สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวนาแนะเลิกจำนำ ชูชดเชยต้นทุนผลิต

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผ่าทางตันรัฐบาลถังแตก! โครงการรับจำนำข้าว ชาวนาแนะเลิกจำนำ ชูชดเชยต้นทุนผลิต

"รังสรร กาสูลงค์" เกษตรกร จ.ฉะเชิงเทรา วิเคราะห์หาทางออกกรณีรัฐบาลมีปัญหาการจ่ายเงินตามใบประทวน สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 รวมถึงปริมาณข้าวเปลือกรอบใหม่ที่จะออกมาในต้นเดือนมี.ค.นี้ ร่วมกับ "พรม บุญมาช่วย" ประธานเกษตรกร จ.สุพรรณบุรี หัวข้อ "เสียงชาวนาเมื่อรัฐค้างจ่ายหนี้จำนำข้าวแสนล้าน" ในรายการ Business Talk ทางกรุงเทพธุรกิจทีวี

ความปั่นป่วนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูผลิตปี 2556/57 โดยเฉพาะการค้างจ่ายเงินชาวนาตามใบประทวน ที่มีมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่สามารถสนับสนุนสภาพคล่องให้ได้ตามจำนวนใบประทวนทั้งหมด หากไม่มีมติครม.รองรับ ส่วนกู้เงินเข้ามาใช้จ่ายก็ติดปัญหาข้อกฎหมาย ทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน

รังสรร บอกว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/57 ขณะนี้มีปัญหา เพราะรัฐบาลมีเงินไม่พอจ่ายให้เกษตรกร และเกษตรกรเจ็บปวดมาก เพราะรัฐบาลยังค้างจ่ายเงินจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555/56 ตอนนี้ชาวนาหลายจังหวัดเริ่มจะลุกฮือบ้างแล้ว ขอวิงวอนรัฐบาลอย่าดูถูกชาวนา เพราะให้สัญญามาตลอด อย่ามองว่าชาวนาเป็นคนของใคร ที่ผ่านมาชาวนาถูกกล่าวหามาตลอดว่าทุจริต

การกระทำของรัฐบาลนั้น ชาวนาเริ่มทนไม่ไหวแล้ว เพราะขณะนี้ราคาข้าวในตลาดลดลง เพราะรัฐบาลทำพลาด โดยเก็บข้าวไว้เองทั้งหมด ทำให้ขายไม่ออก จนตอนนี้ราคาข้าวสารของไทยต่ำกว่าข้าวสารของเวียดนามแล้ว เพราะผู้ซื้อรู้ว่าไทยมีข้าวอยู่ในสต็อกจำนวนมาก

นอกจากนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้คือ ข้าวนาปี 2556/57 ที่ชาวนาจะเกี่ยวในเดือน ก.พ.เหลือไม่เกิน 20% หลังจากนั้นต้นเดือนมี.ค. ชาวนาจะเกี่ยวข้าวรอเข้าโครงการจำนำปี 2556/57 รอบสอง แต่ขณะนี้รัฐบาลชุดนี้ไม่อยู่แล้ว ทำให้ชาวนาต้องนำข้าวไปฝากไว้กับโรงสี หากขายข้าวตอนนี้ราคาจะเหลือแค่ 7,000 บาทต่อตัน เทียบกับที่เข้าโครงการจำนำที่จะได้ราคา 1.25 หมื่นบาทต่อตัน (ข้าวความชื้น 25%) รายได้ชาวนาหายไปแล้ว 5 พันบาทต่อตัน

วันนี้ชาวนาประชุมนุมสภาเกษตรกร

"อยากวิงวอนพรรคใดก็ตาม ที่จะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ให้ช่วยกันหาทางออก เพราะหากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทำไม่ไหว ก็ควรมาคุยกับเกษตรกร สภาเกษตรกร หรือสมาคมชาวนา เพื่อหาทางออกร่วมกัน หากยังมีโครงการจำนำ ก็ขอให้รับแค่ 50% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด เพื่อเก็บข้าวไว้ส่วนหนึ่ง โดยราคาอาจไม่ต้องสูงถึง 1.48-1.5 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนจะราคาเท่าไหร่ต้องมาคุยกับชาวนา ตอนนี้ถึงทางตันแล้ว รัฐบาลขอโทษชาวนา ยอมรับเถอะว่าทำพลาด มาเริ่มต้นกันใหม่ " รังสรรย้ำ

รังสรร ยังเสนอว่า นอกจากวิธีจำนำแล้ว อาจจะใช้วิธีช่วยชดเชยต้นทุนการผลิตให้ชาวนา ปัจจุบันต้นทุนประมาณ 6,000 บาทต่อตัน โดยเมื่อชาวนาขายข้าวขาดทุนรัฐบาลก็ใช้วิธีชดเชยต้นทุนให้ชาวนา 40% ของต้นทุน และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรืออาจใช้วิธีผสมกันระหว่างรับจำนำราคาไม่สูงและชดเชยต้นทุนการผลิตของชาวนา อยากแนะนำรัฐบาลว่าที่ผ่านมา โครงการจำนำมีมาตลอด แต่อย่าทำเพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงจากเกษตรกร แต่อ้างว่าจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม

โครงการจำนำข้าวหมดความชอบธรรม

ด้าน พรมชี้ว่า รัฐบาลไม่ได้เหลียวมองชาวนาเลยว่าเป็นยังไง ทั้งๆที่ชาวนาประท้วงในหลายจังหวัด ขณะนี้ชาวนาทุกคนรอว่า ที่รัฐบาลสัญญาจะจ่ายเงินจำนำหรือไม่ แต่จะไม่ยอมรอไปถึงวันที่ 25 ม.ค.ตามที่รัฐบาลประกาศขอเลื่อน ถ้ายังไม่ได้รับเงินจำนำภายในวันที่ 15 ม.ค.นี้ ชาวนาคงจะมีความเคลื่อนไหวกัน และออกมาชุมนุมกันแน่นอน โดยเฉพาะชาวนาภาคกลาง โดยวันนี้ (13ม.ค.) จะมีการประชุมสภาเกษตรกรเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง

"เคยพูดหลายครั้งว่า ถ้ารัฐบาลจะช่วยเกษตรกรต้องเอาเงินใส่กระติกมาให้ แต่ปัจจุบันเอาเงินใส่ตะกร้ามาก็ไม่ถึงมือเกษตรกร รั่วออกไปหมด ตอนนี้รัฐบาลไม่ต้องรับจำนำให้ชาวนาขายข้าวตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลชดเชยส่วนต่างต้นทุนการผลิต เช่น ขายข้าวได้ 7,000 บาทต่อตัน ชดเชยต้นทุนผลิต 3,000 บาทต่อตัน หรือถ้าไม่ชดเชยก็ต้องควบคุมราคาปัจจัยการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ยาฆ่าศัตรูพืช และค่าเช่าที่ดิน ถ้าคุมไม่ได้ ต้องชดเชยให้ชาวนาอย่างสมดุล นอกจากการจำนำแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่จะเป็นทางออกได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินค่าใช้จ่าย หรือเสียไม่มาก แต่ชาวนาพอใจหากขายข้าวได้ราคาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน ชาวนาก็อยู่ได้" พรมบอก

พรม ยังบอกว่า ตอนนี้โครงการจำนำข้าวหมดความชอบธรรมแล้ว ถ้ารัฐบาลยังยื้อจะทำต่อไปก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊งเท่านั้น ดังนั้นขอเสนอให้ชดเชยต้นทุนการผลิต ระหว่าง 3,000-3,500 บาทต่อตัน หรือจำกัดเพดานพื้นที่หรือปริมาณผลผลิตต่อไร่ก็ได้ เพราะหากชดเชยทุกเมล็ดอาจจะไปช่วยนายทุน

"ตอนนี้ขอให้รัฐบาลเร่งจ่ายหนี้ให้ชาวนาเร็วที่สุด เพราะชาวนาต้องการเงิน ถ้าไม่ได้ชาวนาจะเดินไปรวมตัวที่ศูนย์กลางของทุกจังหวัด"พรมย้ำ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view