สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โวยกรมชลฯจ่ายค่าเวนคืนที่ดินต่ำกว่าซื้อ

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวบ้านอุตรดิตถ์ไม่พอใจกรมชลประทาน จ่ายค่าเวนคืนที่ดินต่ำกว่าราคาซื้อขาย

นายทักษะ อัปปมัญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ได้ร่วมหารือกับ ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ข่อยสูง จำนวน 93 ราย กรณีนายเกษม สงวนวงษ์ หัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน 3 สำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน มีประกาศกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืน และจำนวนเงินทดแทนโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ โดยทั้งหมดเห็นว่าเงินที่จะได้รับจากการเวนคืนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถูกแนวคลองชลประทานซึ่งเป็นคลองกว้างขนาด 60 เมตร ได้รับต่ำกว่าราคาซื้อขายจริง

นายทักษะ กล่าวว่า ชาวบ้านทั้งหมดพอใจกับการจ่ายเงินทดแทนกรณีของต้นไม้ พืชผลทางการเกษตร และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เหมาะสมกับความเป็นจริงแล้ว แต่ที่ไม่เห็นด้วยและเห็นว่าต่ำมากจนเกินไป คือ ที่ดิน ซึ่งปกติจะมีการซื้อขายกันในราคาไร่ละ 110,000-200,000 บาทเป็นอย่างต่ำ แต่กรมชลประทานจ่ายทดแทนให้ไร่ละ 32,000 บาทเท่านั้น ที่ดินของชาวบ้านบางรายแปลงเดียวกันก็ได้รับเงินทดแทนต่างกันหลายเท่า ชาวบ้านบางรายเพิ่งซื้อที่ดินมาในราคาไร่ละ 110,000 บาท ทำกินไม่นานนักแต่ก็ต้องมาโดนแนวก่อสร้างคลองส่งน้ำได้รับการทดแทนไร่ละ 32,000 บาท บางรายได้เงินทดแทนต่ำสุดเพียง 209.20 บาทเท่านั้นเอง แต่ต้องสูญเสียที่ดินไป จะนำเรื่องหารือกับกำนันและผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ข่อยสูง เพื่อหาทางคัดค้านและแก้ไขโดยเร็ว

ด้านนางเจริญ แก้วคต กล่าวว่า ได้รับที่ดินเป็นมรดกจำนวน 11 ไร่ ยึดอาชีพทำไร่อ้อยได้ปีละ 220 ตัน ขายอ้อยได้ตันละ 1,000 บาทเฉลี่ยมีรายได้ปีละราว 180,000 บาทเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว แต่การปลูกอ้อย 1 ครั้งสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 3 ครั้ง หรือ 3 ปี แต่เมื่อมีโครงการก่อสร้างคลองชลประทานเข้ามากินพื้นที่ไป 9.3 ไร่ ได้รับเงินทดแทนเพียง 386,000 บาทเศษเท่านั้น ที่ดินเหลือราว 1 เศษ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ หากประเมินตามราคาซื้อขายกัน 9.3 ไร่น่าจะได้มากกว่า 1 ล้านบาท เพราะจะได้นำเงินไปซื้อที่ดินทำมาหากินแห่งใหม่

“ไม่ได้ดูถูกเงิน 3.8 แสนบาท แต่ปลูกอ้อยครั้งเดียวก็ได้แล้ว ที่ดินก็ยังคงอยู่ทำกินไปจนตายยังตกทอดไปยังรุ่นลูกหลานได้อีกด้วย แต่เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้เงินที่ได้รับก็ไม่รู้ว่าจะใช้ได้นานขนาดไหน เพราะมีความรู้แต่เรื่องทำการเกษตรจะให้ไปค้าขายหรือทำอย่างอื่นก็คงยาก จะนำเงินไปซื้อที่ดินแห่งใหม่เพื่อทำมาหากินก็คงไม่พอ กรมชลประทานให้เงินทดแทนน้อยเกินไป ทำไมไม่ยึดความถูกต้องและความเหมาะสมทำไมต้องรังแกประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ เช่นนี้ด้วย” นางเจริญ กล่าว

ด้านนายใจ ปิ่นทอง ชาวบ้านอีกรายที่เดือดร้อนเรื่องดังกล่าว กล่าวว่า ข้องใจว่าทำไมก่อนที่หน่วยงานจะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างคลองชลประทานใน พื้นที่ไม่แจ้งให้ประชาชนทราบ ไม่เคยมาสอบถามความเห็นของประชาชนว่า ต้องการหรือเหมาะสมหรือไม่ คลองส่งน้ำในพื้นที่การเกษตรเดิมก็มีอยู่จำนวนมาก ทำไมต้องมาขุดพื้นที่ทำกินและบ้านเรือนของประชาชนให้เป็นคลองส่งน้ำแห่งใหม่ ด้วย

“การจ่ายเงินทดแทนให้กับประชาชนที่เดือดร้อนที่ต้องเสียพื้นที่ไปเพื่อ การก่อสร้างคลองชลประทานมันถูกเกินไป ทำไมหน่วยงานไม่แก้ไขโดยการหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ให้ เพราะบางรายที่ดินทำกินถูกแนวคลองผ่านจนไม่เหลือที่ดินทำกินอีกเลย อนาคตชาวบ้านเหล่านี้จะเป็นอย่างไรใครจะรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าประชาชนไม่ต้องการคลองส่งน้ำ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน เมื่อเดือดร้อนแล้วหน่วยงานก็ไม่เคยเข้ามาดูแล เป็นการมัดมือชกโดยที่ประชาชนไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลย” นายใจ กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view