สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขุดพบ วัดเก่าแก่ที่สุดใน สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

       บี บีซีนิวส์/เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คณะนักโบราณคดีที่กำลังขุดค้นสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ได้ค้นพบซากของโครงสร้างอาคารไร้หลังคาที่ทำด้วยไม้ ซึ่งน่าจะเป็นสถานที่บูชาทางพุทธศาสนาอายุเก่าแก่ที่สุด อีกทั้งยังทำให้นักวิชาการบางส่วนเสนอความเห็นว่า พระศาสดาของศาสนาพุทธพระองค์นี้ อาจจะทรงมีพระชนมายุก่อนช่วงเวลาที่เข้าใจกันอยู่ในปัจจุบันเกือบๆ 200 ปี
       
       สิ่งที่คณะนักโบราณคดีขุดค้นในขณะนี้ เป็นโครงสร้างที่ทำจากไม้อายุราว 6 ศตวรรษก่อน ค.ศ. (ซึ่งก็คือก่อน พ.ศ.ประมาณ 200 ปี) ซึ่งอยู่ข้างใต้ของตัววัดมายาเทวี ณ ตำบลลุมพินี ทางภาคใต้ของเนปาล ที่อยู่ใกล้ๆ ชายแดนอินเดีย
       
       สถานที่บูชาแห่งนี้ดูเหมือนจะสร้างขึ้นล้อมรอบต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงเข้ากันได้สนิทกับคำเล่าขานเกี่ยวกับการประสูติของ พระพุทธเจ้า นั่นคือ พระนางสิริมหามายา พระมารดาของพระองค์ ทรงประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ อันเป็นพระนามเดิมของพระพุทธเจ้า ในขณะประทับยืนและทรงใช้พระหัตถ์เหนี่ยวกิ่งของต้นสาละเอาไว้
       
       การค้นพบคราวนี้จึงอาจจะยุติข้อถกเกียงเกี่ยวกับช่วงเวลาประสูติของ พระพุทธองค์ ทั้งนี้ตามรายงานของคณะนักโบราณคดีชุดนี้ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ “Antiquity” ฉบับเดือนธันวาคม
ขุดพบ‘วัด’เก่าแก่ที่สุดใน “สวนลุมพินีวัน” สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า(ชมคลิป)
คณะนักโบราณคดีทั้งชาวเนปาลและชาวต่างประเทศ แถลงในวันจันทร์ (25 พ.ย.) ว่า จากการขุดค้นภายในวัดมายาเทวี ที่ ตำบลลุมพินี ทางภาคใต้ของเนปาลซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนอินเดีย และเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า พบว่านอกจากมีวัดโบราณทำด้วยอิฐ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นวัดสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในยุค 3 ศตวรรษก่อน ค.ศ. (ซึ่งก็คือราว พ.ศ. 100 เศษๆ) แล้ว ลึกลงไปอีกยังมีวัดเก่าแก่กว่านั้นที่โครงสร้างทำด้วยไม้ ซึ่งอายุตกอยู่ในช่วง 6 ศตวรรษก่อน ค.ศ. (เท่ากับก่อน พ.ศ. ราว 200 ปี)
       **วัดอายุด้วยเทคนิควิทยาศาสตร์**
       
       ปัจจุบันในแต่ละปีมีชาวพุทธเป็นล้านๆ คนเดินทางไปจาริกแสวงบุญที่ตำบลลุมพินี ซึ่งถูกระบุมาเนิ่นนานแล้วว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
       
       ทว่านอกเหนือจากหลักฐานเอกสารจำนวนมาก เป็นต้นว่า พระไตรปิฎก ที่บันทึกพระธรรมคำสั่งสอนและแทรกพุทธประวัติเอาไว้ด้วย โดยที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นการท่องจำด้วยวาจาต่อๆ กันมา ก่อนจะถูกบันทึกเป็นตัวอักษรแล้ว ยังคงไม่มีหลักฐานอย่างอื่นๆ ที่จะยืนยันให้นักวิชาการสมัยใหม่มั่นอกมั่นใจ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่พระองค์ทรงมีพระชนม์อยู่
       
       ประมาณการเกี่ยวกับช่วงเวลาประสูติของพระพุทธเจ้านั้น ก็มีผู้ให้ไว้แตกต่างกันไป บางคนย้อนหลังไปไกลถึงปี 623 ก่อน ค.ศ. (เท่ากับก่อน พ.ศ. 80 ปี) ทว่านักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่ากรอบเวลาที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง มากกว่าคือช่วงระหว่าง ปี 390 – 340 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ.153 - 203)
       
       ก่อนหน้านี้ หลักฐานเก่าที่สุดเกี่ยวโครงสร้างสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาในลุมพินีนั้น มีอายุไม่มากไปกว่ายุค 3 ศตวรรษก่อน ค.ศ. ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
       
       เพื่อตรวจสอบให้ทราบข้อเท็จจริง พวกนักโบราณคดีจึงเริ่มต้นขุดค้นที่บริเวณใจกลางของวัดมายาเทวี ซึ่งก็คือขุดค้นอยู่ข้างๆ บรรดาพระสงฆ์, ชี, และนักแสวงบุญ ที่กำลังเข้าไปนมัสการหรือนั่งสมาธิอยู่ภายในวัดนั่นเอง
       
       ปรากฏว่าในการขุดค้น นอกจากวัดสร้างด้วยอิฐหลายๆ รุ่นที่อยู่ในชั้นบนๆ ขึ้นมาแล้ว พวกเขายังขุดลงไปพบโครงสร้างที่เป็นไม้ ซึ่งบริเวณตรงกลางว่างเปล่า และก็ไม่มีหลังคาคลุม
       
       ทั้งนี้พวกวัดทำด้วยอิฐหลายๆ รุ่นซึ่งอยู่ชั้นบนๆ เหนือโครงสร้างไม้ขึ้นมา ก็สร้างในลักษณะล้อมรอบพื้นที่ตรงกลางนี้เช่นกัน
       
       การขุดค้นและการวิจัยทางโบราณคดีธรณี (geoarchaeology) ยังยืนยันว่า มีรากของต้นไม้โบราณอยู่ในพื้นที่ว่างตรงกลางของอาคารไม้ อันเป็นการบ่งบอกว่าอาคารไม้โบราณนี้เป็นสถานที่เพื่อการบูชาต้นไม้
       
       ในเวลานี้ ได้มีการนำเอาส่วนของอาคารต่างๆ , ชิ้นส่วนของถ่านและเม็ดทรายในชั้นต่างๆ ไปทำการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อวัดอายุ โดยผสมผสานทั้งเทคนิคการวัดอายุจากคาร์บอนกัมมันตภาพรังสี (radiocarbon) และเทคนิคการวัดอายุจากการเปล่งแสง (optically stimulated luminescence)
ขุดพบ‘วัด’เก่าแก่ที่สุดใน “สวนลุมพินีวัน” สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า(ชมคลิป)
       โรบิน คอนนิ่งแฮม ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีแห่งมหาวิทยาลัยเดอรัม (Durham University) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำร่วมของทีมขุดค้นนานาชาติ ที่ได้รับความสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ (National Geographic Society) กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (25พ.ย.) ว่า “ขณะนี้นับเป็นครั้งแรกที่เรามีลำดับเวลาทางโบราณคดีที่ลุมพินี ซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งก่อสร้างหลังหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่ถึงศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.”
       
       “นี่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับสถานที่บูชาทางพุทธศาสนาซึ่งเก่าแก่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแห่งหนใดในโลก” คอนนิ่งแฮมบอก พร้อมกับชี้ว่า หลักฐานชิ้นนี้จะช่วยส่องแสงสว่างให้แก่การถกเถียงที่ดำเนินมายาวนานเต็มที แล้ว ซึ่งได้นำไปสู่ความผิดแผกนานาในคำสอนและประเพณีต่างๆ ของพุทธศาสนา
       
       “เรื่องเล่าขานที่บอกว่าพระเจ้าอโศกทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้ก่อตั้ง ลุมพินีเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญ ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันแล้ว เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าสถานที่นี้ได้รับการประดับประดาเสริมแต่งอยู่ก่อน แล้วมาเป็นเวลาหลายศตวรรษทีเดียว”
       
       คณะนักโบราณคดีนานาชาติ ได้ทำงานขุดค้นอยู่ที่วัดมายาเทวีนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว สมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารและรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) และเป็นผู้ให้การสนับสนุนส่วนหนึ่งแก่การทำงานนี้ วางแผนจะนำเอาสารคดีบันทึกเรื่องราวการขุดค้นและสิ่งที่พบออกอากาศทั่วโลกใน เดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “Buried Secrets of the Buddha”
       
       ขณะที่ในทางวิชาการ นอกจากวารสาร “Antiquity” ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการประเภทส่งเรื่องที่จะตีพิมพ์ให้ผู้เชี่ยวชาญในแวด วงเดียวกันทำการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ก่อน จะนำเอารายงานของคณะนักโบราณคดีชุดนี้ มาตีพิมพ์ในฉบับเดือนธันวาคมแล้ว เรื่องนี้ยังจะเป็นหัวข้อใหญ่ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 17 ของสมาคมการศึกษาทางพุทธศาสนาระหว่างประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เดือนสิงหาคมปีหน้าอีกด้วย
       
       ลุมพินี ซึ่งอยู่ในสภาพเป็นป่าทึบ ก่อนจะถูกค้นพบอีกครั้งหนึ่งในปี 1896 นั้น เวลานี้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รับรองให้เป็นมรดกโลก
       
       อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์กันมากว่า เนปาลยังค่อนข้างปล่อยปละละเลยสถานที่สำคัญทางพุทธศาสตร์แห่งนี้
       
       ทางด้าน ราม กุมาร ชเรสธา รัฐมนตรีวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบินพลเรือน ของเนปาล แถลงว่า การค้นพบใหม่ๆ คราวนี้มีความสำคัญมากที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ประสูติของ พระพุทธเจ้าแห่งนี้ และรัฐบาลเนปาลจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออนุรักษ์สถานที่อันสำคัญนี้

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view