สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจรจาเป็นผล-อินโดฯยกเลิกโควต้านำเข้าพืชสวน

จาก โพสต์ทูเดย์

ก.เกษตรฯเจรจาสำเร็จ อินโดนีเซียยกเลิกระบบโควตานำเข้าพืชสวน รวมทั้งลำไยและทุเรียน ส่วนหอมแดงใช้ระบบราคาอ้างอิง

น.ส.ดุจเดือน ศศะนาวิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยผลการประชุมเจรจากับกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกพืชสวนของไทย ว่า ปัญหามาจากอินโดนีเซียจำกัดการนำเข้าพืชสวนจากประเทศต่างๆ โดยผู้นำเข้าของอินโดนีเซียต้องไปขอใบแนะนำการนำเข้าจากกระทรวงเกษตรก่อนนำไปขอใบอนุญาตนำเข้าจากกระทรวงการค้า หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบโควต้าโดยปริยาย
ทั้งนี้ จากเกณฑ์ดังกล่าวทำให้อินโดนีเซียนำเข้าลำไย  ทุเรียน และหอมแดงจากไทยลดลง ส่งผลกระทบเกษตรกร เพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดหลักอันดับ 2 ในการนำเข้าทุเรียนและลำไย รองจากจีนปีนี้ อินโดนีเซียจัดสรรนำเข้าลำไยไทยเพียง 7 หมื่นตันจากปีก่อนมากกว่า 1 แสนตัน และทุเรียนนำเข้า 1.1 หมื่นตัน จากปกติปีละ 1.8- 2 หมื่นตัน สำหรับหอมแดงอินโดนีเซียจัดสรรปริมาณนำเข้าจากทุกประเทศรวมทั้งไทยตลอดทั้งปี 72,000 ตัน ซึ่งไทยส่งออกไปอินโดนีเซียประมาณ 30,000 ตัน

รองเลขาธิการ มกอช กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมไทย-อินโดนีเซียนั้น อินโดนีเซียได้ปรับปรุงกฎระเบียบพืชสวนใหม่ โดยจะยกเลิกระบบโควต้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2557 เป็นต้นไป แม้ผู้นำเข้าอินโดนีเซียยังต้องขอใบแนะนำรายสินค้าจากกระทรวงเกษตร แต่จะไม่มีการจำกัดปริมาณ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้าจะต้องนำเข้าสินค้านั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 80% ของปริมาณที่แจ้งความประสงค์นำเข้าไว้มิฉะนั้นจะถูกระงับการเป็นผู้นำเข้าในปีถัดไป

สำหรับหอมแดงนั้นไม่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้าเช่นกัน แต่จะใช้อีกระบบหนึ่ง คือ อินโดนีเซียจะพิจารณาชะลอการนำเข้า ในช่วงที่ผลผลิตหอมแดงในประเทศออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ โดยการใช้ราคาอ้างอิง  ถ้าราคากลางในตลาดอินโดนีเซียสูงกว่าราคาอ้างอิง 30% ผู้นำเข้าจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าได้ ซึ่งขณะนี้ราคาอ้างอิงหอมแดงประมาณ 60 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคากลางในตลาดสูงกว่ามาก ทำให้ขณะนี้เริ่มมีการนำเข้าหอมแดงภายใต้ระเบียบใหม่แล้ว

"ระเบียบใหม่นี้จะส่งผลดีต่อไทยทั้งลำไย ทุเรียน และหอมแดง แม้ว่าอินโดนีเซียอาจชะลอไม่ให้นำเข้าหอมแดงในบางช่วงเวลา แต่ปัจจุบัน ฤดูกาลผลิตหอมแดงของไทยกับอินโดนีเซียไม่ตรงกันอยู่แล้ว คือ ฤดูผลิตของไทยเป็นช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน ส่วนของอินโดนีเซียเป็นช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม จึงคาดว่าการส่งออกลำไย  ทุเรียน และหอมแดงของไทยในปี 2557  น่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก" น.ส.ดุจเดือน กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view