สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โต้ง แห้ว! กกต.ไร้อำนาจอนุมัติกู้เงินจำนำข้าว-โยนรัฐพิจารณาเอง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

กกต.ตีกลับแผนกู้เงิน 1.3 แสนล้านชำระหนี้ชาวนา ชี้ไม่อยู่ในอำนาจ แต่เป็นดุลยพินิจรัฐที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบเอง ย้ำมาตรา 181 (3) เป็นข้อห้ามเด็ดขาดไม่มียกเว้น
       
       วันนี้ (21 ม.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต.แถลงภายหลังการประชุมกกต.ว่าที่ประชุมกกต.ได้มีการพิจารณากรณี รัฐบาลส่งหนังสือขอหารือตามที่กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงแผนการบริหาร หนี้สาธารณะประจำปี 2557ซึ่งจะมีการขอให้กกต.พิจารณาอนุมัติกู้เงินวงเงิน 1.3 แสนล้านเพื่อนำไปชาระหนี้ให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ตามมาตรา 181 ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งกกต.เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ให้อำนาจกกต.พิจารณาอนุมัติได้ใน 3วงเล็บที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การใช้งบกลางฉุกเฉิน และการใช้ทรัพยากรของรัฐ แต่ในเรื่องของการปรับปรุงแผนบริหาร
       
       เลขาธิการ กกต. กล่าวต่อว่า กกต.ยังได้พิจารณาแผนการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2557 โดยเชิญนายกิตติรัตน์มาชี้แจง และมีความเห็นว่า กกต.มีอำนาจให้ความเห็นชอบเฉพาะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ( 1 ) (2 ) และ ( 4) เท่านั้น การที่นายกิตติรัตน์เสนอแผนปรับปรุงหนี้สาธารณะไม่เกินกรอบวงเงินที่ได้รับ อนุมัติจาก ครม.ที่อนุมัติเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 56 กกต.เห็นว่าการเสนอแผนปรับปรุงหนี้ครั้งที่ 1 นี้ถือเป็นการปรับเปลี่ยนแผนระหว่างปี โดยไม่เกินวงเงินที่ครม.ได้อนุมัติ ซึ่งส่วนนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะที่จะดำเนินการ ได้ตามมาตรา 35 (2)ของ พ.ร.บ. บริหารหนี้สาธารณะ 2548 จึงไม่เข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา181 (1) และ (2) และ (4) ที่อยู่ในอำนาจของกกต.จะพิจารณา ประกอบมาตรา 10 ( 6) พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2550 และระเบียบของกกต.ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดที่จะมีผลต่อการเลือกตั้ง 2551
       
       ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) ระบุว่า ไม่ให้คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรักษาการไม่ดำเนินการอันมีผลเป็นอนุมัติโครงการหรือเป็นผลสร้าง ความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป กกต.เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อห้ามเด็ดขาด มิได้กำหนดให้ยกเว้น และมิได้กำหนดให้กกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนั้นการขอให้กกต.ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของกกต.หากรัฐบาลจะดำเนินการก็ขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของรัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดย องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือ ละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและทางการเมือง
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวแตกต่างจากเรื่องที่รัฐบาลขออนุมัติงดเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพ สามติน้ำมันดีเซล ที่กกต.ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้อย่างไร นายภุชงค์ กล่าวว่า กรณีการตรึงอัตราน้ำดีเซลเป็นการของดเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ทำมา ตั้งแต่ปี 52 โดยกรมสรรพสามิตดำเนินการมาตลอดในทุกเดือน ซี่งไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันรัฐบาล
       
       นายภุชงค์ ยังแถลงด้วยในการประชุมกกต.วันนี้ที่ประชุมยังพิจารณาร่างประกาศกระทรวงการ คลัง เรื่องการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการของตรึง ราคาในวันที่ 31 ม.ค. นี้ โดยกระทรวงการคลังเกรงว่าจะเป็นภาระให้กับกกต.ในการที่จะต้องมาพิจารณาในทุก เดือนจึงเสนอขอให้กกต.เห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 เดือนคือตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. -30 เม.ย. แต่กกต.เห็นว่ากกต.เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.โดยเห็นชอบอนุมัติให้ครั้งละ 1 เดือน เพราะโครงการนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 52 และกรมสรรพสามิตก็ดำเนินการขอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในทุกๆ เดือน กกต.จึงมีมติว่า กรณีดังกล่าวต้องขออนุมัติเป็นรายเดือนครั้งนี้จึงอนุมัติให้ขยายเวลาลดภาษี สรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 -28 ก.พ.
       
       ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีกกต.ไม่พิจารณาเรื่องกรอบเงินกู้โครงการจำนำข้าวว่า เป็นมติเอกฉันท์ของกกต. เนื่องจากรัฐธรรนูญ 181 (3) ชี้ชัด เมื่อผูกพันรัฐบาลหน้ากกต.ก็ไม่มีอำนาจอนุมัติให้ได้ จึงอยู่ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจเองว่าจะเดินหน้ากู้หรือไม่ แต่ข้อซักถามของ กกต. นายกิตติรัตน์ ณ. ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอบชัดใช้หนี้ไม่ทันในช่วงรักษาการณ์แน่ และข้าวที่มีอยู่กว่าจะขายได้หมดต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
       
       อนึ่ง วันนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้เข้าชี้แจง กกต.นานกว่า 2 ชั่วโมง ถึงกรณีรัฐบาลจะขออนุมัติกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อชำระหนี้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวว่า กกต.ได้พิจารณาด้วยความเมตตา โดยคำถามซึ่งเชื่อว่าทำให้เกิดความเข้าใจว่าการเสนอแผนบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งนี้ ได้พิจารณาไว้เดิมก่อนการยุบสภา ไม่ได้เป็นการอนุมัติโครงการใหม่โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว โดยได้ชี้แจงว่าเป็นความต่อเนื่องในทางปฏิบัติและความล่าช้าจากการร้องศาล รัฐธรรมนูญ การปิดล้อมกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เชื่อมั่นว่า กกต.จะให้ความเมตตาเหมือนกับกรณีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องเช่นกัน
       
       อีกด้านหนึ่ง นายสมชัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ขยายมติ กกต. เรื่องเงินกู้จำนำข้าว” ดังนี้1.เรื่องที่รัฐบาลขอให้ กกต. อนุมัติ ขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้านเพื่อไปชำระหนี้ชาวนา กกต.เห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจแก่ กกต. ในการอนุมัติประเด็นดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา181(3) เขียนไว้เพียงว่า รัฐบาลรักษาการไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป (ไม่มีเขียนว่า เว้นแต่ได้รับอนุมัติจาก กกต.) 2. ดังนั้นการพิจารณาในวันนี้ จึงมี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นแรก เรื่องขยายวงเงินกู้ 130,000 ล้าน อยู่ในอำนาจอนุมัติ กกต. หรือไม่ คำตอบคือ ไม่
       
       นายสมชัย ระบุอีกว่า 3.ประเด็นที่สอง การกู้เงินดังกล่าว เป็นการผูกพันกับ ครม.ชุดต่อไปหรือไม่ ซึ่งตัวแทนฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบายว่าไม่ผูกพัน แต่คำถามที่ถามในที่ประชุม เพื่อนำไปสู่คำตอบว่า ผูกพันหรือไม่ มีหลายคำถามเช่น เงินกู้ 130,000 ล้าน เป็นเงินที่รัฐบาลรักษาการ สามารถขายข้าวมาใช้คืน ก่อนมีรัฐบาลใหม่หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ อีกทั้งข้าวในสต็อก มีเท่าไร มีมูลค่าเท่าไร และจะใช้เวลาเท่าไรในการขายข้าวเพื่อให้ได้เงินคืน คำตอบคือ มีประมาณ 14 ล้านตัน เป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท และจะใช้เวลาในการขายประมาณ 2 ปี และนโยบายจำนำข้าว เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดต่อไปจำเป็นต้องยึดเป็นนโยบายต่อไปหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ 4.ดังนั้นประเด็นที่ จะถือว่า ผูกพันหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องพิจารณาเอง หากแน่ใจว่า ไม่ผูกพัน ก็ดำเนินการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้ชาวนาได้เลย แต่หากคิดว่า ผูกพัน ก็ไม่ควรดำเนินการ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ และ5.มติ กกต. จึงไม่ใช่ ก. อนุมัติ หรือ ข. ไม่อนุมัติ แต่เป็น ค. คือ ไม่รับพิจารณาและให้รัฐบาลตัดสินใจเอง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view