สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สร้างเสถียรภาพราคาไข่รับเออีซี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



รัฐ-เอกชน เร่งสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมไข่ไก่ แนะคุมคุณภาพไข่นำเข้า และ เพิ่มบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศ

รัฐ-เอกชนประสานเสียงหาทางออกไข่ไก่หลังเปิดเสรีเออีซี ชี้ ต้องสร้างความเข็มแข็งอุตสาหกรรมไข่ไก่ พร้อมเพิ่มการบริโภคในประเทศ หวังสร้างเสถียรภาพราคา แนะผู้ประกอบการลงทุนฟาร์มผลิตไข่ไก่ในประเทศเพื่อนบ้าน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ต้องลดภาษีการนำเข้าเหลือ 0 % หลังจากที่ไทยเข้าสู่การประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปี 2558 อย่างไรก็ตามเนื่องจากไข่ไก่เป็นสินค้าที่มีโครงสร้างต่างจากสินค้าเกษตรชนิดอื่น โดยผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายตลาดในประเทศกว่า 99 % ที่เหลือส่งออกบ้าง แต่เพื่อเป็นการสร้างสมดุลราคาในประเทศเท่านั้น การส่งออกส่วนใหญ่จะขาดทุน ดังนั้นการส่งออกไข่ไก่ในขณะนี้เป็นเพียงผู้ประกอบการบางรายใหญ่ๆ เท่านั้น และไม่มีการนำเข้า เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดได้

"การส่งออกไข่ไก่ที่พอมีกำไรอยู่บ้างจะเป็นการค้าตามแนวชายแดนในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ราคาใกล้เคียงกับไทย แต่การส่งออกในประเทศเหล่านี้ในรูปไข่สด ยังไม่คุ้ม จากค่าขนส่ง การเก็บรักษา ดังนั้นภายหลังการเปิดเออีซีแล้ว ธุรกิจไข่ไก่จะใช้ประโยชน์ได้ด้วยวิธีการเข้าไปลงทุนสร้างฟาร์มในประเทศนั้นๆแทน โดยเฉพาะในกลุ่มที่กำลังพัฒนา เช่น พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซี พี ได้เริ่มดำเนินการไปบางแล้ว" นายยุคล กล่าว

@ แนะคุมคุณภาพนำเข้าไข่ไก่ป้องเกษตรกร

ในขณะที่ไทยซึ่งเป็นตลาดใหญ่มีการบริโภคไข่ไก่สูง หลายประเทศผู้ผลิตในอาเซียนมองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่การผลิตไข่ไก่ในประเทศยังมีปัญหาในบางช่วงที่ราคาไข่ไก่ตกต่ำและปรับตัวขึ้นสูงตามกลไกตลาด ดังนั้นเพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กรมปศุสัตว์จะต้องตรวจสอบคุณภาพ ความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโรคระบาดที่เป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมไก่ของไทยมาก

นางสาวพรศรี เหล่ารุจสวัสดิ์ กรรมการสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไก่ไข่ กล่าวว่า การผลิตไข่ไก่สดในอาเซียน ในปี 2554 มี 7 หมื่นล้านฟอง หรือ 3.5 ล้านตัน อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 33 % ไทย 17 % มาเลเซีย 15 % ฟิลิปปินส์ 12 % พม่า 11 % เวียดนาม 10 % และอื่นๆ 2 % ในขณะที่อัตราการบริโภคโดยเฉลี่ยทั้งอาเซียนอยู่ที่ 107 ฟองต่อคน/ปี โดยบรูไนมีการบริโภคมากที่สุก 33 ฟอง/คน/ปี สิงคโปร์ 315 ฟอง/คน/ปี มาเลเซีย 249 ฟอง/คน/ปี ไทย 159 ฟอง/คน/ปี อินโดนีเซีย 104 ฟอง/คน/ปี ฟิลิปปินส์ 90 ฟอง/คน/ปี พม่า 89 ฟอง/คน/ปี เวียดนาม 68 ฟอง/คน/ปี ลาว 55 ฟอง/คน /ปี และกัมพูชา 27 ฟอง/คน/ปี

@ ชี้ไทยส่งออกอาเซียนสัดส่วน 9%

ทั้งนี้ประเทศที่มีการส่งออกไข่ไก่สดในอาเซียนมีประมาณ 1 แสนล้านตัน หรือ 1,700 ล้านฟอง มากที่สุด คือ มาเลเซีย 89 % ไปฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มัลดีฟ พม่า ลาว และเวียดนาม ส่วนไทยมีการส่งออกในตลาดนี้ 9 % และอื่นๆ 2 % ทั้งนี้สิงคโปร์เป็นประเทศที่นำเข้ามากที่สุด 99 % จากมาเลเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สวีเดน และสหรัฐในขณะที่ประเทศอื่นๆในอาเซียนมีการนำเข้า 1 %

อย่างไรก็ตามในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เวียดนามเป็นประเทศที่มีการผลิตไข่ไก่ที่มีเสถียรภาพมากที่สุด โดยมีกำลังการผลิตที่ 5,877 ล้านฟอง/ปี ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศและยังไม่เพียงพอกับความต้องการแต่ละปี จะต้องนำเข้าประมาณ 2 แสนฟอง ในขณะที่มีการส่งออกประมาณ ปีละ 22 ล้านฟอง ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.70 บาท/ฟอง ราคา ขายปลีก 3.30-3.50 บาท/ฟอง ใกล้เคียงกับของไทย ในบางช่วงที่ราคาไข่ไก่มีท่าทีตกต่ำ เวียดนามจะปลดไก่ไข่ทันทีเนื่องจากราคาที่สูงเฉลี่ย 85-90 บาท/กก เทียบกับไทยอยู่ที่ 50-60 บาท/กก. ทำให้เวียดนามไม่มีปัญหาเรื่องราคาไข่ และมีเสถียรภาพ

โดยชาวเวียดนามชอบบริโภคไข่เป็ดมากกว่าไข่ไก่ นิยมไข่ไก่บ้าน ไข่ไก่อาหรับ ที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ไข่เป็ดจะราคาสูงมากและขายดีมาก เพราะใช้ทำไส้ไข่เค็มในขนม ช่วงนั้นไข่ไก่จะขายดีเช่นกันเพราะราคาถูกและคนก็หันมากินไข่ไก่แทนไข่เป็ด รู้จักใช้กลยุทธ์การตลาดบริหารราคาสินค้าตามฤดูกาล ขณะที่ช่วงปีใหม่ไข่ไก่จะขายดีเพราะนำมาทำเบเกอรี่จำนวนมาก

ส่วนมาเลเซียมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 ราย รวม 14 ฟาร์ม นอกนั้นเป็นเกษตรกรรายย่อย ปี 2554 มาเลเซียผลิตได้ 23 ล้านฟอง/วัน เทียบกับไทย ผลิตได้ 32 ล้านฟอง/วัน แต่มาเลเซีย มีการส่งเสริมการผลิตไข่ไก่ ในรูปแบบไข่มูลค่าเพิ่ม เช่น ให้มีการเพิ่มสารอาหารในไข่ไก่ ส่งเสริมการแปรรูปไข่มากขึ้น มีการส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่อย่างจริงจัง ปี 2553 มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 249 ฟอง/คน/ปี ถือเป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมไข่ไก่ที่ดี

@ เร่งบริโภคภายในสร้างเสถียรภาพราคา

นางสาวพรศรี กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีอยู่การบริโภคไข่ไก่ของไทยยังมีน้อยมาก ในขณะที่เสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร จะขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาในภาพรวมของอุตสาหกรรมไข่ไก่ ควรจะเพิ่มส่งเสริมการบริโภคไข่ให้เพิ่มขึ้น ในปี 2556 จะเห็นได้ว่าราคาไข่ไก่ของไทยปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจัยที่มีผลทำให้ราคาไข่ไก่ปี 2556 ปรับตัวขึ้นสูง ส่วนหนึ่งเพราะปี 2555 เกษตรกรอยู่ในภาวะขาดทุน ทำให้ต้องปรับแผนการนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่ปี 2556 ลดลง 10 % ทำให้ ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ทั้งปีเหลือเพียง 11,826 ล้านฟอง

ต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงขึ้นจากปี 2555 เฉลี่ย 5-9 % อยู่ที่ฟองละ 2.80 บาท เมื่อปริมาณผลิตไข่ไก่ที่ลดลง แต่ความต้องการบริโภคในประเทศสูงขึ้น จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและจากราคาสินค้าชนิดอื่นที่ปรับสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่า ส่งผลให้ไข่ไก่ยังคงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค ทำให้ราคาไข่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จะทำอย่างไรให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ไทยพอมีกำไร พร้อมบริหารราคาสินค้าไข่ตามฤดูกาลปล่อยตาม Supply&Demand สร้าง Supply Chain ของไข่ไก่ให้มีเสถียรภาพเหมือนเวียดนาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ไข่ไก่เหมือนมาเลเซียพร้อมกับส่งเสริมการบริโภคเหมือนอินโดนีเซีย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view