สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวนาสุดช้ำฝนตกไม่ทั่วฟ้า แฉรัฐบาลเลือกจ่ายพวกตัวเอง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ชาวนาสุดช้ำฝนตกไม่ทั่วฟ้า แฉรัฐบาลเลือกจ่ายพวกตัวเอง

       ฝนตกไม่ทั่วฟ้า จำนำข้าวเชียงใหม่จ่ายครบ แฉ! ตัวเลข ธกส.ค้างเงินชาวนา พบเหนือตอนล่าง/อีสาน ค้างอื้อ! "ปู-แม้ว"ไม่ต่างกัน สอดรับคำพูด "แม้ว"ปี48 "จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ" ด้านเงินกู้ 1.3 แสนล้าน ทำขรก.ไม่กล้าเซ็นค้ำเงินกู้ ผวาโทษ! แทนนักการเมือง
       
       ถ้าเป็นพวกโลกสวย ก็จะดีใจกับข่าวที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาล ปี2555/2556 และ โครงการรับจำนำ 2556/57 ให้กับชาวนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีมูลค่ายอดรับจำนำกว่าพันล้านบาทแล้ว
       
       ขณะที่พื้นที่อีสาน ชาวนาก็ยกเลิกปิดถนนมิตรภาพ เพราะผู้ว่าฯโคราช กล่อมชาวนาว่า จะบอกให้รัฐบาล จ่ายเงินให้อย่างช้าวันที่ 3 ก.พ.นี้ ส่วนภาคเหนือตอนล่าง อย่าง นครสวรรค์ หรือ พิษณุโลก ชาวนาก็ไม่ปิดถนนเช่นกันจะกลับมาอีกครั้ง ก็สิ้นเดือนมกราคม
       
       แต่ที่ต้องแปลกใจ เพราะหลังจาก “นายจำรัส ลุมมา” ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาใน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า "ใน ส่วนของชาวนา จ.เชียงใหม่ไม่ได้เคลื่อนไหวชุมนุม เพราะในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับเงินเกือบหมดแล้ว โดยยังคงเหลือเงินที่รอการทยอยจ่ายให้ชาวนาเชียงใหม่อีก 5-6 ล้านบาทเท่านั้น จากยอดเงินรับจำนำข้าวทั้งหมดของเชียงใหม่ที่สูงเป็นพันล้านบาท ถือว่าเหลือคงค้างเป็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
       
       แตกต่างกับข่าว กรณีชาวนาที่เป็นหนี้สุมหัว ผูกคอตาย เครียดตายไปก่อนหน้านี้ หรือแตกต่างกับกรณีชาวนา ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ทวงเงินค่าข้าวที่เขาเอาไปจำนำไว้กับรัฐบาล แต่สุดท้ายต้องถูกแกนนำเสื้อแดง นักการเมืองท้องถิ่น ข่มขู่ นี่หรือสิ่งที่ชาวนาได้รับจากการที่พวกเขาออกมาทวงสิทธิ์ที่เขาควรได้รับ เป็นรัฐบาลที่ทรยศความไว้วางใจของประชาชน
       
       ผู้สื่อข่าว ASTV ผู้จัดการ ตรวจสอบที่มาของเงินที่ “ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน”อ้างข้างต้น พบว่า น่าจะเป็นเงิน ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดไว้เพื่อจ่ายเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการได้รับการจ่ายเงินล่า ช้า โดยมีการจ่ายเงินจำนำข้าวไปได้แล้ว 5.4 หมื่นล้านบาท
       
       โดยยังเหลือประมาณพันล้านบาทที่ต้องสำรองไว้ โดยธ.ก.ส.ยังไม่กล้าเบิกจ่ายออกไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกินเพดาน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการเยียวยา คือ การปล่อยกู้เสริมสภาพคล่องวงเงินหมื่นล้านบาท โดยให้กู้แต่ละรายไม่เกินร้อยละ 20 ของมูลค่าใบประทวน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 7 ส่วนรายไดทีปัญหากรชำระหนี้เดิม จะผ่อนผันยืดเวลาการจ่ายหนี้ให้ 1 ปี โดยไม่คิดค่าปรับ
       
       • ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เหนือตอนล่าง/อีสานค้างอื้อ!
       
       ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ ยังตรวจสอบ“ข้อมูลจากธ.ก.ส.” เป็นตัวเลขวงเงิน โดยเฉพาะ ที่รัฐบาลได้จ่าย และค้างจ่ายให้กับชาวนา ได้แก่
       ภาคเหนือตอนล่าง
       จ. นครสวรรค์ จ่ายเงินไปแล้ว 1.7 พันล้านบาท ยังค้างจ่ายอีกกว่า 8.5 พันล้านบาท
       จ.กำแพงเพชร จ่ายเงินไปแล้ว 1.8 พันล้านบาท ยังค้างจ่าย 7.9 พันล้านบาท
       จ.พิจิตร จ่ายเงินไปแล้ว 1.3 พันล้านบาท ยังค้างจ่าย 7.4 พันล้านบาท
       จ.พิษณุโลก จ่ายเงินไปแล้ว 1.2 พันล้านบาท ยังค้างจ่าย 6.6 พันล้านบาท
       จ.สุโขทัย จ่ายเงินไปแล้ว 736 ล้านบาท ยังค้างจ่าย 4.3 พันล้านบาท
       
       ภาคอีสาน
       จ.อุบลราชธานี จ่ายเงินไปแล้ว 1.4 พันล้านบาท ยังค้างจ่าย 6.9 พันล้านบาท
       จ.สุรินทร์ จ่ายเงินไปแล้ว 942 ล้านบาท ยังค้างจ่าย 5.7 พันล้านบาท
       จ.นครราชสีมา จ่ายเงินไปแล้ว 874 ล้านบาท ยังค้างจ่าย 5.1 พันล้านบาท
       จ.ศรีสะเกษ จ่ายเงินไปแล้ว 605 ล้านบาท ยังค้างจ่าย 4.3 พันล้านบาท
       จ.กาฬสินธุ์ จ่ายเงินไปแล้ว 1.6 พันล้านบาท ยังค้างจ่ายอีก 3.8 พันล้านบาท
       
       


       
       โดยมีมีปริมาณข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 10.64 ล้านตัน ได้ออกใบประทวนไปแล้ว 1.84 ล้านใบ โดยทาง ธ.ก.ส. รายงานผล ณ วันที่ 19 มกราคม 2557 ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 4.07 แสนราย จำนวน 4.56 แสนสัญญา เป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยังค้างอีกนับแสนล้านบาท
       
       ในภาคอีสาน นำข้าวเข้าร่วมโครงการมากที่สุด จำนวน 9.8 แสนสัญญา รองลงมาเป็นภาคเหนือ 5.8 แสนสัญญา โดยจะสิ้นสุด 28 กุมภาพันธ์ 2557
       
       ตัวเลขข้างต้นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจาก ธ.ก.ส. การที่มีการระบุว่า ได้รับเงินจำนำข้าวครบแล้ว จึงกล่าวได้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน ฝนตกไม่ทั่วฟ้า
       
       รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เลย หากจำกันได้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ ของพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2548 มีคำพูดหนึ่งของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ปราศัยไว้
       
       “ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่เราต้องดูแลคนทั้งประเทศด้วย แต่เวลาจำกัด ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่เราได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง ไม่ใช่ไม่ไป คิวต้องเรียงอย่างนี้ ผมเป็นคนพูดตรงไปตรงมา เปิดเผย สื่อมวลชนอยู่ต้องเปิดเผย ไม่มีความลับสำหรับผม วันนี้คิดกับประชาชนอย่างไร ก็อยากเห็นคนทั้งประเทศไม่ว่าอยู่ที่ไหน เลือกหรือไม่เลือกผม ก็อยากให้ทุกคนหายจน แต่เนื่องจากเวลาจำกัดก็ต้องไล่ลำดับกันไป แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำเหมือนกันหมดทั่วประเทศ”
       
       เมื่อนำมาเทียบกับ โครงการรับจำนำข้าว ในปัจจุบัน ตามตรรกะแล้ว ใน จ.เชียงใหม่ ก็ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในช่วงการเลือกตั้ง
       
       รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันนี้ จึงต้องดูแลชาวนา ในฐานเสียงเป็นพิเศษเช่นกัน
       
       • ขรก.รับบาปไม่กล้าเซ็นค้ำเงินกู้ผวาโทษ!
       
       ผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการ ยังตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว ปีรับจำนำ 2555/2556 พบว่า รัฐบาลได้พยายามที่จะหาวิธีการกู้เงินจำนวนกว่า 1.3 แสนล้านบาท เพื่อใช้หนี้รับจำนำข้าวให้เกษตรกรที่ค้าง โดยในส่วนของเงินโครงการ ในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเงินที่อาจจะจ่ายได้อีกแค่ 1 พันล้าน รัฐบาลมีข่าวกับสถาบันการเงินหลายแห่ง แต่ก็ต้องจับตาดูว่า ธนาคารไหนจะกล้า ปล่อยกู้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ม.ค.57 ที่สโมสรกองทัพบก น.ส.ยิ่งลักษณ ชินวัตร นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือแม้รัฐมนตรีพาณิชย์ อย่าง นายนิวัฒน์ ธำรงบุญทรงไพศาล ไม่มีใครกล้าจะเซ็น
       
       มีกระแสข่าวจากกระทรวงการคลัง ว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการคลังถึงการค้ำประกันเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อไปจ่ายชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่ารัฐบาลทำได้เพราะเป็น โครงการต่อเนื่อง
       
       หรือแม้แต่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ด้านภารกิจหนี้สินและรายจ่าย และนางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ยืนยันกับนายรังสรรค์ว่า สามารถกู้เงินดังกล่าวได้ เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลทำมาต่อเนื่องไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่อย่างไรก็ตามจากที่หารือในที่ประชุมดังกล่าวไม่มีใครตอบรับว่า ใครจะเป็นผู้ลงนามเซ็นค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวในกรณีที่มีการดำเนินการกู้ เงินดังกล่าวจริงๆ
       
       เพราะตามกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จะเป็นหน้าที่ของ รมว.คลัง เป็นผู้มีอำนาจเซ็นค้ำประกันเงินกู้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะ รัฐมนตรี(ครม.) แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา รมว.คลัง ได้มอบอำนาจให้ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นผู้ลงนาม โดยปลัดกระทรวงการคลัง ก็จะมอบอำนาจให้รองปลัดที่ดูแลด้านภารกิจการด้านหนี้และรายจ่าย หรือ ผอ.สบน. เป็นผู้ลงนาม
       
       ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การค้ำประกันเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ให้กับ ธกส. ควรที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง ระบุให้ชัดเจนว่าจะนำไปใช้ในเรื่องใด เพราะหากดำเนินการโดยไม่รัดกุม ก็อาจทำให้กลายเป็นผู้กระทำความผิดไปด้วย
       
       เนื่องจากการชำระเงินให้แก่เกษตรกรที่ค้าง จะทำให้เกิดผลดีแก่พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องจะมีหลายล้านคนทั้งตัวเกษตรกรเอง และบุคคลในครอบครัว รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการรับจำนำข้าวด้วย
       
       ดังนั้น ผู้ดำเนินการ อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 181 (3) มาตรา 181 (4) โดยสรุป เรื่องนี้ไม่มีใครกล้าเซ็นแน่!


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view