สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธ.ก.ส.เปิดหน้าชนรัฐบาล ปฏิเสธนำเงินฝากประชาชนอุ้มจำนำข้าว

จากประชาชาติธุรกิจ

มติของคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ให้นำ "สภาพคล่อง" ของธนาคาร จำนวน 55,000 ล้านบาท มาใช้สำรองจ่ายให้กับชาวนาที่นำใบประทวนมาขอรับเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 (นาปี) สะท้อนนัยสำคัญของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลได้เดินทางมาถึงจุดสุดท้าย

อย่างที่นักวิชาการ/นักธุรกิจ และผู้คนในวงการค้าข้าว ได้แสดงความเห็นทักท้วงความล้มเหลวและเต็มไปด้วยการทุจริตของโครงการประชานิยมของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น

ผล จากการดำเนินการ 3 ฤดูการผลิต (2554/2555-2555/2556 และ 2556/2557) ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถยกระดับราคาข้าวเปลือกของชาวนาได้อย่างยั่งยืนแล้ว การหาเงินมาหมุนในโครงการกลับกลายเป็นเรื่องยากลำบากและเป็นภาวะการกู้ยืม ที่ผูกพันกับการสร้างหนี้จำนวนมหาศาลของรัฐบาลชุดนี้ตามไปด้วย

ยิ่งเมื่อโครงการดำเนินมาถึงช่วงท้ายๆ ตั้งแต่การรับจำนำข้าวรอบ 2 ของปี 2555/2556 ต่อเนื่องมาถึงปี 2556/2557 "หายนะ" ที่ปฏิเสธไม่ได้ของโครงการก็คือ กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวสารในสต๊อกมากกว่า 15-20 ล้านตันออกไปได้

ประกอบกับต้นทุนการรับจำนำข้าวเปลือกที่สูงผิดปกติ ก็ได้สร้างความพิกลพิการให้กับระบบการค้าข้าวของผู้ส่งออกในตลาดโลก เบื้องต้นราคาข้าวขาวไทยไม่สามารถแข่งขันได้กับราคาข้าวเวียดนาม แต่เมื่อปริมาณสต๊อกที่เพิ่มพูนขึ้นจนเกินความสามารถในการระบายข้าว ซึ่งแน่นอนจะต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการขายข้าวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (นักวิชาการประมาณการเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท กับงบประมาณที่ถูกถลุงไป)

และเป็นที่รับรู้กันในหมู่โบรกเกอร์ค้าข้าวโลก กลับก่อให้เกิดปรากฏการณ์กดราคาข้าวไทย "ต่ำกว่า" ราคาข้าวเวียดนามเป็นครั้งแรกในฤดูกาลนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวขาวในตลาดโลกตกต่ำลงมาอย่างน่าใจหาย



กลายเป็นประเด็นสำคัญผสมไปกับการ "ทุจริต" ในการระบายข้าวแบบ G to G จนกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถขายข้าวนำเงินมาให้ ธ.ก.ส.ใช้หมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาได้ ท่ามกลางภาวะทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเข้าตาจนถูกประชาชนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ "ขับไล่" จนต้องประกาศยุบสภา นำไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

จึงเป็นโค้งสุดท้ายให้ผู้คนในรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย หรือ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ต้องออกมาไล่บี้ ธ.ก.ส. ให้นำสภาพคล่องของธนาคารออกมาจ่ายเงินจำนำข้าว "ส่วนใหญ่" ให้กับชาวนาก่อนที่ "เสียง" จากชาวนาจะแปรเปลี่ยนไปเป็นการขับไล่รัฐบาลต้อนรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลส่อภาวะจะ "ไปไม่รอด" มาตั้งแต่ปลายช่วงของการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/2556 เมื่อคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวชุดของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ได้รายงานผลการดำเนินโครงการเบื้องต้น ประสบการขาดทุนสูงถึง 250,000 ล้านบาท ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ในช่วงรอยต่อระหว่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งกำลังถูก ป.ป.ช.สอบสวนการทุจริตการขายข้าวแบบ G to G อยู่ในปัจจุบัน กับนายนิวัฒน์ธำรง ไม่สามารถระบายข้าวตามแผนที่แจ้งให้ที่ประชุม ครม.รับทราบได้

แต่ความจำเป็นในทางการเมืองที่ต้องอาศัยฐานเสียงของชาวนาตามโครงการประชานิยมทั่วประเทศ "บังคับ" ให้รัฐบาลต้องดำเนินการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ต่อไป

ทำให้ ครม.ต้องอนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้หมุนเวียนในการรับจำนำแบบ "เลื่อนลอย" โดยกำหนดวงเงินรับจำนำข้าวไว้จำนวน 270,000 ล้านบาท

เงินจำนวนนี้มีที่มาจาก 3 แหล่งตามที่สำนักงบประมาณรายงาน คือ 1) เงินทุนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้แก่ ธ.ก.ส. ตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 2) เงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ระบุ "ตามความจำเป็นและเหมาะสม" เปิดทางไว้ว่า อาจไม่มีวงเงินจากการระบายข้าวเข้ามาให้ ธ.ก.ส.ตามแผน และ 3) เงินทุนของ ธ.ก.ส.เอง

เมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินหมุนเวียนทั้ง 3 แหล่งจะพบว่า นอกเหนือจากกระทรวงพาณิชย์จะ "ล้มเหลว" ไม่สามารถระบายข้าวตามแผนที่กำหนดไว้ได้แล้ว ผลของการยุบสภายังทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถค้ำประกันเงินกู้ที่จะต้องจัดหาให้กับ ธ.ก.ส.ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ได้ทันตามที่กำหนด (รอการพิจารณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

ประกอบกับมติ ครม.เดิมในวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ได้เขียนไว้ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ต้องดำเนินการให้มีการใช้เงินกรอบวงเงินหมุนเวียนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก (ปี 2554/2555 กับ 2555/2556) ไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท กับเงินกู้ที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้อีก 410,000 ล้านบาท



ประเด็นสำคัญของมติ ครม.ข้างต้นก็คือ การสร้างวินัยทางการเงิน ไม่ให้โครงการรับจำนำข้าวก่อหนี้ผูกพันรัฐบาลเกินไปกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบกับฐานะทางการคลังจากการกู้ยืมเกินจำนวนของรัฐบาลได้

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้ก็คือ พยายามดิ้นรนหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาตามใบประทวนที่ ธ.ก.ส.ออกไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 9,976,871 ตัน (ตัวเลขกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 8 มกราคม 2557) ให้ได้ โดยมองข้ามวินัยทางการเงินการคลังที่จะต้องใช้เงินในโครงการไม่เกินจำนวน 500,000 ล้านบาท

ที่สำคัญก็คือ นอกเหนือจากข้าวที่ออกใบประทวนไปแล้ว ยังมีข้าวเปลือกรอเข้าโครงการรับจำนำอีกไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตัน (สิ้นสุดโครงการวันที่ 29 ก.พ. 2557) ที่ยังไม่รู้ว่า จะนำเงินจากไหนมาจ่ายให้กับชาวนา

ในเมื่อกู้เงินใหม่ก็ยังไม่ได้ เงินจากการระบายข้าวก็ยังไม่มีเข้ามา ทางเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ การบีบบังคับให้ ธ.ก.ส. นำสภาพคล่องของธนาคาร จำนวน 55,000 ล้านบาท ออกมาจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาไปพลางก่อน

เพียงแต่คราวนี้คำขู่ "ผมจะกลับมาอีกหลังการเลือกตั้ง" ก่อให้เกิดการต่อต้านจากพนักงานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.อย่างกว้างขวาง จน นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องออกมายืนยันว่า

"ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินตามใบประทวนเฉพาะเงินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติตามกรอบเดิม (51,550 ล้านบาท-ไม่เกินไปกว่ากรอบวงเงินตามมติ ครม. วันที่ 2 ตุลาคม 2556 จำนวน 500,000 ล้านบาท) กับเงินที่ได้รับจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ถ้าจะมีการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากกรอบนี้ รัฐบาลจะต้องจัดหาเงินมาให้กับ ธ.ก.ส. โดยธนาคารจะไม่นำเงินฝากของลูกค้ามาใช้จ่ายจำนำข้าวอย่างเด็ดขาด"

ปิดประตูการนำสภาพคล่องจากเงินฝากประชาชนมาใช้ จนกว่ารัฐบาลจะมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เล่มเกมยืดยื้อดื้อแพ่งกับอำนาจของรัฐมนตรีรักษาการต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view