สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักวิชาการจี้ปฏิรูปจำนำ ส่อทำลายข้าวไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการจี้รัฐบาลปฏิรูปโครงการรับจำนำ ส่อทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทย

ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ ร่วมวิเคราะห์โครงการรับจำนำข้าวเปลือก กับ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายรังสรรค์ กาสูลงค์ เกษตรกรจาก จังหวัดฉะเชิงเทรา หัวข้อ" ถึงเวลาปฏิรูปชาวนาไทยหรือไม่?" ในรายการ Business Talk ทางกรุงเทพธุรกิจทีวี

นายเอ็นนู อธิบายถึงโครงการรับจำนำข้าวเปลือกว่า เป็นโครงการแทรกแซงชนิดหนึ่ง ซึ่งคิดว่าเฉพาะตัวโครงการไม่ผิดเพียงแต่วิธีปฏิบัติที่เป็นนโยบายนั้นผิด เนื่องจากจริงๆแล้วการรับจำนำเป็นแค่การบรรเทาปัญหาให้เกษตรกรในช่วงที่มีผลผลิตข้าวออกมาจำนวนมาก และคาดหวังว่าเกษตรกรจะมีทางเลือกในการเก็บข้าวไว้เพื่อรอราคา แต่ข้าวที่รับจำนำก็ควรเป็นข้าวนาปี ส่วนข้าวนาปรังนั้นมีผลผลิตออกมาทุกวัน จึงไม่เกิดประโยชน์ เพราะควรใช้โครงการจำนำเป็นทางเลือกไม่ใช่กำหนดเป็นนโยบายเป็นสิทธิที่จะต้องเรียกร้องหรือหากยังจะดำเนินโครงการจำนำต่อไปอีก ก็ควรมีโครงการอื่นเสริม ที่จะช่วยเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ อาจจะเป็นการประกันรายได้ หรือประกันรายจ่ายไม่จำเป็นต้องจำนำข้าวทุกเมล็ด หรือรับจำนำในขนาดที่เล็กลง

ทั้งนี้อาจจะเสริมในเรื่องตลาดกลางทุกจังหวัด เพื่อให้การตลาดเดินได้ด้วยตัวเอง ในอดีตที่ผ่านมาหลังมีโครงการจำนำก็ทำให้ตลาดกลางหายไปทั้งหมด ทั้งตลาดกลางของรัฐบาล หรือตลาดกลางของเอกชน ซึ่งหากมีตลาดกลางจะช่วยให้ชาวนามีทางเลือกเพิ่มขึ้นด้วยแทนที่ต้องขายข้าวตามนโยบาย

นายเอ็นนู ยังชี้ว่าวิธีช่วยภาคเกษตรนั้นมีหลายอย่างที่รัฐบาลใหม่ต้องทำเพื่อสร้างความยั่งยืนและทำให้ชาวนาอยู่ได้ คือ 1.ต้องให้ความรู้ในการปลูกข้าว การวางแผน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ การหาพันธุ์ข้าวที่ดี ข้าวเพื่อสุขภาพ นี่คือหัวใจและนักวิชาการต้องช่วยสนับสนุนชาวนา 2. ช่วยลดความเสี่ยงของชาวนา เช่น ภัยธรรมชาติ ปัญหาน้ำแล้ง ศัตรูพืช การประกันภัยพืชผล รัฐบาลต้องทำอย่างจริงจัง รวมถึงการให้สวัสดิการชาวนา 3. ด้านการตลาด ทำให้ชาวนารับรู้ราคาตลาดในพื้นที่ ทำโครงสร้างตลาดกลางข้าวของแต่ละพื้นที่เอง 4. นโยบายปฏิรูปที่ดิน การจัดรูปที่ดิน ต้องจัดตั้งธนาคารที่ดิน และแบ่งสันปันส่วนให้ชาวนา และ 5. สร้างระบบน้ำภาคเกษตร โดยเฉพาะชาวนาในภาคอีสาน แต่ทั้งหมดนี้รัฐบาลห้ามดำเนินการเอง แต่เป็นแค่กำหนดนโยบายให้ท้องถิ่นทำเอง

" โครงการจำนำข้าว 2-3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ได้ระบายข้าวออกไปเลย หรือระบายได้น้อยมาก ทั้งๆที่ตามหลักแล้วจะต้องระบายออกใน 1ปีแล้วมาเคลียร์บัญชีกันภายใน 1ปี รวม 2ปีต้องปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวได้ แต่นี่ตั้งแต่ทำโครงการรอบแรกถึงปัจจุบัน ยังไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย ระบายเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ กระทรวงพาณิชย์ก็ตอบไม่ได้ " นายเอ็นนูย้ำ

นายสมพร บอกว่า โครงการจำนำข้าวควรดำเนินเฉพาะข้าวนาปี เพราะข้าวนาปีมีหลากหลายเมื่อผ่านฤดูเก็บเกี่ยวไปแล้ว ราคาข้าวจะปรับขึ้น ชาวนาก็สามารถนำเงินมาไถ่ถอนข้าวในโครงการได้ ส่วนข้าวนาปรังไม่ควรจำนำ เพราะข้าวนาปรังส่วนใหญ่ปลูกในเขตชลประทาน ที่ลงทุนไปมากแล้ว จึงควรใช้กลไกอื่นเข้ามาเสริม เพื่อปรับภาคเกษตรให้เข้มแข็งไม่ใช่พัฒนาระบบชลประทานดีแล้ว แต่ไปสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกข้าวปีละ 2-3 ครั้ง ทำให้เกิดผลเสียเพราะกลไกตลาดเสียหาย มีข้าวในสต็อกจำนวนมาก และรัฐบาลใช้เงินจำนวนมาก ขณะที่ไม่สามารถระบายข้าวได้

"รัฐบาลปักใจกับโครงการจำนำมากเกินไป และทำส่วนอื่นน้อยมาก จนกลไกตลาดกลางหายไปหมด สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบาย" นายสมพรระบุ

นายสมพร ยังระบุอีกว่า ภาวะเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องทำคือเร่งระบายข้าวกว่า 18 ล้านตัน และข้าวใหม่อีกเกือบ 20 ล้านตันข้าวสาร เพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่ 1. จัดการกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่ได้ทำตามเป้าหมายเพื่อลดความเสียหาย 2. ต้องดูตลาดข้าวอย่างลึกซึ้งกว่านี้ทำยังไงที่จะลดการปลูกข้าวในเขตชลประทาน 3.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนในการตัดสินใจ 4.จัดการปฏิรูปที่ดิน จัดหาแหล่งน้ำ และจัดโครงสร้างตลาดที่ดี

นายรังสรรค์ บอกว่า ก่อนรัฐบาลชุดนี้ดำเนินโครงการรับจำนำ ราคาข้าว 5%อยู่ที่ 1.2หมื่นบาทต่อตัน หลังจากมีโครงการรับจำนำรัฐบาลกำหนดราคาไว้ 1.5 หมื่นบาทต่อตันปรากฏว่าเกือบ 3ปีที่ผ่านมาราคาข้าว 5%อยู่ที่ 8-8.5 พันบาทต่อตัน ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าโครงการจำนำ ขณะนี้ราคาข้าว ความชื้น 25%อยู่ที่ 6-7พันบาทต่อตันเท่านั้น อย่างไรก็ตามยืนยันว่า โครงการจำนำนั้นเกษตรกรได้ประโยชน์มากกว่า 8หมื่นล้านบาทที่มีหลายฝ่ายระบุ แต่การขาดทุนของรัฐบาลอยู่ในช่วงที่ข้าวเข้าไปอยู่ในโกดังกลางของรัฐบาล

"สิ่งที่เกิดขณะนี้คือ ชาวนากำลังจะมีข้อพิพาทกับธ.ก.ส. เพราะรัฐบาลบอกว่าธ.ก.ส.มีเงิน แต่ธ.ก.ส.จ่ายไม่ได้ เพราะติดมติครม.กำหนดกรอบเงินจำนำไม่เกิน 5 แสนล้านบาท แต่ชาวนาต้องใช้เงินเพราะลงทุนไปแล้ว "


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view