สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้เชี่ยวชาญแนะรับมือน้ำตะวันออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผู้เชี่ยวชาญแนะรับมือน้ำตะวันออก บายพาสน้ำบางปะกง-สร้างแก้มลิง

นักวิชาการด้านน้ำจากทีมกรุ๊ปและจุฬาฯ ร่วมเสนอแนวคิดจัดการน้ำในภาคตะวันออก เพื่อเตรียมพร้อมข้อมูล ก่อนถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภาคตะวันออกจากหน่วยงานในพื้นที่ โดยกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ในวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค.นี้

บายพาส-แก้มลิงคือทางออก

นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีมกรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด นำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาอุทกภัยในภาคตะวันออกว่า หัวใจของปัญหาคือแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยวมากกว่าแม่น้ำท่าจีน โดยเป็นรูปเกือกม้าตลอดทั้งสาย บางจุดเป็นโค้งหักศอก ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ช้า สิ่งที่ทำได้คือ การขุดช่องลัดเพื่อให้น้ำ 400-600 ลบ.ม. ระบายออกทะเลอ่าวไทยได้เร็วที่สุด

"สองจุดที่เหมาะสมในการขุดช่องลัด หรือบายพาสให้กับแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา คือ อ.บางคล้า ซึ่งมีเขื่อนทดน้ำบางปะกงรองรับน้ำที่ระบายมา อีกจุดที่ควรทำบายพาสอยู่ที่ อ.บ้านโพธิ์ มีสองช่องทางรองรับน้ำ คือ คลองประเวศบุรีรมย์ ต่อไปยังคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ลงสู่อ่าวไทย อีกช่องทางคือแนวผันน้ำวงแหวนรอบ 3 ที่ผ่านมาทางเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ" นายชวลิต กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญยังเสนอเรื่องของพื้นที่รับน้ำ ทั้งในรูปแบบของแก้มลิงและอ่างกักเก็บน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องมาจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นแนวเขาสูง น้ำจึงระบายลงมายังปราจีนบุรี ต่อเนื่องมาถึงฉะเชิงเทราและชลบุรี ซึ่งลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ มีองศาการเอียงไม่มาก ทำให้น้ำไหลช้าตามธรรมชาติของพื้นที่

ผู้เชี่ยวชาญมีแนวคิดว่า ควรจะกำหนดพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงตามจุดต่างๆ ที่มีการศึกษาอย่างรอบคอบ เช่น แก้มลิงบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา, แก้มลิงศรีมหาโพธิ-ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ชุมชนยอมรับ และการตอบแทนจากภาครัฐที่เหมาะสม

ยกตัวอย่าง ศรีมหาโพธิและศรีมโหสถ เป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่แล้วตั้งแต่อดีตโดยรับน้ำมาจากเขาใหญ่ วิธีที่จะแก้ไขได้ คือ การทำเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำที่ลัดมาจากกบินทร์บุรี ประจันตคาม โดยทำคันล้อม มีประตูระบายน้ำ ให้เป็นระบบ แล้วทำคลองผันมาลงที่แนวผันน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง

"ปัจจุบันมีน้ำค้างอยู่ที่ภาคตะวันออกประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. ถ้ามีแก้มลิงบริเวณศรีมหาโพธิและศรีมโหสถ จะรับน้ำได้ 200 ล้านลบ.ม. เหลืออีก 800 ล้าน ลบ.ม. ต้องอาศัยช่องลัดต่างๆ ที่ยังมีไม่พอ ดังนั้นอาจต้องให้น้ำเข้ามาทางตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งพื้นที่บางส่วนของบางน้ำเปรี้ยว ที่สามารถทำเป็นพื้นที่แก้มลิง คำนวณแล้วรับน้ำได้ราว 100 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นต้องหาทางผลักน้ำลงทะเลต่อไป" นายชวลิตกล่าว

เช่นกับเรื่องของอ่างเก็บน้ำ ในอนาคตควรจะมีอ่างเก็บน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ อ่างเก็บน้ำโสมง และอ่างเก็บน้ำพระปรงตอนล่าง สำหรับรองรับน้ำส่วนหนึ่งก่อนที่จะลงมาภาคตะวันออก นอกจากนี้เขายังเสนอให้มีเขื่อนในแม่น้ำปราจีนบุรี แม้ว่าจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ต้องพิจารณาถ่วงดุลถึงผลได้ผลเสีย

ทั้งนี้ ภาคตะวันออก ประกอบด้วย 9 จังหวัดตามการแบ่งของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มี 4 ลุ่มน้ำสำคัญคือ ลุ่มน้ำปราจีนบุรีครอบคลุม 2 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา, ลุ่มน้ำโตนเลสาบ 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้วและจันทบุรี, ลุ่มน้ำชายทะเลฝั่งตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ตราด ระยอง ชลบุรีและจันทบุรี, ส่วนลุ่มน้ำบางปะกงซึ่งเป็นสายน้ำหลัก ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ฉะเชิงเทรา สระบุรี ปราจีนบุรีและชลบุรี

'จุดพักน้ำ'ทางออกในมุมนักวิชาการจุฬา

ขณะที่มุมมองการแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออกของ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นไปในทิศทางเดียวกับนักวิชาการน้ำจากทีมกรุ๊ป ที่ว่าควรจะมีหลายวิธีร่วมกันตั้งแต่อ่างเก็บน้ำ พื้นที่กักน้ำและทางระบายน้ำ แต่รัฐบาลจะต้องพิจารณาภาพลุ่มน้ำทั้งหมดโดยรวม ไม่ควรมองแยกส่วน

"ภาคตะวันออกเคยมีพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ 2-3 แห่ง แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ทำให้โอกาสสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น" รศ.สุจริต กล่าวและว่า สิ่งที่น่าจะทำได้จากนี้คือ การสร้างอ่างขนาดเล็กให้กระจายตามโซนต่างๆ รวมทั้งจัดหาพื้นที่แก้มลิงเหมือนกับกรณีของ อ.เสนาและอ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

ส่วนใหญ่พื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมจะพบปัญหาด้านโครงสร้าง ยกตัวอย่างกรณีนิคมอุตสาหกรรมอมตะ คือบริเวณด้านเหนือมีการสร้างฝายเก็บน้ำแต่ไม่ได้ทำฝายระบายน้ำ ขณะที่คลองเกลือมีหน้ากว้าง 50 เมตร แต่กลับสร้างฝายกว้างแค่ 10 เมตร เมื่อถึงเวลาน้ำหลากทำให้ไม่สามารถระบายทัน จุดอ่อนที่ 2 คือคลองระบายน้ำ จากเดิมที่เคยระบายออกได้ 2 ทางผ่านคลองตำหรุกับคลองพานทอง ปัจจุบันกลับใช้ได้เส้นเดียว เหตุจากคลองตำหรุมีสนามกอล์ฟขวาง

นักวิชาการจุฬาฯ กล่าวอีกว่า แผนการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทซึ่งระบุถึงการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ในความเป็นจริงไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออกได้มาก เพราะเป้าหมายของแผนดังกล่าวคือการแก้ปัญหาในภาพรวมของประเทศ เมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ใหม่ก็มีการวางแผนทำทางเพื่อระบายน้ำออก แต่จะเข้าไปอยู่ในงบเดิมหรือกู้เงินก้อนใหม่ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญในการทำโครงการ

ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ต้องกลับมาทบทวนและวางแผนใหม่ จากแผนเดิมมีเขื่อนขนาดเล็กที่ล้อม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เท่านั้น

ทั้งนี้ ภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในโมดูล B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ ได้บรรจุโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ความจุเก็บกักประมาณ 68 ล้านลบ.ม. เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระดับรุนแรง และลดพื้นที่น้ำท่วม ลดความเสียหายจากอุทกภัย เพิ่มพื้นที่ชลประทานทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง สถานะโครงการต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags :

view