สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าว-ชาวนาร่ำไห้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ชินวัฒน์ สิงหะ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.แรงกดดันจากข้าราชการระดับสูงจำนวนหนึ่งกับมวลชนคนเสื้อแดงทำให้แกนนำกลุ่มชาวนาจาก อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ชุมนุมเรียกร้องเงินจำนำข้าว ต้องยอมประกาศสลายการชุมนุมปิดถนนบริเวณสี่แยกอินโดจีน ต.สมอแข อ.เมือง จ.พิษณุโลก ท่ามกลางคราบน้ำตาของชาวนาและเสียงตะโกนระบายความทุกข์ว่า “โครงการประชานิยม” กลายเป็น “โครงการประชาระทม”

"ชาตรี อ่ำพูล" แกนนำชาวนาจากอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาต้องจำใจประกาศให้ชาวนากว่า 300 คนปักหลักชุมนุมปิดบริเวณสี่แยกอินโดจีนสลายการชุมนุมหลัง ร.อ.อุบล พุทธรักษื ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลกเข้ามาเจรจาพร้อมรับปากจะได้รับเงินอย่างแน่นอนไม่เกินเดือนมี.ค.นี้ แต่ในใจลึกๆแล้วชาวนาส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะได้รับเงินดังที่กล่าวอ้างเพราะก่อนหน้านี้ ระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.พิษณุโลกก็เคยรับปากแล้วรับปากอีกว่าจะได้วันนั้นวันนี้ท้ายที่สุดชาวนายังรอเก้อไร้คำตอบที่ชัดเจน
 
"ชาวนาส่วนใหญ่อยากให้ผมเป็นแกนนำนำชาวนาปักหลักปิดบริเวณสี่แยกอินโดจีนจนกว่าจะได้เงิน แต่หลังจากได้โทรศัพท์จากภรรยาบอกว่าคนในครอบครัวกำลังถูกข่มขู่คุกคามทำร้ายจากกลุ่มคนเสื้อแดง หากผมยังดื้อนำชาวนาเรียกร้องเงินจำนำข้าวจากรัฐบาลอยู่ ไม่เพียงแค่นั้นผู้นำท้องถิ่นยังได้รับคำสั่งจากข้าราชการระดับสูงเข้ามาบีบกดดันให้ยกเลิกเป็นแกนนำและพาม็อบชาวนาสลายตัว ใจหนึ่งก็อยากจะนำพาชาวนาต่อสู้ให้ถึงที่สุดแต่หากยังยืนหยัดต่อสู้ตามลำพังทั้งผม และกลุ่มชาวนาคงไม่ปลอดภัยในชีวิตอย่างแน่นอน ทำให้จำใจต้องประกาศสลายชุมนุมในที่สุด"ชาตรี ระบุ

เขากล่าวอีกว่า ขณะนี้ชาวนาเดือดร้อนจริงๆ และการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง การออกมาประท้วงรัฐบาลเนื่องจากจำนำข้าวมานานกว่า 4 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้เงินจากรัฐบาลและไม่มีกำหนดเวลาว่าจะได้รับเมื่อไหร่ทำให้ชาวนาต่างติดหนี้ติดสินกันทุกครัวเรือน บางครอบครัวถึงขั้นไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน ไม่มีเงินซื้ออาหารกินในครอบครัวเพราะข้าวที่เก็บเกี่ยวทั้งหมดนำเข้าร่วมโครงการจำนำทั้งหมด

"ชาวนาทุกคนต่างก็หวังว่าจะได้เงินจากจำนำข้าวงวดนี้นำเงินไปลงทุนทำนารอบต่อไปเพื่อต่อยอดชีวิตชาวนาเหมือนครั้งที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าว ทางออกของชาวนาคือปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจความทุกข์ร้อนของชาวนาบ้าง"

เช่นเดียวกับ "วราภรณ์ กัญญา" ชาวนา อ.พรหมพิราม ที่สะท้อนว่า ครอบครัวเธอทำนามาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ หลังจากแต่งงาน ครอบครัวยึดอาชีพทำชาวนาเป็นหลัก โดยเช่าที่นาจากนายทุนจำนวน 40 ไร่ เสียค่าเช่าต่อไร่ 3,000 บาท ต่อปี  เนื่องจากหวังว่าโครงการจำนำข้าวจะช่วยพลิกชีวิตชาวนาได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง ไม่แตกต่างจากพ่อแม่ก็เช่าที่นาจากนายทุนจำนวน 150 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำนาขาดทุนบ้าง เสียหายจากธรรมชาติบ้าง แต่ก็ยังพอมีกินมีใช้ 

อย่างไรก็ตามการทำนายุคนี้มีต้นทุนเยอะมา เท่าที่คำนวณต้นทุนการทำนา 40 ไร่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายปุ๋ย ยา 80,000 บาท  ค่าเช่านาไร่ละ 81,0000 บาท   ค่าน้ำมันดึงน้ำเข้านาอีกครั้งไม่ต่ำกว่า 7,000 บาท  ความหวังจากการนำข้าวไปจำนำไว้หวังว่าจะได้เงินประมาณ 329,000 บาท แต่กลับผิดหวัง

“โครงการจำนำข้าวสร้างสวรรค์ให้กับชาวนาแต่แล้วสวรรค์ล่มกลางท้องนา ทำนาได้ข้าวเมื่อนำไปจำนำกลับได้แต่ใบประทวน ทำให้ทุกข์ช้ำเติมชาวนาเข้าอีกเพราะไม่รู้ว่าจะได้เงินเมื่อไหร่แถมยังต้องติดหนี้สินพะรุงพะรังทั้งในระบบและนอกรอบบ ตอนนี้ไร้ชาวนาทุกข์ระทมจริงๆไม่รู้พึงใคร ร้องหน่วยงานรัฐช่วยเหลือเรื่องเงียบหายเข้ากลีบเมฆ ขณะชาวนาปิดถนนยังถูกข่มขู่ทำร้าย”วรภรณ์กล่าว

เธอยืนยันว่า วันนี้ชาวนาต่างเดือดร้อนกันทั่วหน้าไม่มีเงินซื้อกับข้าว เงินให้ลูกไปกินขนมที่โรงเรียน ต้องไปกู้เงินนอกระบบยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท ไม่กู้ก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงินเหลือเลย วันนี้ชาวนาทุกข์หนักจริงๆ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view