สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝนตกหนัก-ผังเมืองแย่ ตะวันออกแช่น้ำนาน

จาก โพสต์ทูเดย์

ฝนตกหนัก-ผังเมืองแย่ ตะวันออกแช่น้ำนาน

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

เหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ สำหรับวิกฤตมหาอุทกภัยภาคตะวันออก แม้ภาพรวมจะไม่หนักเหมือนกับน้ำท่วมภาคกลางและภาคเหนือเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่อุทกภัยภาคตะวันออกส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจมากในระดับนี้

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา จ.ปราจีนบุรี จมน้ำเกือบทั้งจังหวัด ขณะที่ จ.สระแก้ว และ จ.ชลบุรี ก็ได้รับความเสียหายไม่แพ้กัน ทำให้มีคำถามกลับไปสู่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ว่า เพราะเหตุใดน้ำยังคงท่วมหนักและนานขนาดนี้ ทั้งที่มีการลงทุนรับมือกับอุทกภัยไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจแหล่งน้ำ บริษัท ทีมกรุ๊ป ระบุว่า สาเหตุใหญ่ของอุทกภัยครั้งนี้ เกิดจากหย่อมฝนขนาดใหญ่ที่ปกคลุมเหนือ จ.ปราจีนบุรี นานต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.-5 ต.ค. ทำให้ฝนตกมากที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งต่อมาโชคดีที่หย่อมฝนนี้ถูกอากาศเย็นดันลงมา ไม่ได้ผ่านเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานคร แต่เฉียงออกไปลงที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในเวลาสั้นๆ และเข้าไปในประเทศพม่า ก่อนจะก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนในมหาสมุทรอินเดีย

ชวลิต บอกว่า การระบายน้ำลงทะเลฝั่งตะวันออกปีนี้ถือว่าทำได้ดี กว่าปีก่อนๆ โดยสังเกตได้จาก จ.ตราด และ จ.จันทบุรี ไม่มีข่าวน้ำท่วมซ้ำซากเหมือนทุกปี ส่วนพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และ อ.บ้านบึง พานทอง และพนัสนิคม จ.ชลบุรี นั้น ต้องแยกกันคนละสาเหตุ เพราะน้ำพยายามถูกบีบให้ไหลลงแม่น้ำบางปะกงที่ จ.ฉะเชิงเทรา แต่สภาพแม่น้ำนั้นคดเคี้ยวจึงทำให้ระบายได้ช้า และฝนก็ยังตกต่อเนื่องมาโดยตลอด ขณะที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลาง ทำให้เมื่อเจอหย่อมฝนที่หนักก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้

นอกจากนี้ ชวลิต ยังบอกอีกว่า สาเหตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผังเมือง จ.ปราจีนบุรี ที่มีการสร้างถนนขวางทางน้ำจำนวนมาก เนื่องจาก จ.ปราจีนบุรี ขยายตัวในฐานะเมืองนิคมอุตสาหกรรม แต่ถนนส่วนใหญ่กลับไม่ได้ทำท่อลอด ทำให้น้ำขังไม่สามารถระบายลงทะเลได้ ซึ่งบทเรียนครั้งนี้ กรมทางหลวงจะต้องไปดูเพราะเหตุใดจึงปล่อยให้มีการสร้างถนนโดยไม่ได้มี มาตรการการระบายน้ำเสริมไปด้วย

ขณะที่ สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัญหาสำคัญของ จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา คือ ทางออกน้ำโดยตรง ซึ่งมีเพียงแม่น้ำบางปะกงที่ต้องรับน้ำจากทั้ง 3 จังหวัด รวมถึงต้องแบ่งน้ำระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงอ่าวไทย จึงทำให้ภาคตะวันออกต้องประสบกับน้ำท่วมรูปแบบนี้

แต่ที่ผ่านมายังไม่มีมาตรการชัดเจนจากรัฐบาลว่าน้ำท่วมภาคตะวันออกจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเราห่วงกันแต่น้ำเหนือ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องดูว่า มาตรการที่ทาง กบอ.จะนำมาใช้อย่างฟลัดเวย์ตะวันออก จะเชื่อมโยงกับเส้นทางน้ำใน จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว และฉะเชิงเทรา อย่างไรบ้าง” สุจริตระบุ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view