สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สบอช.เวทีรับฟังความเห็นสร้างเขื่อนแม่วงก์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

สบอช.จัดเวทีรับฟังความเห็นสร้างเขื่อนแม่วงก์ ด้าน"ศศิน"เมินร่วม ฝ่ายหนุน อัดไม่สู้กันด้วยข้อมูล

สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำ และอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยมีตัวแทนของสบอช.นำโดยนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการสบอช. ผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนพล สาระนาค ประธานชมรมอนุรักษ์อุทยานธรรมชาติ และตัวแทนประชาชนจาก ต.ลาดยาว อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการดังกล่าว ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายที่เห็นต่าง ไม่ได้มาร่วมงานด้วย

นายบุญส่ง ไข่เกษ ผู้จัดการโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการเขื่อนแม่วงก์ กล่าวว่า แม้โครงการนี้มีราคาค่าก่อสร้าง 13,280 ล้านบาท รวมถึงทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 12,300 ไร่ และเสียพื้นที่ของประชาชน 15,742 ไร่ แต่ก็ถือว่าความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์และทำให้ปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำแม่วงก์หมดไป เพราะที่ผ่านมา พื้นที่นี้มีปัญหาภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา ขณะเดียวกันมีน้ำท่วมเกิดตลอดทุกปี แม้จะมีทางเลือกอื่นๆนอกจากการสร้างเขื่อน อาทิ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมหรือทำฝายนั้นก็ไม่ได้ทำให้มีน้ำเพียงพอ แต่การสร้างเขื่อนทำให้มีน้ำเพียงพอในพื้นที่ชลประทาน รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำแม่วงก์ได้ 10-48 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการก่อสร้างเขื่อนนี้ที่เขาสบกกถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะเป็นที่สูง ทำให้มีแรงโน้มถ่วง จึงไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ อีกทั้งยังสามารถเก็บน้ำได้ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และยังใช้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้สูงถึง 11.84 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

ด้านนายสังเวียน คงดี ที่ปรึกษาของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้ใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 2.2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด หรือ 0.1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าไม้ฝั่งตะวันตก นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลานนั้นมีเสือโคร่ง 10 ตัว และจุดที่พบเสือโคร่งก็อยู่ห่างจากพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้ เมื่อมีการสร้างเขื่อน สัตว์ป่าก็จะมีการเคลื่อนย้ายไปหากินและอาศัยในพื้นที่อื่นเองซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ และเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ ก็มีน้ำ บวกกับที่เราจะมีการปลูกป่าชดเชยให้เพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้มีสัตว์ป่ามากขึ้นเพราะมีน้ำและป่า ขณะที่การสร้างเขื่อนนี้จะบรรเทาภาระของเขื่อนชัยนาท และบรรเทาน้ำท่วมในที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จ.ปทุมธานี อ่างทอง สิงห์บุรี และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ขณะที่นายจุติพงษ์ พุ่มมูล ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานเครือข่ายประชาชนผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กล่าวว่า ตนไม่แปลกใจที่นายศศิน ไม่มาร่วมประชุม ขณะที่สังคมวันนี้ไม่สู้กันด้วยข้อมูลแต่สู้กันด้วยอารมณ์ แต่สังคมเราโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯไม่เน้นความจริง แต่เน้นการขายอารมณ์คนกรุงที่ไม่เคยไปลงดูพื้นที่นี้ และการมองว่าคนที่สร้างเขื่อนนี้เป็นโจร แต่คนต่อต้านเป็นพระเอกนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่เลย เพราะคนในพื้นที่ต.ลาดยาว และแม่วงก์ ยินดีที่ต้องการให้สร้าง ทั้งนี้ ตนจะพาชาวบ้านในพื้นที่มาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้มาพูดคุยกันถึงความจริง อีกทั้งจะจัดพิมพ์หนังสือความจริงเกี่ยวกับพื้นที่อ.แม่วงก์ ประมาณ 1 หมื่นเล่ม เพื่อแจกจ่ายให้คนทั่วไปให้ได้รู้ความจริง อย่างไรก็ตาม การสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นหนึ่งใน 5 โครงการตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี 2554 และมีความคุ้มค่าทุกโครงการ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำท่วมได้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view