สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการแนะขายข้าวถูกระบายสต๊อก

จาก โพสต์ทูเดย์

นักวิชาการ ชี้ 10 ปี ไทยแทรกแซงตลาดข้าว 1.5 ล้านล้านบาท เป็นของรัฐบาลปัจจุบันมากถึง 7 แสนล้านบาท แต่ชาวนายังจนต่อ แนะรัฐขายข้าวถูกระบายสต๊อก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณในการแทรกแซงตลาดข้าวกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และรัฐบาลชุดนี้ได้ไช้เงินไปมากที่สุดกว่า 7 แสนล้านบาท หรือกว่า  50% ของงบประมาณที่เคยใช้มา ขณะที่การระบายข้าวก็ทำไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ไม่มีเงินมาคืนชาวนา จนทำให้มีการออกมาประท้วงรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นคำตอบของนโยบายประชานิยมที่ต้องการคะแนนจากการเลือกตั้ง  ซึ่งมีการคาดการณ์ไว้แต่แรกแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งวิธีการที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้เฉพาะหน้าก็คือการระบายข้าวขาดทุน หรือต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป

ทั้งนี้ หากสต๊อกข้าวในโครงการรับจำนำมีอยู่ 18 ล้าตัน ก็เท่ากับว่ารัฐบาลใช้เงินซื้อข้าวมาเก็บไว้ในโกดังประมาณ 4 แสนล้านบาท  ซึ่งเป็นราคาที่สูง แต่หากต้องการระบายข้าวออกไปเร็วที่สุด ก็ต้องยอมระบายออกไปในราคาต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไป  เพราะราคาข้าวจากประเทศคู่แข่งก็ไม่ได้สูง และหากไทยจะมีการระบายข้าว ประเทศคู่แข่งก็จะลดราคาให้ต่ำกว่าไทยได้อีก ดังนั้นจึงเป็นได้ว่าหากมีการระบายข้าวราคาข้าวไทยจะอยู่ที่ประมาณตันละ  350 เหรียญสหรัฐ เพราะราคาข้าวเวียดนามอยู่ที่ประมาณตันละ 400  เหรียญสหรัฐ ทำให้รัฐบาลได้เงินคืนมาจ่ายให้ชาวนาประมาณ 2 แสนล้านบาท  แต่หากรอให้ราคาที่ดีใกล้เคียงกับราคารับจำนำ ก็อาจจะใช้เวลานานกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตาม การระบายต้องดำเนินการระบายเป็นล็อตใหญ่ และต้องทำอย่างโปรงใสในทุกรูปแบบ ทั้งการระบายแบบเปิดประมูลทั่วไป และการระบายแบบรัฐต่อรัฐ  รวมทั้งให้ภาคเอกชนผู้ส่งออกข้าว โรงสี เข้ามามีส่วนร่วมในการระบายข้าวโดยต้องทำอย่างโปร่งใส

นายอัทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาจากหน่วยงานวิชาการต่างๆมาตลอด ว่าสินค้าข้าวไทยเป็นสินค้าดาวร่วง เพราะมีปัจจัยลบหลายด้านคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2549 ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 4,000 บาทต่อไร่ แต่ในปี  2555 ต้นทุนเพิ่มเป็น 9,000 บาทต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 4,000 บาท คิดเป็น 60%  ขณะที่เวียดนามยังอยู่ที่ 4,000 บาทต่อไร่  ทั้งนี้ตนเห็นว่าไม่ควรมีนโยบายในลักษณะการรับจำนำหรือแทรกแซงตลาดข้าวหรือสินค้าเกษตรอีก แต่ควรมีนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบอื่นๆแทน

“จากการที่รัฐบาลดำเนินการโครงการรับจำนำมา ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้กับชาวนาไม่ได้ ที่บอกว่ารับจำนำแล้วทำให้รายได้ชาวนาสูงขึ้นนั้น ก็เป็นการมองด้านเดียวเพราะต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นตามไปด้วย ชาวนาไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมจนต้องออกมาประท้วงอย่างที่เป็นอยู่” นายอัทธ์ กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวนา 20 จังหวัด วันที่สองของการมาร่วมชุมนุม หลังเคลื่อนขบวนจากบริเวณแยกวังมะนาว  อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา  มีการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจากจังหวัดนนทบุรีกว่า 1 กองร้อย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกระทรวง ขณะที่เจ้าหน้าที่ข้าราชการยังคงเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง กองอาสารักษาดินแดนของจังหวัดนนทบุรี เปลี่ยนผลัดครั้งละ 5 นาย ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่กลุ่มชาวนาประชาชนทั่วไป ได้มีการขนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม เข้ามาไว้ให้บริการกลุ่มผู้ชุมนุมต่อเนื่อง โดยทางเจ้าหน้าที่กระทรวงฯได้อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาภายในรั้วของกระทรวงพาณิชย์บริเวณฝั่งประตูทางเข้า 1

นอกจากนี้ ในการเดินขบวนรอบถนนสนามบินน้ำในวันนี้ ได้มีตลกชื่อดัง หยอง ลูกหยี นำขบวนชาวนา และกปปส.นนทบุรี ออกปราศรัยให้ชาวนนทบุรีได้รับฟังปัญหาของชาวนาผ่านเครื่องขยายเสียงด้วย.


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view