สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กินข้าวแบบไม่เสี่ยงตาย หากรมควันกันแมลงถูกวิธี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

     ใน ที่สุดรัฐบาลก็หาทางลงให้กับตัวเองเจอ กับกรณีข้าวไทยมีสารรมควันป้องกันมอดและแมลงตกค้าง ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี เพราะในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายข้าว เพื่อผู้บริโภคปลอดภัย” ซึ่งมีการเปิดตัวชุดทดสอบสารรมควันฟอสฟีนอย่างง่ายเป็นครั้งแรกของไทยนั้น นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

       “หลังจากมีปัญหาตรวจพบสารที่ใช้รม ควันเพื่อป้องกันมอดและแมลงตกค้างในข้าวสาร เมื่อช่วง มิ.ย.ที่ผ่านมา จนเกิดความตระหนก ทำให้ผู้บริโภคในประเทศขาดความเชื่อมั่นและกระทบการส่งออก ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหามาจาก 2 ประเด็น คือ 1.มีการปนเปื้อนจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และปฏิบัติไม่ถูกต้องของผู้ รมควันข้าวสาร และ 2.การแปลผลตรวจข้าวไม่ถูกต้อง ทำให้มีการตีความให้เข้าใจผิดและตื่นตระหนก
       
       และด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่และ ผู้ประกอบการที่ดำเนินการผลิตและจำหน่ายข้าวสาร ให้รู้จักวิธีการรมควันข้าวเพื่อป้องกันมอดและแมลงอย่างถูกวิธี ซึ่งการันตีเหลือเกินว่า หากทำได้ตามวิธีที่กำหนด แม้จะตรวจพบสารตกค้างของสารแต่ก็ไม่เกินค่ามาตรฐานและไม่เป็นอันตรายต่อ ชีวิตผู้บริโภค
       
       ซึ่งเรื่องนี้เองที่คนไทยจำนวนมากตั้งคำถามว่า ทำไมจะต้องบริโภคข้าวที่ผ่านการรมสารเคมี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายด้วย
       
       นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐาน สินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) อธิบายว่า เพราะการเก็บรักษาข้าวเปลือกหรือข้าวสารเป็นเวลานาน อาจมีมอดและแมลงเข้ามากัดกินจนเสียคุณภาพได้ จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีรมควันเพื่อกำจัด ซึ่งสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ในโรงเก็บข้าวปัจจุบัน คือ อะลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือ แมกนีเซียมฟอสไฟด์ ซึ่งสาร 2 ชนิดนี้ ใช้ในรูปเม็ด ขนาดเม็ดละ 1 กรัม วางในโรงเก็บข้าวในปริมาณ 2-3 เม็ดต่อข้าว 1 ตัน และปิดผ้าคลุมให้มิดชิด ทิ้งไว้ 5-7 วัน สารเคมีจะปล่อยก๊าซไฮโดรเจนฟอสไฟด์ ซึ่งมีฤทธิ์กำจัดแมลง และเมื่อเปิดผ้าคลุม ก๊าซจะสลายไปภายใน 12 ชั่วโมง
       
       ดังนั้น เมื่อนำข้าวมาบรรจุในถุงจะไม่มีสารเคมีตกค้างในข้าวสาร และสารนี้จะไม่สะสมในข้าวแม้จะผ่านการรมควันมาหลายครั้ง
       
       อย่างไรก็ตาม มาตรฐานสากลของ โคเด็กซ์ ได้กำหนดปริมาณสารตกค้างสูงสุดไว้เป็นระดับที่ปลอดภัยไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยพบสารไฮโดรเจนฟอสไฟด์ตกค้างสูงเกินมาตรฐาน และประเทศคู่ค้าของไทยไม่เคยแจ้งว่า พบสารดังกล่าวในข้าวไทย เนื่องจากสารดังกล่าวมีคุณสมบัติเป็นก๊าซที่มีการสลายตัวเร็ว จึงทำให้ไม่พบรายงานว่ามีสารตกค้างในข้าวไทยมาก่อน
       
       ในเมื่อการรมข้าวเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่จะผ่านร้านค้ามาถึงมือของผู้ บริโภคอย่างเราๆ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ข้าวผ่านการรมสารมาอย่างถูกวิธี เพราะช่วงที่เป็นข่าวโด่งดังคราวนั้น ผู้ประกอบการก็ออกมายอมรับเองว่า มีการรมข้าวภายหลังบรรจุใส่ถุงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผิดหลักในการรมข้าวอย่างสิ้นเชิง
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายชูศักดิ์ ว่องวิชชกร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หาก มีการรมข้าวอย่างถูกวิธี การจะพบเจอสารตกค้างภายในข้าวสารจะมีโอกาสน้อยมาก ส่วนกระแสข่าวที่ว่าแมวกินข้าวที่มีสารรมควันตกค้างแล้วตายนั้น ที่จริงแล้วการพบซากแมวตายในโกดังข้าว ก็เพราะแมวเข้าไปอยู่ในโกดังขณะกำลังรมควัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดไหนหรือคนถ้าเข้าไปอยู่ในโกดังปิดขณะรมควันก็ต้องตาย ทั้งนั้น
       
       อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ยืนยันว่า สารที่ใช้รมข้าวจะระเหยหายไปได้ทั้งหมด เมื่อมีการเปิดให้ระบาย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะมีสารตกค้างในข้าว ส่วนกรณีที่ผู้ทำการรมข้าวปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์นั้น กรมวิชาการเกษตรก็มีการสอนและอบรมเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ในการรมข้าวนั้นก็คือ จะต้องใช้สารให้ถูกต้อง หมายถึงปริมาณสารต้องถูกต้องต่อปริมาณสินค้าที่ต้องการรม ปริมาตรของห้องหรือพื้นที่ในการรม ระยะเวลาและการระบายหลังการรม หากเป็นข้าวสาร การรมที่ปลอดภัยจะกำหนดปริมาณของสารเอาไว้ที่ 2 กรัมต่อกองข้าว 1 ลูกบาศก์เมตร ใช้ระยะเวลาในการรม 120 ชั่วโมง ส่วนการระบายสารใช้เวลาระบายได้นานที่สุดจะยิ่งดี แต่หากมีพัดลมช่วยเป่าก็อาจใช้เวลาอยู่ที่ 3-4 ชั่วโมง และหลังจากระบายเสร็จแล้วต้องมีการตรวจวัดแต่ละกองด้วยว่ามีสารตกค้างอยู่ หรือไม่
       
       ทั้งนี้ สารดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบเม็ด การจะใส่จำนวนกี่เม็ดนั้นจะต้องดูปริมาณของสารว่า 1 เม็ดมีขนาดเท่าไร เช่น 1 เม็ดมีขนาด 1 กรัม ดังนั้น กองข้าว 1 ลูกบาศก์เมตรก็จะต้องวางยา 2 เม็ด ส่วนปริมาตรของห้องก็ต้องพิจารณาว่ามีปริมาตรเท่าไร หากห้องนั้นสมมติมีปริมาตร 1,000 ลูกบาศก์เมตร ก็ต้องใช้สารทั้งหมด 2,000 เม็ด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สินค้าแต่ละอย่างจะมีการกำหนดค่าดังกล่าวอยู่แล้ว อย่างสินค้าที่เป็นเมล็ดเหมือนข้าว เช่น ธัญพืช ก็ใช้ปริมาณเดียวกับข้าวคือ 2 กรัมต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร แต่หากเป็นการส่งออกก็จะขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางว่าต้องการให้เราใช้สาร ปริมาณเท่าไร ส่วนผลไม้อัตราจะเป็น 24 กรัมต้อ 2 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันไม่มีการรมในผลไม้แล้ว เป็นต้น
       
       “การรมจะต้องควันข้าวปริมาณสารจะต้อง สมดุลกับปัจจัยที่กล่าวไป เพราะหากพื้นที่ในการรมมีปริมาตรมาก แต่กลับใช้สารรมควันน้อย ความเข้มข้นของสารก็จะจาง ทำให้อาจกำจัดมอดและแมลงได้ไม่หมด เป็นต้น ซึ่งในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร หลักเกณฑ์ในการรมควันข้าวก็มีอยู่ประมาณเท่านี้ แต่ที่สำคัญคือการรมควันข้าวจะต้องรมเฉพาะตอนเป็นวัตถุดิบอยู่ หากบรรจุถุงแล้วจะไม่มีการรมเด็ดขาด
       
       แม้จะมีการยืนยันว่า สารรมควันที่ใช้ ทั้งฟอสฟีนหรือเมทิลโบรไมด์จะไม่เป็นอันตราย แต่หากร่างกายได้รับสารดังกล่าวเข้าไปแล้วจะมีโอกาสเสี่ยงอะไรต่อสุขภาพบ้าง นางกัญญา พุกสุ่น นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลุ่มงานพิษวิทยาและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้อธิบายในบทความ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวสิ่งเป็นพิษทางการเกษตร : สารรมควัน ภายในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา ว่า
       
       1.ฟอสฟีน (Phosphine, H3P) เป็นก๊าซคล้ายกลิ่นปลา เน่า ได้จากอลูมินัมฟอสไฟด์ (Aluminum phosphide) ซึ่งมีลักษณะเป็นผลึกสีเทาดำหรือเหลืองคล้ำ ทำปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศ อาการพิษนั้นเกิดจากการกินหรือสูดดม จะเกิดอาการปวดฟัน ขากรรไกร บวม มีการตายของเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกขากรรไกรล่าง คลื่นไส้ อาเจียน ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ตัวเหลือง ชากล้ามเนื้อไม่ประสานกัน หายใจลำบาก ปดบวมน้ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ชักและอาจตายภายใน 4 วัน หรือ อาจจะ 1-2 สัปดาห์
       
       ในด้านการป้องกันและรักษา ก่อนอื่นต้องย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีก๊าซ ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ ล้างท้องด้วยน้ำ 5-10 ลิตร ให้ 10% (Calcium gluconate 10 มิลลิลิตร เพื่อการรักษาระดับ Calcuim ในซีรั่ม ให้ 5% Glouose 1-4 ลิตร ทุกวันจนสามารถกินอาหารได้ รักษาเนื้อเยื่อบริเวณขากรรไกรด้วยการผ่าตัด หากถูกบริเวณขากรรไกรด้วยการผ่าตัด หากถูกผิวหนังหรือตา ให้ล้างออกด้วยน้ำอย่างน้อย 15 นาที
       
       2.เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide,CH3Br) เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดไฮโดรไลซ์ ได้เมทธิลแอลกอฮอล์ และ อนุมูลโบรไมด์ อาการพิษนั้นเกิดจากการสูดดมหรือซึมเข้าทางผิวหนังจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวลำบาก อ่อนเพลีย อัมพาต ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ เนื่องจากไตบกพร่องความคิดสับสน ความดันต่ำ ชัก ปอดบวมน้ำ ตาย หากถูกผิวหนังจะระคายเคืองเป็นเม็ดตุ่มพอง
       
       ด้านการรักษาและการป้องกัน ย้ายผู้ป่วยจากบริเวณที่มีก๊าซ สังเกตอาการภายใน 48 ชั่วโมง ให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ ให้ Diazepam ควบคุมการชัก ให้ Sodium bicarbonate ทุก 6-12 ชั่วโมง เพื่อรักษาอาการไอ ถ้าจำเป็นต้องรักษาอาการพิษของเมทิลแอลกอฮอล์ด้วย
       
       คราวนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่า หลังจากจัดอบรมให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่รมควันข้าวแล้ว ความผิดพลาดในการรมควันข้าวจะเกิดขึ้นอีกกี่มากน้อย ซึ่งล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ได้ออกชุดทดสอบสารฟอสฟีนตกค้างในข้าวอย่างง่ายที่ สามารถรู้ผลได้ใน 20 นาทีว่า ข้าวสารนั้นมีสารตกค้างหรือไม่ แต่ปริมาณเท่าไรนั้นคงต้องไปวัดผลกันในแล็บต่อไป


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view