สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รมว.เกษตรฯย้ำชัดไม่แทรกแซงราคายาง100บ./กก.

รมว.เกษตรฯย้ำชัดไม่แทรกแซงราคายาง100บ./กก.

จาก โพสต์ทูเดย์

ยุคล” เมินซื้อยางกิโลกรัมละ 100 บาท ระบุแนวทางเดิมดีแล้ว เชื่อหนุนสินเชื่ออุตสาหกรรมช่วยยกระดับราคายาง

นายยุคล  ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  รัฐบาลยังยืนยันคงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจ่ายเงินเป็นค่าปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรโดยตรงเหมือนเดิม ไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดโดยรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่ 100 บาท/กก. ตามข้อเรียกร้อง เพราะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และจะยิ่งส่งผลให้ราคายางตกต่ำยิ่งขึ้น

ดังนั้น นอกจากมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบพื้นที่ปลูกยางของเกษตรกรเพื่อ จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางแล้ว ยังมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเกษตรกรในพื้นที่ถึงกลไกของ ราคายางที่แท้จริงอย่างต่อเนื่องด้วย

นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับความคืบหน้ามาตรการที่รัฐจะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนวง เงิน 5,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปที่มีการ สร้างไว้แล้วหรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ และรับซื้อผลผลิตยางจากเกษตรกรโดยตรงทำให้ราคายางในประเทศมีระดับราคาที่สูง ขึ้น  ขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างสรุปข้อมูลสหกรณ์แปรรูปยาง และเตรียมเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น  โรงงานผลิตยางแท่ง ยางแผ่น โรงผลิตน้ำยางข้น เพื่อป้อนโรงงานผลิตถุงมือยาง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งธนาคารออมสินจะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม ก็มีความคืบหน้าแล้วเช่นกัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ได้ประชุมเพื่อเสนอโครงการสนับสนุนการขยายกำลัง การผลิตและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ในวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น หากการดำเนินการมีความชัดเจนภายในกลางปีหน้า จะช่วยรับซื้อผลผลิตยางในประเทศจากเกษตรกร และเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นการแก้ปัญหาราคายางที่จะช่วยลดการพึ่งพาราคาตลาดต่างประเทศที่จะส่งผล ให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ


ยิงถล่ม-ปาบึ้มบ้านแกนนำม็อบยาง

จาก โพสต์ทูเดย์

คนร้ายกราดยิง-ปาระเบิดใส่บ้านแกนนำม็อบยางนครศรีฯ ภรรยาบาดเจ็บ ตำรวจชี้ปมส่วนตัว รู้กลุ่มคนร้ายแล้ว

คนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มบ้านพักนายจรัญ บุญมี อยู่บ้านเลขที่ 62/15 ม.5 ต.ทุ่งโพธิ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับขว้างปาระเบิดใส่อีก 2 ลูก เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่นางสุภาพร บุญมี  และ ด.ช.ธรรมวุฒิ บุญมี ภรรยา และลูกของนายจรัญ นอนหลับอยู่ภายในบ้าน จนถูกสะเก็ดกระสุนปืนถูกปลายจมูกของนางสุภาพรบาดเจ็บ

นางสุภาพร กล่าวว่า หลังเกิดเหตุทุกคนในบ้านหวาดผวากันหมด ก่อนเกิดเหตุกลางคืนนั้นขณะที่นอนหลับอยู่ภายในบ้านห้องนอนก็ได้ยินเสียงปืน ดังขึ้น 1 นัด ก่อนจะมีการกราดยิงรัวติดต่อกันหลายสิบนัดที่บนถนนหน้าบ้าน ตอนถูกสะเก็ดกระสุนก็ไม่มีอาการเจ็บปวดเพราะความตกใจ มารู้สึกเจ็บอีกครั้งตอนที่เสียงปืนหยุดยิง และมีเลือดไหลลงบนที่นอนและพื้นห้อง

ด้านนายจรัญ กล่าวว่า วันเกิดเหตุร่วมกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางไป จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมชุมนุมกับกลุ่มชาวสวนยางที่แยกธรรมรัตน์ หลังเกิดเหตุภรรยาโทรศัพท์มาบอกว่าคนร้ายบุกยิงถล่มบ้าน จึงรีบกลับทันที ถึงบ้านประมาณเช้าอีกวัน ซึ่งเมื่อมาถึงพบว่าบ้านถูกยิงพรุนทั้งหลัง และเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบได้พบปลอกกระสุนอาวุธสงคราม รวมทั้งระเบิดอีก 2 ลูก กระเดื่องระเบิด 3 อัน

ขณะเกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนน่าจะใช้รถยนต์เป็นพาหนะ ก่อนจะลงจากรถมายืนยิงจากบนถนนหน้าบ้าน ซึ่งห่างจากตัวบ้านประมาณ 15 เมตร ขณะนั้นภรรยาและลูก กำลังนอนหลับอยู่ภายในบ้าน เป็นเหตุให้กระสุนที่ยิงถูกฝาผนังห้องได้แฉลบมาเฉี่ยวจมูกของภรรยาได้รับบาด เจ็บ โชคดีที่ไม่เสียชีวิตจากคมกระสุนดังกล่าว ตอนนี้ภรรยาและลูกชายปลอดภัย แต่ยังอยู่ในอาการขวัญผวาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะที่ พ.ต.อ.สนธิชัย อาวัฒนกุลเทพ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช กล่าวว่า หลังเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มบ้านนายจรัญ แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสอบสวนเบื้องต้นนั้นพบว่ามาจากเรื่องส่วนตัว และทราบกลุ่มคนร้ายแล้วว่าเป็นกลุ่มไหน เนื่องจากมีการติดตามพฤติกรรมข้อมูลของบุคคลกลุ่มนี้มาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุนั้นไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องของการชุมนุมแต่อย่างใด


เจรจาเหลวม็อบยางปิดถนนเพชรเกษมต่อ

จาก โพสต์ทูเดย์

ผู้ว่าฯประจวบคีรีขันธ์เจรจาแกนนำม็อบรอบ 2 แต่ยังล้มเหลวอีกเช่นเคย ผู้ชุมนุมยังไม่เปิดถนน

นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเจรจากับตัวแทนภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำที่ มัน 16 จังหวัดภาคใต้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทองมงคล อ.บางสะพาน เพื่อหาข้อยุติในการชุมนุม หลังจากเมื่อวันที่ 27 ต.ค. แกนนำฯได้เจรจากับ  พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย แล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ทั้งนี้ สาระสำคัญในการเจรจามีข้อเรียกร้องเดิม ประกอบด้วย 1.ให้รัฐบาลชดเชยราคาพืชผลการเกษตรยางพาราที่กิโลกรัมละไม่น้อยกว่า 100 บาท ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ ในระดับนโยบาย และขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ไร่ละ 2,520 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน  

นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคนกรีดยางที่ไม่ได้รับประโยชน์จาก การช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตของรัฐบาล  จากนั้นแกนนำฯได้เจรจาขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนกรณีการช่วยเหลือผู้ไม่มี เอกสารสิทธิภายใน 30 วัน  แต่ต่อมามีการต่อรองให้เหลือเพียง 7 วัน ทำให้ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน  แต่การเจรจามีมติที่จะร่วมกันจัดตั้งคณะอนุกรรมการไตรภาคีร่วมกันระหว่าง รัฐบาล ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม แกนนำเครือข่ายได้ยุติการเจรจาเมื่อเวลา 18.20 น. และบอกแต่เพียงว่าจะนำประเด็นทั้งหมดไปหารือกับชาวบ้านที่ชุมนุมที่ชุมนุม อยู่ เพื่อให้ชาวบ้านตัดสินใจร่วมกันว่าจะยุติการชุมนุมหรือไม่  และขอเชิญสื่อมวลชนไปที่เวทีปราศรัยเพื่อติดตามผลการเจรจาไปหารือกับชาวบ้าน และจะมีการแถลงข่าวที่เวทีฯ แต่ไม่มั่นใจว่าการชุมนุมจะมีมือที่สารมเข้ามาสร้างสถานการณ์หรือไม่ 


ชาวสวนชุมพรขู่ระดมพลหากสลายม็อบยาง

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวสวนยางชุมพรประกาศพร้อมเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ หากรัฐบาลสลายกลุ่มผู้ชุมนุมปิดถนนเพชรเกษมที่ประจวบฯ

นายกฤษณ์ แก้วรักษ์ นายก อบต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะ ในฐานะประธานชมรมนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายนพพร อุสิทธิ์ ส.อบจ.ชุมพร เขต อ.สวี ได้เชิญบรรดานายก อปท.ชุมพร และตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันประมาณ 50 คน เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้รัฐบาลรีบ ดำเนินการแก้ปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมันมีราคาตกต่ำ โดยมี นายชุมพล จุลใส สส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมหารือด้วย

จากนั้นผู้ร่วมประชุมทั้งหมดได้ร่วมกันแถลงสรุปได้ว่า หลังจากชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันได้ร่วมกันชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล แก้ปัญหาด้วยการรับซื้อยางพาราในราคากิโลกรัมละ 100 บาท และรับซื้อปาล์มน้ำมันในราคากิโลกรัมละ 6 บาท แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือที่น่าพอใจ แม้รัฐบาลรับปากว่าจะช่วยเหลือด้วยการลดต้นทุนการผลิตให้ไร่ละ 2,520 บาท ซึ่งในจ.ชุมพรมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 29,000 ราย แต่ขณะนี้กลับมีการขึ้นทะเบียนได้ประมาณ 160 คนเท่านั้น ถือว่าช้ามากๆ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล 2 ข้อคือ 1.ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเกษตรกรตามที่มีการรับปากเอาไว้ ซึ่งเกษตรกรยังยืนยันให้รัฐบาลหามาตรการรับซื้อยางพาราในกิโลกรัมละ 100 บาท และปาล์มน้ำมันในราคากิโลกรัมละ 6 บาท 2.กรณีที่มีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันชุมนุมเรียกร้องที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ หากรัฐบาลสั่งใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันใน จ.ชุมพร ก็พร้อมเคลื่อนไหวใหญ่ทันที

“การเคลื่อนไหวจะเป็นในลักษณะใด ต้องมีการหารือกับเครือข่ายชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันใน 14 จังหวัดภาคใต้ก่อน กรณีที่ถามว่าจะมีการปิดถนนสายหลักด้วยหรือไม่ คิดว่าการปิดถนนคงเป็นมาตรการสุดท้าย แต่ในชั้นแรกคงจะพุ่งเป้าไปที่สถานที่ราชการ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลในพื้นที่ก่อน เมื่อคืนที่ผ่านมา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ออกมากล่าวหาว่าการชุมนุมของชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันเป็นม็อบการเมือง ที่มีนักการเมืองอักษรย่อ ฉ.กับ ส.อยู่เบื้องหลัง ถือเป็นสิ่งที่น่าละอายมาก เพราะนายพร้อมพงศ์ก็เป็นคนใต้ซึ่งรู้ดีว่าการทำสวนยางกับสวนปาล์มนั้นเขาทำ กันอย่างไร อะไรคือต้นทุนที่แท้จริง อะไรคือความอยู่รอดของเกษตรกร จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาดูข้อมูลที่แท้จริงว่า อะไรคือการเสแสร้งแกล้งทำ อะไรคือการเมือง เพราะรัฐบาลมีกลไกในการหาข้อมูลที่ถูกต้องอยู่แล้ว ส่วนที่รัฐบาลชอบบอกว่าเกษตรกรภาคอื่นเข้าใจหมดแล้วยกเว้นในภาคใต้เท่านั้น คิดว่ารัฐบาลต่างหากที่ไม่เข้าใจคนใต้” นายกฤษณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการปิดถนนคงเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้รัฐบาลหันมา ให้ความสนใจปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างจริงจัง ทราบว่าวันที่ 31 ต.ค.นี้ เกษตรจังหวัดชุมพรจะมีการประชุมเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ให้ แล้วเสร็จ หลังจากนั้นเกษตรกรจะให้เวลารัฐบาลไม่เกิน 1 เดือน หากยังไม่มีความชัดเจน หรือบอกว่าต้องรอไปอีก 7 เดือน เกษตรกรคงไม่สามารถรอได้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view