สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนพิจิตรร้องเหมืองทองอัครา บ่อทิ้งเคมีรั่วจี้ ก.อุตฯตรวจสอบ

จากประชาชาติธุรกิจ

ชาวบ้านทับคล้อ จ.พิจิตร ร้องเหมืองแร่ทองคำ บ.อัครา รีซอร์สเซสฯ กระทบสิ่งแวดล้อม-สุขภาพคนในพื้นที่่อย่างหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล กระทุ้ง 4 เรื่องหลักจัดการระบบบ่อทิ้งกากใหม่ จี้หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ต้องกำกับดูแลเข้มขึ้น ศึกษาโมเดลสัมปทานที่ดีนำมาร่างเกณฑ์พิจารณาสัมปทานใหม่

น.ส.ชนัญชิดา ฉากกลาง ตัวแทนจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นยังคงได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องจากการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหมืองดังกล่าวเริ่มดำเนินกิจการได้อย่างไรทั้งที่ยังไม่มีการจัดทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้แล้วเสร็จก่อนพัฒนา สะท้อนการบริหารจัดการพื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น บ่อทิ้งกากเคมีรวม 2 บ่อ รวมพื้นที่ 2,000 ไร่ รูปแบบของบ่อทิ้งไม่มีการขุดเจาะลงไป เป็นเพียงการวางทิ้งทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ และพบการรั่วไหลของสารไซยาไนด์และโลหะหนัก มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น และในช่วงฤดูฝนจะเกิดภาวะฝนกรดในพื้นที่ด้วย



โดยไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากบริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ หรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากปัญหาดังกล่าว ประชาชนในพื้นที่จึงต้องการเรียกร้องใน 4 ประเด็น คือ 1) ต้องการให้บริษัทอัคราฯ จัดการกับระบบบ่อทิ้งกากแร่ให้ดีขึ้น 2) ภาครัฐควรลงพื้นที่ตรวจสอบจริงจัง ไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะในเหมือง ควรครอบคลุมการตรวจสอบในชุมชน เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงของปัญหา 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้สัมปทานเหมืองแร่ ต้องปรับแก้เกณฑ์ควบคุมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้น และ 4) ควรมีการศึกษากิจการสัมปทานเหมืองแร่ที่ดี เพื่อนำมาเป็น "โมเดล" สำหรับการร่างกฎเกณฑ์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่ในอนาคต

"มันไม่ใช่ครั้งแรกที่ร้องเรียน นับตั้งแต่อัครา รีซอร์สเซสฯ เริ่มทำเหมือง มีการร้องเรียนตลอด ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมจังหวัดและกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการแก้ไขปัญหาจริงจัง และปัญหายิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเหมืองแร่ทองคำนี้ดำเนินการไปกว่า 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันพบว่ามีการเจ็บป่วยทั้งโรคผิวหนัง ภูมิแพ้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ และโรคมะเร็งมากขึ้น"

นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวยอมรับว่ามีชาวบ้านในแต่ละพื้นที่รอบสัมปทานเหมืองแร่ทองคำร้องเรียนปัญหาเข้ามาและพยายามติดตามข้อเท็จจริงของปัญหา แต่หน้าที่หลักของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ นั้นมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการเหมืองแร่เท่านั้น ในส่วนหน้าที่การดูแลและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้ประสานงานต่อเนื่องเพื่อหาวิธีการดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view