สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เพ้ง เบรกสัมปทานปิโตรเลียม ทับพื้นที่อุทยานผวาเจอแรงต้าน

จากประชาชาติธุรกิจ

รมว.พลังงาน "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" ตีกลับแผนเปิดแปลงสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 รวมพื้นที่ 653 ตร.กม.อยู่ในเขต 2 อุทยานแห่งชาติ"ภูเก้า-ภูพาน-ภูพานคำ-น้ำพอง" หวั่นถูกต่อต้าน ด้านเอ็กซ์ซอนโมบิลชี้การสำรวจขุดเจาะในเขตอุทยานเป็นเรื่องยาก

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า การยื่นขอสัมปทานรอบนี้จะมีทั้งสิ้น 27 แปลง แบ่งเป็นภาคเหนือ-ภาคกลาง รวม 6 แปลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 16 แปลง และอ่าวไทยรวม 5 แปลง แต่ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ มีสัมปทานจำนวน 2 แปลงอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่

1) แปลงสำรวจ L7/57 ที่จะครอบคลุมจังหวัดกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู และอุดรธานี พื้นที่แปลงทั้งหมด 2,642.92 ตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้มีพื้นที่ 287 ตารางกิโลเมตร (แปลงน้ำพอง-ภูฮ่อม-

ภูเก้า-ภูเวียง) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำและน้ำพอง หรือคิดเป็นพื้นที่ 11% ของแปลงสัมปทานทั้งหมด กับ 2) แปลงสำรวจ L9/57 ครอบคลุมจังหวัดสกลนคร พื้นที่แปลง 3,954.40 ตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้มีพื้นที่ 366 ตารางกิโลเมตร (แปลงตาดภูวง-ภูพระ-สกล-กุสุมาลย์-ภูเพ็ก-นาแก-คำม่วน) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน หรือคิดเป็นพื้นที่ 10% ของแปลงสัมปทานทั้งหมด

"สาเหตุที่แปลงสัมปทานทับซ้อนอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็เพราะจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ประกอบกับการให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ผ่าน ๆ มา พื้นที่ที่มีศักยภาพได้ถูกจับจองขอสัมปทานไปหมดแล้ว โดยจะเห็นได้ว่า การเปิดให้ยื่นขอสัมปทานครั้งหลัง ๆ แทบจะไม่มีความคืบหน้าเลยใน 6 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับการเปิดแปลงสัมปทานในครั้งนี้ก็แทบจะไม่แตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านมา (ครั้งที่ 20) สุดท้าย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นว่า การให้แปลงสัมปทานในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก และยังไม่ถึงเวลา อีกทั้งต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน จึงสั่งเบรกการให้สัมปทานครั้งที่ 21 เอาไว้ก่อน" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้การเปิดให้ยื่นสัมปทานครั้งที่ 21 ยังไม่มีเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเดิมจากสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 20 ที่ผ่านมา เช่น ค่าคงที่สภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจ (ค่า K) ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางอยู่ที่ 300,000 ตร.กม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 450,000 ตร.กม. และพื้นที่อ่าวไทยอยู่ที่ 600,000 ตร.กม และเป็นค่าผลประโยชน์ลดหย่อนพิเศษ (ค่า SR) อยู่ที่ร้อยละ 35 ในขณะที่หลักเกณฑ์การจัดเก็บรายได้พิเศษ แบ่งเป็นโบนัสลงนาม (Signing Bonus) และโบนัสการผลิต (Production Bonus) โดยคิดจากปริมาณการผลิตสะสม

ด้านนายยงยศ หาญสุวณิช รองประธาน บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้รายงานความคืบหน้าการเตรียมเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมใหม่กลับไปยังสำนักงานเอ็กซอนโมบิล ประจำประเทศมาเลเซีย เพื่อประสานต่อไปยังบริษัทแม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว จึงอยู่ในระหว่างพิจารณาของบริษัทแม่ว่าจะตัดสินใจยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมหรือไม่ แต่จากการประเมินพื้นที่มองว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่มีศักยภาพ เนื่องจากอยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ อย่างแหล่งสินภูฮ่อม ที่บริษัทเอ็กซอนโมบิลถือหุ้นอยู่ด้วย

สำหรับแปลงสัมปทานที่ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินั้น แม้จะมีศักยภาพ แต่การลงทุนจะ "ยาก" มากขึ้น เพราะจะมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน ที่สำคัญควรมองถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเข้ามาว่า ปัจจุบันในประเทศมีแปลงสัมปทานปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 63 สัมปทาน รวม 79 แปลง มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว 9,038.92 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว 216 ล้านบาร์เรล น้ำมันดิบ 232.02 ล้านบาร์เรล 

ส่วนสถิติของการผลิตปิโตรเลียม พบว่า ผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 3,115 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน น้ำมันดิบ 142,991 บาร์เรล/วัน รวมมีแท่นผลิตปิโตรเลียมรวม 331 แท่น แบ่งเป็นเรือผลิตหรือเรือกักเก็บ 16 ลำ 


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view