิเคียวริไทซ์

นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่าข้อเสนอการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทซ์) เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือนร้อน ถือเป็นข้อเสนอที่ดี ในความเห็นส่วนตัวแล้ว การทำซีเคียวริไทซ์ทำได้ เพียงแต่ไม่ควรนำสต็อกข้าวมาเป็นหลักทรัพย์ในการออกตราสาร แต่ควรใช้หนี้ที่รัฐบาลติดชาวนามาเป็นหลักประกันในการออก คือการนำเอาใบประทวนมาเป็นหลักทรัพย์ในการออกตราสาร

“ความจริงแล้วการที่ชาวนาเอาข้าวไปจำนำคือชาวนาขอกู้ โดยเอาใบประทวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้รัฐบาลหรือธ.ก.ส. เป็นเจ้าหนี้ชาวนา ดังนั้นธ.ก.ส.ควรขายหนี้ส่วนนี้ โดยอาจตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อทำซีเคียวริไทซ์ ถ้าทำแบบนี้ใบประทวนก็จะตามมาพูดง่ายๆคือเอาหนี้ที่อยู่ในรูปใบประทวนมาออกเป็นตราสารซีเคียวริไทซ์ ถ้าทำได้ชาวนาก็อยู่รอดได้”นายนิวัฒน์ กล่าว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การออกขายตราสารชนิดนี้ ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปว่า การทำลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการช่วยรัฐบาลแต่เป็นการช่วยชาวนา โดยเปิดขายให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาซื้อลงทุนได้ หากทำเช่นนี้ได้สถาบันการเงินก็กล้าเข้ามาลงทุนโดยไม่ต้องกลัวความเสี่ยงว่าจะถูกประชาชนแห่ถอนเงิน

“จริงๆแล้วสาเหตุที่แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ให้รัฐบาลมี 2 เรื่องหลัก คือเกรงว่าจะมีความเสี่ยงในแง่กฎหมาย กับความกลัวเรื่องกระแสสังคม กลัวว่าคนจะแห่ถอนเงิน ดังนั้นต้องแก้ 2 ปัญหานี้ ให้ได้ถึงจะถึงให้สถาบันการเงินกล้ามาลงทุน เพราะหากดึงให้คนทั่วไปร่วมลงทุนโดยมองว่าเป็นการช่วยชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้ช่วยรัฐบาล ผมเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีขึ้น ประชาชนไม่ว่าจะอยู่สีเหลืองหรือสีแดงก็สามารถลงทุนเพื่อช่วยชาวนาได้”นายนิวัฒน์ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view