สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุมเข้มห้ามทำนาปรังรอบ2 ผวาภัยแล้ง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เกษตรฯหวั่นปัญหาภัยแล้ง คุมเข้มเกษตรกรห้ามทำ"นาปรัง"รอบ2

จากสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2555/56 โดยปี 2556/57 มีปริมาณน้ำในอ่างน้อยกว่าถึง 3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายห้ามทำนาปรังรอบที่ 2 อย่างจริงจัง

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้ประกาศให้ชาวนา โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยารับทราบเบื้องต้นแล้ว และจากการที่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว จะส่งผลให้ขาดเงินลงทุนในการทำนาปรังรอบที่ 2 นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม จากภัยหนาวที่เกิดขึ้นปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 พบว่าข้าวนาปรังรอบแรกออกรวงล่าช้า จึงต้องเลื่อนการเกี่ยวออกไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งจังหวะที่น้ำเค็มขึ้นสูง กรมชลประทานจึงปล่อยน้ำเพิ่มเพื่อไล่น้ำเค็มและรักษาสภาพแวดล้อม เพื่อรักษาพื้นที่นาปรังเหล่านี้ โดยเป็นการนำน้ำในอนาคตไปใช้ก่อนประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีพื้นที่นาปรังบางส่วนที่เริ่มเกี่ยวข้าวไปบ้างแล้ว เมื่อเห็นน้ำไหลผ่านพบว่ามีการสูบน้ำเหล่านี้เพื่อทำนาปรังรอบที่ 2 เป็นปัญหาให้กรมชลประทานต้องปล่อยน้ำเพิ่ม

ทั้งนี้ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานตั้งทีมเจรจากับชาวนาในพื้นที่เพื่อให้เลิกพฤติกรรม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และประชาสัมพันธ์ให้เลิกปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 อย่างจริงจัง เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่ข้าวจะตายคานา และชาวนาจะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาล

"นาปรังรอบแรกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาขณะนี้มีประมาณ 8 ล้านไร่ เกินแผนที่กำหนดไว้กว่าเท่าตัว ซึ่งกรมชลประทานปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงได้ทั้งหมด จึงไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากภัยแล้ง คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้ และคาดว่าจะได้ผลผลิต 6-7 ล้านตัน"

ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ พบว่าด้านพืชได้รับความเสียหายมากที่สุดใน 5 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่น บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ซึ่งภาครัฐได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือแล้ว มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 52,010 ราย พื้นที่ประสบภัยเป็นข้าว 376,464 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 23,519 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย ส่วนใหญ่เป็นข้าว 148,272 ไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือ 165.03 ล้านบาท อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารและนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.)

ทั้งนี้ ตามแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้ง ปี 2556/57 มีปริมาตรน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ 3.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยวางแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจำนวน 2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรตามลำดับความสำคัญ คือ เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,921 ล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,748 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เกษตรกรรม 12,654 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุตสาหกรรม 243 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับการจัดสรรน้ำดังกล่าว เป็นการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 5.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 3 พันล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 600 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักฯ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร และลุ่มน้ำแม่กลอง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นเพื่อการอุปโภค - บริโภค 1.1 พันล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1. พันล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อการเกษตร 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร

"ผลการจัดสรรน้ำดังกล่าวปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 10,662 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 52% ของแผน ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำใช้ได้ 5.3 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีการใช้ไปแล้ว 3,641 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 69% ของแผนจัดสรรน้ำ"

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ประกาศแจ้งให้เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทราบแล้วว่าตั้งแต่ต้นเดือนก.พ.2557 จะระบายน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภคและบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยาปีนี้อยู่ในเกณฑ์น้อย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view