สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หวั่นขาดน้ำหลังทำนาปรังเกินแผน180

จาก โพสต์ทูเดย์

กรมชลประทานห่วงทำนาปรังในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนแล้วกว่า 180% เตือนเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ล่าสุด(20 ม.ค. 57) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 13,614 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 55% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 6,918 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,942 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 52% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,142 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,524 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 58% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,674 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 483 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 440 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 665 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 69% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 662 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆข้างต้น เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2556/2557 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 700 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2556/2557 โดยฤดูการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งจะเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. – 30 เม.ย. ของทุกปี  เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(20 ม.ค. 57) มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,654 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 50% ของแผนฯ คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนฯ อีกประมาณ 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 50% ของแผนฯ

ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (ณ 16 ม.ค. 57) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 7.66 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 150% ของแผนทั้งหมด (แผนกำหนดไว้ 5.09 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 7.41 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 156% ของแผน(แผนกำหนดไว้ 4.74 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.25 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 71% ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.35 ล้านไร่)

จากการติดตามสภาพการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินแผนที่ได้กำหนดไว้ไปกว่า 180% แล้ว ซึ่งหากพื้นที่ทำนาปรังยังคงเพิ่มขึ้นเช่นนี้ ย่อมจะเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต เนื่องจากต้องนำน้ำที่สำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้ามาใช้ จึงขอย้ำให้เกษตรกรให้ความร่วมมือในการงดทำนาปรังอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้อย่างไม่ขาดแคลน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view