สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตรวจชีพจร เมืองเกษตรสีเขียว รัฐทุ่ม 2.75 หมื่น ล.ประเดิม 6 จังหวัดนำร่อง

จากประชาชาติธุรกิจ

กระทรวง เกษตรและสหกรณ์มีโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ประเทศ โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ 11 หน่วยงานบูรณาการรับผิดชอบร่วมกัน หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักคือกรมส่งเสริมการเกษตร

งบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติสำหรับโครงการนี้คือ 27,582 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2557-2561 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบพัฒนาจังหวัดที่มีศักยภาพและความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นเมืองเกษตรสีเขียว ซึ่งมีรูปแบบการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้



จังหวัดที่เป็นเป้าหมายในการทำเมืองเกษตรสีเขียว 6 จังหวัด คือเชียงใหม่ ที่โดดเด่นในการผลิตผลไม้ และพืชผักเมืองหนาว หนองคาย โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรชายแดน จันทบุรี โดดเด่นเรื่องการผลิตผลไม้เมืองร้อน และประมง ศรีสะเกษ โดดเด่นเรื่องการผลิตข้าว พืชผัก และผลไม้ ราชบุรี โดดเด่นเรื่องปศุสัตว์ และพืชผัก พัทลุง โดดเด่นเรื่องการเกษตรผสมผสาน (ข้าว ผลไม้ สุกร ยางพารา)

วิธีและขั้นตอนการดำเนินงานที่ระบุในแผนโครงการคือ 1.จัดสัมมนาในจังหวัดเป้าหมาย เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนา และมีกระบวนการรับฟังความเห็นก่อนดำเนินการจริง 2.พัฒนากิจกรรมกลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ มุ่งเน้นให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่โดดเด่นในจังหวัดนั้นมีกระบวนการผลิตที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งพื้นที่ โดยการฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ด้านการผลิตการแปรรูปที่ดีเหมาะสม ตรวจสอบรับรองฟาร์มและโรงงาน ทำฟุตปรินต์สินค้าเกษตร และตรวจสอบย้อนกลับอย่างเข้มข้น

3.พัฒนากิจกรรมปลายน้ำ ส่งเสริมการเป็นเมืองแห่งการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญา เอกลักษณ์ วัฒนธรรมด้านการเกษตรในท้องถิ่น เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งแผนกิจกรรมที่จะทำคือตั้งร้าน Q Shop จำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างตลาดสินค้าเกษตรของจังหวัดสู่ตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมงานวิจัย นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอด และตรวจสุขภาพประชาชนหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย

ขณะนี้เริ่มปีงบประมาณ 2557 แล้ว การขับเคลื่อนในทางปฏิบัติดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน จะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่...

นายวิทยา อธิปอนันต์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการและประสานความร่วมมือหน่วยงานรับผิดชอบ กล่าวว่า หลักการขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียวต้องมี 3 ต้อง คือ 1.ต้องกำหนดสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัด โดยให้จังหวัดเลือกเอง แต่มีเงื่อนไขต้องมีศักยภาพและโดดเด่นจริง มีศักยภาพนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้

2.ต้องให้มีการสร้างเครือข่ายการผลิตให้ผลิตได้มาตรฐานเดียวกัน และมีปริมาณมากพอที่จะขายได้ในระดับแมส 3.ต้องสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะผลิตสินค้าปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนเทคโนโลยีสนับสนุนการแปรรูป

"ความคืบหน้าอยู่ในช่วงชี้แจงภารกิจแต่ละหน่วยงาน และแต่ละหน่วยจะไปทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ คาดว่าเดือนพฤศจิกายนนี้จะลงไปถึงเกษตรกรในพื้นที่ ความยากในการทำโครงการอยู่ที่การบูรณาการของแต่ละหน่วยงาน และการสร้างเจตนารมณ์ร่วมกัน ซึ่งคนในพื้นที่จะต้องรับผิดชอบ คนในพื้นที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคราชการ 2.ภาคเอกชน 3.กลุ่มผู้ทำ/เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเขาจะตอบรับหรือไม่ ผลดีที่จะนำลงไปบอกเขาคือ สุขภาพดี ไม่เป็นอันตรายจากสารเคมี มีนักท่องเที่ยวเข้ามา และนำรายได้เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งต้องอธิบายเป็นรูปธรรม หลังจากนั้นให้เขาเป็นผู้ตัดสินใจ ถ้าเขาไม่ร่วมมือ ก็ไม่เกิด"

เมื่อปัจจัยสำคัญอยู่ที่ว่าคนในพื้นที่จะเอาด้วยหรือไม่ ถ้าอย่างนั้นการขับเคลื่อนดำเนินการ รวมทั้งงบประมาณที่ลงไป ก็ไม่ได้ทำให้ภาครัฐมั่นใจได้ว่าโครงการนี้จะสำเร็จ ?

นายวิทยาตอบคำถามข้างบนว่ามั่นใจในระดับหนึ่ง เหมือนออกแบบบ้าน เราออกแบบคำนวณไว้แล้วว่าต้องใช้เหล็กเท่าไหร่ ใช้ปูนเท่าไหร่ เจาะฐานเท่าไหร่ ในแบบบอกรายละเอียดไว้หมดแล้วว่าทำแบบไหน จะได้บ้านหน้าตาอย่างไร

ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติตามแบบ แต่ในขั้นตอนปฏิบัติ ทำได้เหมือนที่ออกแบบหรือไม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง อาจจะมีการดัดแปลงบ้าง ถ้าไม่มากเกินไป ไม่ดัดแปลงโครงสร้างสำคัญ ก็น่าจะสำเร็จ

"ในปีแรกจะนำร่อง 6 จังหวัด หวังผลเรื่องความรู้ความเข้าใจของคนในพื้นที่ให้เกิดเป็นโมเดลที่จะนำไปขยายผลในปีต่อไป อาจไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะเห็นภาพที่จะนำไปขยายเมืองอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเช่นกัน แต่คงไม่สามารถเป็นกรีนได้ 100% เพราะความเป็นกรีนจะขัดกับความเคยชินของโลกปัจจุบัน ถ้าเป็นกรีนแล้วจะมีโรงงานเกิดขึ้นมา ก็ขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตามผังเมือง เมืองเกษตรสีเขียวมีโรงงานได้ แต่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณี"

ผลลัพธ์ของโครงการที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จตามแผนโครงการคือ 1.เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ปลอดภัยจากสารตกค้างในสินค้าเกษตร 2.มลพิษจากกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลดลง 3.ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้น ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะเป็นผู้รับผิดชอบติดตามประเมินผลและสรุปบทเรียนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีการจัดจ้างที่ปรึกษาที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศมาดำเนินการ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงทางวิชาการที่โปร่งใสและชัดเจนต่อไป

ตอนนี้แค่เริ่มต้น ต้องคอยติดตามต่อไปเรื่อย ๆ ว่าเมืองเกษตรสีเขียวในฝันนี้จะพังหรือเป็นจริงได้ในระดับใด


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view