สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อยู่ที่สูงในกรุงเสี่ยงสารพัด ตึกถล่ม-เพลิงไหม้-ดินไหว

จากประชาชาติธุรกิจ

เตือนภัยคนกรุงอยู่ตึกสูง เสี่ยงถล่ม ไฟไหม้ อาคารสูงควรต่อท่อเพื่อระบายควัน แนะช่วยสอดส่องข้อผิดพลาด ศึกษาวิธีช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่เมืองทองธานี นายสัญญา ชีนิมิตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการเสวนาในหัวข้อ "ชาวกรุงเทพฯ พร้อมหรือยังกับการรับมือภัยพิบัติ" โดยมีนายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นายวิเชียร บุษยบัณฑูร นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร (BSA) นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย และนายพินิต เลิศอุดมธนา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. เข้าร่วมเสวนา

นายสัญญากล่าวว่า ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย และที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ ตึกถล่ม ล้วนสร้างความสูญเสียต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจจึงถือเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด โดย กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม.ที่ต้องการให้กรุงเทพฯเป็นมหานครแห่งความปลอดภัย ซึ่งหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการช่วยกันสอดส่องดูแลและพร้อมในการแก้ไข หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ได้มากที่สุด

นายพินิตกล่าวว่า การป้องกันภัยพิบัติจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน โดย กทม.มีกฎหมายเพื่อใช้รองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น คือกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งจะใช้ในการควบคุมตั้งแต่การออกแบบก่อสร้างอาคารและรูปแบบการใช้อาคาร เพื่อดูแลความปลอดภัย สำหรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เบื้องต้นคือภัยจากตึกถล่ม ซึ่งจะเกิดจากการใช้อาคารผิดประเภท ทำให้รองรับน้ำหนักไม่ไหวและภัยจากแผ่นดินไหว จึงต้องออกแบบอาคารเพื่อรองรับภัยดังกล่าว อาคารที่สูงเกิน 15 เมตร จะได้รับการออกแบบเพื่อรองรับเหตุแผนดินไหว แต่อาคารที่ต่ำกว่า 15 เมตร และอาคารเก่าก็ควรให้ความสำคัญในการออกแบบรองรับเหตุแผ่นดินไหว เพราะสามารถเกิดอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหวได้เช่นกัน

นายธำรงกล่าวว่า ในกรุงเทพฯมีตึกพักอาศัยที่เป็นอาคารสูงกว่า 1,300,000 ยูนิต ซึ่งผู้ที่พักอาศัยในอาคารสูงย่อมเสี่ยงกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในแนวราบ คนที่อยู่ในอาคารสูง ต้องมีความรู้ความเข้าใจระบบการป้องกันภัยในที่พักอาศัยของตัวเอง ต้องตระหนักถึงระบบป้องกันภัยต้องได้ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดก่อนที่จะมีการซื้อเกิดขึ้น สำหรับหนึ่งในภัยพิบัติที่กรุงเทพฯมีความเสี่ยงคือ ภัยจากเพลิงไหม้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก ดังนั้น การป้องกันความเสี่ยงจากควันในอาคารสูงควรมีการต่อท่อเพื่อระบายควันจากเพลิงไหม้ และในอาคารต้องมีอุปกรณ์ในการป้องกันเพลิงไหม้เบื้องต้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view