สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เร่งตีทะเบียนรับค่าชดเชยยางพารา สุราษฎร์ฯสะดุด2.3หมื่นรายไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน

จากประชาชาติธุรกิจ

ชาว สวนยางสุราษฎร์ฯขึ้นทะเบียนรับเงินค่าปัจจัยการผลิตยางพารากว่า 1 แสนราย พบกว่า 2.3 หมื่นรายไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน รอกรมป่าไม้ตรวจสอบชี้ขาด ด้านเกษตรจังหวัดเผยขั้นตอนการเข้าตรวจสอบแปลงต้องรัดกุมใช้เวลามาก มีเกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว 1,400 ครัวเรือน ด้านจังหวัดนครศรีธรรมราชออกใบรับรองเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว 26,114 ราย ธ.ก.ส.ทยอยโอนเงิน

หลังจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้นัดชุมนุมใหญ่มีการปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลลงมา แก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือออกมาในโครงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราทั้งระบบ โดยมีมาตรการระยะสั้นคือ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ และมีพื้นที่สวนยางเปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ จ่ายชดเชยไร่ละ 2,520 บาท

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุจำนวนเกษตรกรเป้าหมายในโครงการมีจำนวน 111,720 ราย พื้นที่ปลูกยางรวม 2,999,798 ไร่ เป็นพื้นที่เปิดกรีดแล้ว 2,498,060 ไร่ หรือ 83.27% ของพื้นที่ปลูก โดยมีเกษตรกรชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียนถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 จำนวน 102,952 ครัวเรือน คิดเป็น 92.15% ของครัวเรือนเป้าหมาย

นาย ไพศาล โรจน์สราญรมย์ เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าวแล้วประมาณ 1,400 ครัวเรือน ทั้งนี้เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีขั้นตอนการทำงานที่ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีด ซึ่งต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบทุกแปลงทุกรายในรูปแบบของคณะกรรมการตรวจสอบ พื้นที่เปิดกรีด ซึ่งในขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการตรวจสอบ มาก หากมีข้อผิดพลาด เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ

"การ ทำงานของเจ้าหน้าที่ในทุกอำเภอค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในขั้นตอนของการเข้าตรวจสอบแปลงต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องเข้าวัดพื้นที่จริงและมีอุปสรรค อาทิ เกษตรกรบางรายแจ้งพื้นที่ไว้ 25 ไร่ แต่พอเข้าตรวจสอบจริงมีพื้นที่เปิดกรีดเพียง 15 ไร่ เมื่อมีตัวเลขไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น และยังพบปัญหาเมื่อนัดเกษตรกรแล้ว บางรายไม่มานำตรวจตามที่นัดไว้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องย้อนกลับมานัดและตรวจสอบใหม่ ส่งผลให้การทำงานล่าช้าออกไปอีก"

นาย ไพศาลกล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่าจะสามารถออกใบรับรองพื้นที่เปิดกรีดแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนพ.ย.นี้ พร้อมส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง ใช้เงินประมาณ 4,000 ล้านบาท

อย่าง ไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งที่มาขึ้นทะเบียน แต่ภาครัฐยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือได้ เนื่องจากมีเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิตามหลักเกณฑ์ หรือมีเพียงใบ ภทบ. 5 จำนวน 23,909 ราย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้และที่ดินราชพัสดุ สำหรับที่ดินราชพัสดุ ถ้าต้องการให้ถูกต้องและรับสิทธิ์ได้ ผู้ครอบครองที่ดินราชพัสดุต้องมาทำสัญญาเช่ากับธนารักษ์จังหวัด จึงจะได้รับสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือตามโครงการดังกล่าว ส่วนที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน

ด้านนาย อภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดได้ออกใบรับรองเกษตรกรชาวสวนยางแล้ว 26,114 ราย คีย์ข้อมูลเข้าระบบ ธ.ก.ส.แล้ว 15,790 ราย เกษตรกรจะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรแต่ละรายโดยตรงภายใน 3 วัน

สำหรับ อำเภอชะอวดมีเกษตรกรชาวสวนยางขึ้นทะเบียนแล้ว 8,325 ราย จำนวน 13,521 แปลง ส่งข้อมูลให้คณะกรรมการตรวจแปลงระดับตำบลแล้ว 7,405 ราย จำนวน 11,694 แปลง และได้ออกใบรับรองให้เกษตรกรแล้ว 1,609 ราย 2,359 แปลง ธ.ก.ส.โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว 816 ราย จำนวน 1,083 แปลง พื้นที่ 6,271.5 ไร่ จำนวน 16 ล้านบาท เฉพาะตำบลควนหนองหงษ์ออกใบรับรองให้เกษตรกรแล้ว 700 ราย จากทั้งหมด 845 ราย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view