สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนเกษตรกรปรับตัวราคายางไม่สูงอย่างในอดีต

จาก โพสต์ทูเดย์

ศูนย์วิจัยฯ ชี้จีนกำลังขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในกลุ่ม CLMV ลดพึ่งพานำเข้า ทำราคายางไม่สูงมากเหมือนอดีต เตือนไทยเร่งปรับตัวรองรับ 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เศรษฐกิจเรื่อง "ส่องนโยบายยางพาราจีน นัยต่อไทยในอีก 1 ทศวรรษหน้า" ระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของไทย โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV คำถามคือ การขยายพื้นที่ดังกล่าว จะทำให้จีนมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกและไทยลดลงหรือไม่ จากการวิเคราะห์ของ EIC พบว่า ผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลให้ความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนปรับตัวลดลงในช่วง 10 ปีข้างหน้า แต่อาจทำให้บทบาทของไทย ในการเป็น supplier หลักในตลาดโลกลดความสำคัญลง พร้อมทั้งยังทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ จีนเป็นผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลก โดยเกือบ 80% เป็นการบริโภคยางพาราที่นำเข้าจากตลาดโลก การขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2012 จีนมีปริมาณการบริโภคยางพาราจำนวน 3.9 ล้านตัน หรือคิดเป็น 35% ของการบริโภคยางพาราทั่วโลก ในขณะที่จีนมีผลผลิตยางพาราเพียง 0.79 ล้านตันหรือราว 21% ของความต้องการบริโภคยางพาราในประเทศ ทำให้ในแต่ละปี จีนต้องนำเข้ายางพาราเป็นจำนวนมาก โดยในปีที่ผ่านมามีการนำเข้ายางพารา 2.5 ล้านตัน หรือราว 32% ของการค้ายางพาราทั่วโลก

แต่ด้วยความสามารถในการพึ่งพาผลผลิตในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้จีนมีนโยบายลงทุนขยายสวนยางพาราทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอุปทานให้อุตสาหกรรมของตน รัฐบาล จีนตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากขาดแคลนยางพาราในประเทศ จึงได้ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2005-2012 มีการขยายพื้นที่ปลูกราวปีละ 260,000 ไร่ ปัจจุบันจีนจึงมีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 6.5 ล้านไร่ นอก จากนั้น ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านยุทธศาสตร์  “Going Global” เพื่อสร้างหลักประกันต่อการจัดหายางพาราให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคใน ประเทศ โดยจีนได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยในช่วงปี 2006-2012 พื้นที่ปลูกยางพาราในกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้นราวปีละ 1 ล้านไร่ ทำให้ในปัจจุบันกลุ่มประเทศดังกล่าวมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกันมากถึง 12.2 ล้านไร่ ใกล้เคียงกับไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 14.7 ล้านไร่

อย่างไรก็ตาม การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนในตลาดโลกและจากไทย ในช่วงที่ผ่านมา การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราในประเทศของจีนทำได้ไม่มากนัก เพราะแม้ว่าจีนจะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แต่พื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสมกับการปลูกยางพารากลับมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ผลผลิตยางพาราที่คาดว่าจะออกมาในช่วง 10 ปีข้างหน้า จะยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นราวปีละ 7% โดยจากข้อมูลของ International rubber study group (IRSG) พบว่าผลผลิตยางพาราของจีนในปี 2022 จะอยู่ที่ราว 1.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 21% ของความต้องการบริโภค ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรวมผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV กับจีน ก็จะพบว่า ผลผลิตที่ได้ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของจีนอีกเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจีนจะมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากตลาดโลกราว 3 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปี 2012 ที่มีความต้องการนำเข้าเพียง 2 ล้านตัน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทยไปจีนในช่วง 10 ปีข้างหน้า

แต่บทบาทของไทยในฐานะ supplier หลักในตลาดยางพาราโลกจะลดความสำคัญลง ขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV จะมีมากขึ้น แม้ว่าการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของจีนและกลุ่มประเทศ CLMV จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางพาราของไทย แต่การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราของกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงปี 2006-2012 จะทำให้ผลผลิตยางพาราในกลุ่มประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในช่วงปี 2013-2019 โดย IRSG คาดว่า ผลผลิตยางพาราของกลุ่ม CLMV จะเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ล้านตันในปี 2012 เป็น 2.8 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้กลุ่ม CLMV มีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตยางพาราในโลกเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 17% ในปี 2022 ในขณะที่ไทยจะมีส่วนแบ่งปริมาณผลผลิตในโลกลดลง จาก 31% ในปี 2012 เป็น 24% ในปี 2022

ราคายางพาราในตลาดโลกจะไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบมีอิทธิพลต่อราคายางพารา เพิ่มขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ในช่วง 1 ทศวรรษหน้า โลกจะต้องเผชิญกับภาวะผลผลิตยางพาราล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2013-2022 โลกจะมีผลผลิตส่วนเกินเฉลี่ยปีละ 162,000 ตัน แตกต่างจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่โลกประสบปัญหาการขาดแคลนยางพารา ซึ่งแม้ส่วนเกินดังกล่าวจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะเป็นตัวสร้างแรงกดดันให้ราคายางพาราไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปอยู่ใน ระดับสูงเหมือนในอดีต

นอกจากนั้น ในระยะต่อไป ปัจจัยที่กระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก เช่น ภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ จะมีอิทธิพลต่อราคายางพาราโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาหรือราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ก็จะส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่วนเกินผลผลิตยางพาราโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะนำว่า เกษตรกรชาวสวนยางจะต้องปรับตัว เพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่กรีดยางพาราในประเทศ CLM แรงงานกรีดยางในภาคใต้จำนวนหนึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มาจากประเทศ CLM โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า พื้นที่กรีดยางในประเทศดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นราว 2.6 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ความต้องการแรงงานเพื่อกรีดยางในกลุ่มประเทศดังกล่าวปรับตัว เพิ่มขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะในการกรีดยาง อาจจะกลับไปในประเทศของตน ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของชาวสวนยางปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อที่จะรักษาแรงงานไว้ เกษตรกรอาจจะต้องปรับสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ให้แรงงานกรีดยางเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและจีนตกต่ำ การที่ผลผลิตในกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น ทำให้จีนมีทางเลือกในการนำเข้ายางพาราเพิ่มขึ้น หาก ความต้องการบริโภคยางพาราในจีนปรับตัวลดลง จีนก็มีแนวโน้มที่จะหันไปนำเข้ายางพาราจากประเทศในกลุ่ม CLMV และลดการนำเข้าจากไทย เพราะราคายางพาราไทยแพงกว่าราคาในกลุ่มประเทศดังกล่าว  ดังนั้น ในระยะต่อไป ไทยจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันด้านราคา ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยอยู่ที่ 262 กิโลกรัมต่อไร่ ต่ำกว่าเวียดนามที่มีผลผลิตอยู่ที่ 275 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งไทยสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ หากมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อต้นเพิ่มขึ้น


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view