สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อุปสรรคธุรกิจโซลาร์เซลล์ ใบอนุญาต รง.4-สายส่งเต็ม

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พยายามผลักดันให้ใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็น One Stop Service ภายในจุดเดียว คือ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถูกจำกัดความว่าเป็นโรงงาน อุตสาหกรรม ฉะนั้นนอกจากจะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานแล้ว ยังต้องขอใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันมีปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้

นางปัทมา วงษ์ถ้วยทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโซลาร์เซลล์ พยายามผลักดันให้มีการแก้ปัญหาในประเด็นขอใบอนุญาตตั้งแต่ต้นทางของปัญหา คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ที่จำกัดความโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในความเป็นจริงมองว่าในโครงการโซลาร์เซลล์ไม่ควรเข้าข่ายโรงงาน และไม่ส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เมื่อคำจำกัดความระบุว่าเป็นโรงงาน ยังต้องเจอประเด็นกฎหมายผังเมืองของกระทรวงมหาดไทยว่า "ห้าม" ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สีเขียวด้วย แม้ว่าจะเป็นพลังงานสะอาดและไม่มีมลพิษก็ตาม

ขณะนี้ผู้ที่ได้รับอนุมัติจากโครงการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) รวม 200 เมกะวัตต์ก่อนหน้านี้ จะถูกเลื่อนการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในช่วงปลายปี 2557 แทน เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของการพิจารณาใบอนุญาต รง.4 แต่ผู้ประกอบการมองว่า เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้อธิบายว่า กรณีที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะต้องขอใบอนุญาต รง.4 นั้น เนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างกังวลในประเด็นของการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุในอนาคต หากไม่มี พ.ร.บ.โรงงานฯกำกับดูแลอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นขยะอันตรายได้หากไม่มีการกำกับดูแลขั้นตอนการกำจัดหรือรีไซเคิลที่ดีพอ

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องใบอนุญาต รง.4 แล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจโซลาร์เซลล์ยังต้องเผชิญปัญหาสายส่งไฟฟ้าในบางพื้นที่เต็ม จนไม่สามารถรับปริมาณไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีศักยภาพของแสงแดด และมีผู้ประกอบการสนใจที่จะลงทุนพัฒนา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าให้เหตุผลว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาสายส่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถรับไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ในปี 2559 จึงต้องหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ในประเด็นนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีหนังสือเสนอแนวทางแก้ไขมายัง กฟผ.และกระทรวงพลังงานก่อนหน้านี้ เพื่อแก้ปัญหาของผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์คือ 1) ให้รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ "Generator Shading"หรือ การรับซื้อไฟฟ้าเป็นช่วงเวลา 2) กฟผ.จะต้องมีมาตรการทบทวนและยกเลิกโครงการ SPP และ VSPP ที่เลยกำหนด COD และไม่มีความคืบหน้าของโครงการ เพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าบนสายส่งสอดคล้องกับสถานการณ์จริง และ 3) การแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดควรวางแผนร่วมกัน เพื่อให้มีความสอดคล้องทั้งหน่วยงานรับซื้อไฟฟ้า และหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย เพื่อให้มีความสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ทั้งนี้ หากไม่มีการแก้ไขปัญหาสายส่งให้เสร็จในปี 2558 อาจจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view