สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พบ 15 จังหวัดยังประสบภัยน้ำท่วม

พบ 15 จังหวัดยังประสบภัยน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

ก.เกษตรฯ รายงาน 15 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคอีสานและภาคกลาง อำนาจเจริญ-ประจวบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

ศูนย์ติดตามภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย.- 11 ต.ค. 2556 ว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ นครราชสีมาพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ นครนายก สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์  โดยแต่ละจังหวัดมีผลกระทบต่างกันดังนี้

1. จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ประสบภัย 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ดอนมดแดง ตระการพืชผล สำโรง น้ำยืน ตาลสุม บุณฑริก สิรินธร พิบูลมังสาหาร เดชอุดม ศรีเมืองใหม่ นาเยีย วารินชำราบ นาจะหลวย เหล่เสือโก๊ก โขงเจียม สว่างวีระวงศ์ ม่วงสามสิบ เขื่องใน  โพธิ์ไทร นาตาล ทุ่งศรีอุดม และน้ำขุ่น แม่น้ำมูล

โดย สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี (ความจุ 2,360 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับ 7.00 เมตร) เวลา 6.00 น. วันที่ 10 ต.ค.56 วัดได้ 8.79 ม. ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.79 เมตร มีแนวโน้มลดลง คาดว่าจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณวันที่ 22 ต.ค. 56

2. จังหวัดสุรินทร์ ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตูม ชุมพลบุรี และรัตนบุรี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

3. จังหวัดศรีสะเกษ ลำน้ำห้วยสำราญ สถานี M.190 บ้านขวาว อ.อุทุมพรพิสัย (ความจุ 218 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับ 7.10 เมตร) ปัจจุบัน (เวลา 6.00 น.) ระดับน้ำ 6.09 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 1.01 ม. มีแนวโน้มลดลง และสถานี M.9 บ้านหนองหญ้าปล้อง อ.เมือง (ความจุ 205 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับ 9.00 เมตร) ปัจจุบัน (เวลา 6.00 น.) ระดับน้ำ 10.26 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 1.26 เมตร มีแนวโน้มลดลง ยังคงท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และชุมชนบางส่วนของเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ

*4. จังหวัดอำนาจเจริญ สถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 56

5. จังหวัดชัยภูมิ ยังคงเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ จำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง หนองบัวระเหว บ้านเขว้า จัตุรัส เนินสง่าและอำเภอคอนสวรรค์  ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง โครงการชลประทานชัยภูมิส่งเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่เทศบาลเมือง ชัยภูมิ จำนวน 14 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 10 ชุด และเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เทศบาลตำบลหนองบัวระเหว 2 เครื่อง

6. จังหวัดนครราชสีมา จากสภาวะที่น้ำล้น Spillway อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงสูง 2.06 เมตร ทำให้เกิดน้ำท่าไหลผ่าน Spillway 167 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 14.42 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งจะทำให้น้ำไหลล้นตลิ่งลำห้วยลำพระเพลิง เข้าท่วมพื้นที่นาข้าวบริเวณที่แนวลำห้วยไหลผ่าน เขตตำบลสุขเกษม ตูม งิ้ว นกออก ดอน อำเภอปักธงชัย ตำบลท่าลาดขาว กระโทก โชคชัย อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำท่วมขังนาข้าวประมาณ 3-5 วัน ปริมาณน้ำดังกล่าวจะทยอยไหลลงลำห้วยธรรมชาติลำพระเพลิง ลำสำลายและลำตะกุด ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตชุมชนเทศบาลเมืองเมืองปัก อำเภอปักธงชัยและเขตชุมชนเทศบาลตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัยแต่อย่างใด คาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 12 ตุลาคม 2556

7. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาระบาย 1,793 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้น้ำจากคลองโผงเผง และแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในเขตอำเภอเสนา อำเภอบางบาล ระดับน้ำเฉลี่ยสูง 0.60 - 1.50 เมตร โครงการส่งน้ำฯผักไห่ ได้แจ้งเตือนชาวบ้านที่อยู่ริมคลองโผงเผงเพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำต่อไป

8. จังหวัดนครสวรรค์ ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ลาดยาว เก้าเลี้ยวและพยุหะคีรี ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย  0.20 - 0.30 เมตร หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4-5 วัน โครงการชลประทานนครสวรรค์ส่งเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่จำนวน 10 เครื่อง

9. จังหวัดนครนายก ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำใน 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอบ้านนาและอำเภอองครักษ์  ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในอำเภอบ้านนา ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 0.20 – 0.30 เมตร คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 - 3 วัน และอำเภอองครักษ์ ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 1.50 ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง โครงการชลประทานนครนายกส่งเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่จำนวน 10 เครื่อง

10. จังหวัดสุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อู่ทอง บางปลาม้า และสองพี่น้อง ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย  0.50 - 1.00 เมตร วันนี้ โครงการชลประทานสุพรรณบุรีส่งเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือพื้นที่จำนวน 8 เครื่อง เข้าช่วยเหลือพื้นที่เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี

11. จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประสบภัย 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมสารคาม บ้านโพธิ์ ราชสาสน์ บางคล้า และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว 14 ตำบล 105 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,197 ครัวเรือน 15,591 คน พื้นที่เกษตร 5,744 ไร่ โครงการชลประทานฉะเชิงเทราขอเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่ม 20 เครื่องจากส่วนกลาง เพื่อติดตั้งบริเวณ ริมแม่น้ำในอำเภอเมือง บ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง เพื่อช่วยสูบระบายออกทะเลให้เร็วยิ่งขึ้น

12 จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 7 อำเภอ ได้แก่อำเภอกบินทร์บุรี ศรีมหาโพธิ์ เมือง นาดี ประจันตคาม บ้านสร้าง และศรีมโหสถ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง ขอเครื่อง จำนวน 5 เครื่อง เพื่อช่วยผลักดันน้ำในคลองลางแตน และคลองคูมอญลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี

แม่น้ำปราจีนบุรี สถานีวัด Kgt.3 อำเภอกบินทร์บุรี (ความจุ 578 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับ 10.20 เมตร) ปัจจุบันเวลา ระดับน้ำ 11.40 ม.(รทก) สูงกว่าระดับตลิ่ง 1.20 เมตร มีแนวโน้มลดลง

อำเภอศรีมหาโพธิ ระดับน้ำยังคงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมท่าประชุมระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.10 – 0.60 เมตร

สถานี kgt.1 อำเภอเมือง (ความจุ 838 ลบ.ม./วินาที ที่ระดับ 4.45 เมตร) ปัจจุบัน ระดับน้ำ 4.80 เมตร สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.35 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

13. จังหวัดสระแก้ว - ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองอรัญประเทศ ยังคงท่วมที่อยู่อาศัยและเส้นทางสัญจรในเขตเทศบาลเมืองอรัญประเทศ ระดับน้ำลดลง สูงจากพื้นที่ถนนในจุดที่ลึกที่สุด ประมาณ 25 – 50 เซนติเมตร

- ตำบลท่าข้าม มีน้ำหลากซึ่งล้นมาจากคลองพรมโหดและคลองสึก ยังคงท่วมพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับคลองรวมทั้งโรงเรียนท่าข้าม และมีน้ำไหลล้นข้ามถนนทางหลวงหมายเลข 3366 (สายทางท่าข้าม-โคกสะแบง) ระดับน้ำสูง 15 – 50 เซนติเมตร 

- โครงการสระแก้ว ได้เตรียมความพร้อมเรื่องรถบรรทุกน้ำ และช่วยเหลือเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

14. จังหวัดชลบุรี ยังคงมีน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนัสนิคม พานทอง และเมือง

- อำเภอพนัสนิคม ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องพื้นที่ในเขตชุมชนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงพื้นที่เกษตรรอบนอกยังคงมีน้ำท่วมขังประมาณ 10 – 40 เซนติเมตร ในเขตตำบลหมอนนาง ไร่หลักทอง หนองขยาด วัดโบสถ์ ท่าข้าม หน้าพระธาตุ หนองเหียงและตำบลนาวัง

- อำเภอพานทอง น้ำจากอำเภอพนัสนิคมได้ลงสู่อำเภอพานทองอย่างต่อเนื่อง แต่มีปริมาณน้อยลง น้ำที่ท่วมขังยังมีระดับลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำในเขตอำเภอพานทองเช่นเทศบาลพานทองน้ำท่วมประมาณ 10 เซนติเมตร และตำบลเกาะลอย บางนาง บ้านเก่า หนองหงส์ หนองกะขะ มาบโป่งและตำบลโคกขี้หนอน สูงขึ้นประมาณ 0.20 – 1.00 เมตรและน้ำในนิคมอมตะนครในเฟด 7- 8-9 ที่ท่วมพื้นถนนในนิคมฯได้ลดลงหมดแล้ว ยกเว้นส่วนที่เคยท่วมลึกเหลือเพียง 20 เซนติเมตรเท่านั้น แนวโน้มสถานการณ์น้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

- อำเภอเมือง น้ำท่วมพื้นที่บริเวณ ตำบลดอนหัวฬ่อ เป็นช่วงๆท่วมสูงประมาณ 10 เซนติเมตร

กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว ตามจุดที่เป็นคอขวดกระจายตามพื้นที่น้ำท่วมในเขต อำเภอพานทองและอำเภอพนัสนิคม จำนวน 28 เครื่อง พร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 36 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเร่งสูบน้ำจากคลองชลประทานพานทองและคลองพานทองธรรมชาติลงสู่แม่น้ำบาง ปะกง พร้อมทั้งได้เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง และชายฝั่งทะเลด้าน อำเภอเมือง อย่างต่อเนื่องและอ่างเก็บน้ำคลองหลวงได้ลดการระบายน้ำออกจากฯทรบ.ปากคลอง ส่งน้ำ เหลือเพียงช่องที่ตัดผ่านข้างทางระบายน้ำล้นเท่านั้น

*15. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  สถานการณ์น้ำท่วมเข้าสู่ภาวะปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 56


น้ำท่วมกระทบเที่ยวไทยสูญ700ล้าน

จาก โพสต์ทูเดย์

สมศักย์เผยน้ำท่วมกระทบเที่ยวไทยอ่วมกว่า 700 ล้านบาท

นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า อิทธิพลพายุอูซางิ หวู่ติ๊บ และร่องมรสุม ตั้งแต่ต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ 38 จังหวัดของประเทศเกิดปัญหาอุทกภัย แบ่งเป็น สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย 11 จังหวัด จำนวน 27 จังหวัดกำลังประสบภัย ในจำนวนนี้ มี 3 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายเล็กน้อย

อิทธิพลของพายุส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวใน 9 จังหวัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 708 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดคือ พิษณุโลก 223 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ลพบุรี ศรีสะเกษ สิงห์บุรี และชัยนาท ตามลำดับ

ความเสียหายด้านการท่องเที่ยวนั้นพบว่าเป็นผลกระทบทางอ้อมจากอุทกภัย ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวและสถานพักแรมส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย แต่เกิดจากนักท่องเที่ยวไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ คิดว่าแหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหายและไม่สะดวกในการเดินทาง

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมการท่องเที่ยว เร่งสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย พร้อมวางแผนฟื้นฟูภายหลังน้ำลด พร้อมหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจาก ปัญหาน้ำท่วมดังกล่าว


มวลน้ำก้อนใหญ่ถล่มจม12หมู่บ้านแปดริ้ว

จาก โพสต์ทูเดย์

มวลน้ำก้อนใหญ่ถล่ม 12 หมู่บ้านบางคล้าเมืองแปดริ้วและถนนหมดทุกสายตัดขาดจากโลกภายนอก

นายอำนาจ ประเสริฐ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลปากน้ำ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ที่ต.ปากน้ำ ซึ่งมีบ้านเรือนราษฎรรวมกว่า 2,000 ครัวเรือนมีประชากรกว่า 5 พันคน ได้ถูกมวลน้ำก้อนใหญ่พัดถล่มเข้าจมหมู่บ้านทั้งหมด 12 หมู่บ้านแล้ว ซึ่งน้ำเริ่มมีระดับสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็วมาก จนทำให้ชาวบ้านเก็บข้าวของหนีน้ำไม่ทัน เนื่องจากน้ำไม่เคยท่วมถึงพื้นกระดานชั้น 2 ของตัวบ้านมาก่อน จึงไม่มีใครขนย้ายสิ่งของออกมายังที่สูงภายนอกตัวบ้าน เหตุจากในปีที่ผ่านๆ มา นั้นน้ำจะท่วมแค่เพียงชั้นล่างของตัวบ้านเท่านั้น
 
นายอำนาจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ระดับน้ำที่ท่วมสูงคือพื้นที่ต่ำบริเวณหมู่ที่ 6 และหมู่ 7 มีระดับท่วมสูง 2.5 - 3 เมตร ขณะเดียวกันบนถนนเส้นทางการสัญจรเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านไปยังตำบลต่างๆ ในพื้นที่ ล้วนถูกตัดขาดการสัญจรหมดแล้ว โดยมีน้ำท่วมเหนือพื้นผิวถนนภายในซอยทางเข้าหมู่บ้านสูงประมาณ 2 เมตร และถนนสายหลักเส้น ปากน้ำ-หัวไทร มีระดับท่วมสูงกว่า 70 ซม. รถเล็กไม่สามารถขับสัญจรผ่านไปได้แล้ว
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ระดม เจ้าหน้าที่เทศบาลปากน้ำ ตลอดทั้ง อาสาสมัคร อปพร. ออกช่วยเหลือประชาชน นำเรือเข้าไปช่วยชาวบ้านขนย้ายสิ่งของในหมู่บ้านออกมายังที่สูงภายนอกกัน อย่างวุ่นวายตลอดทั้งวัน ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นคิดเป็นร้อยละ 97 ของพื้นที่


น้ำบางปะกงเอ่อท่วมบางคล้าจมบาดาล

จาก โพสต์ทูเดย์

น้ำในลำน้ำบางปะกงทะลักอ่วมบางคล้าจมบาดาลแล้วทั้งเมือง

วันนี้( 11 ต.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำในลำน้ำบางปะกง ได้เอ่อไหลเข้าท่วมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ ทั้งในเขตเทศบาลตำบลบางคล้า และเทศบาลตำบลปากน้ำจนหมดทั่วทั้งพื้นที่แล้ว จนทำให้การทำการค้าภายในตลาดต้องหยุดชะงักลงในทันที ขณะเดียวกันบนถนนเส้นทางสัญจรยังมีน้ำท่วมขังสูงระดับ 30-50 ซม ทำให้รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถขับผ่านเส้นทางไปได้

นอกจากนี้ที่บริเวณเส้นทางเดินน้ำทิ้งจากทางตอนบนของจังหวัด ทั้งลุ่มน้ำแควระบมสียัด และ อ.พนมสารคาม อ.ราชสาส์น ผ่านมาทางคลองท่าลาด ที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ที่มีชื่อเสียง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ อ.บางคล้า ได้ถูกน้ำไหลบ่าล้นออกนอกลำธารท่วมพื้นที่แล้วทั้งหมด


ร.พ.อภัยภูเบศรย้ายผู้ป่วยหนักหนีน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ย้ายผู้ป่วยหนัก 10 รายไปยังร.พ.ใกล้เคียง หลังน้ำท่วมปราจีนบุรีหนัก

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมสถานการณ์และการเตรียมพร้อมรับน้ำท่วมของสถานบริการใน จังหวัดปราจีนบุรี โดยตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ที่ย้ายทำการชั่วคราวที่ รพ.ค่ายจักรพงษ์ พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และมอบชุดป้องกันน้ำท่วมและเสื้อชูชีพให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย และตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถึงความพร้อมการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนัก ให้ได้รับความปลอดภัยที่สุด

นพ.วชิระ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่า วันนี้ได้ย้ายผู้ป่วยคลอดแผนกสูติกรรมซึ่งอยู่ชั้น 1 ของโรงพยาบาล ขึ้นไปอยู่ชั้น 2 และย้ายผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวน 10 ราย ไปที่โรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์2 ราย โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลทรวงอก แห่งละ 1 ราย อีก 2 รายอยู่ระหว่างประสานส่งต่อ ทุกรายเคลื่อนย้ายปลอดภัยดี ยังเหลือคนไข้หนักในโรงพยาบาลฯอีก 24 ราย มีแผนทยอยส่งต่อในวันต่อไป ทุกรายจะต้องดำเนินการอย่างปลอดภัยที่สุดโดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาล ค่ายจักรพงษ์ สำรองเตียงผู้ป่วยหนัก รองรับส่งผู้ป่วยหนักได้ 7 ราย

ขณะนี้ในภาพรวมทั่วไป โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังเปิดให้บริการปกติ มีระบบการเฝ้าระวัง การป้องกันน้ำท่วมอย่างดีเยี่ยมและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องวางแผนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ และมีการประเมินสถานการณ์วันต่อวัน ในส่วนการดูแลประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทั้ง 6 อำเภอ ในจังหวัด สถานบริการทุกระดับถูกน้ำท่วม 17 แห่ง แต่ยังให้บริการประชาชนต่อเนื่อง โดยได้ปรับพื้นที่ให้บริการให้อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด และให้การดูแลกลุ่มพิเศษ กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวช โรคลมชัก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้จัดยาไว้ให้อยู่ได้ถึง 2 เดือน และติดตามเยี่ยมบ้านต่อเนื่อง

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้าน ซึ่งมีประมาณ 79 คน แต่ทุกคนมีจิตใจเต็มเปี่ยมในการให้บริการประชาชน ซึ่งต้องขอชื่นชมการวางแผนการทำงานของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ที่ดำเนินการอย่างรอบคอบและทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสถานบริการ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าจึงให้เจ้าหน้าที่ได้พักผ่อนและดูแลครอบครัว กระทรวงสาธารณสุขมีแผนให้โรงพยาบาลใกล้เคียงและโรงพยาบาลที่มีประสบการณ์ เช่นจากลพบุรี ช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาสับเปลี่ยนในสถานบริการ ทุกระดับ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันด้วย


นักวิชาการคาดน้ำท่วมคลี่คลายต้นเดือนหน้า

จาก โพสต์ทูเดย์

นักวิชาการจุฬาฯ ชี้น้ำท่วมปีนี้เพราะฝนตกกระจุกตัว พื้นที่ความเสียหายมีจำกัด คาดคลี่คลายต้นเดือนหน้า

นายสุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้พบว่าปัจจัยหลักมาจากกลุ่มฝนที่ตกหนักและ กระจุกตัวอยู่บริเวณตอนกลางและตะวันออกของประเทศ จนระบายน้ำไม่ทัน ทำให้พื้นที่น้ำท่วมจำกัดบริเวณอยู่ใน จ.ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และยืนยันว่าจะไม่ท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แน่นอน

นายสุจริต กล่าวด้วยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. เป็นต้นไป เพราะจะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงอีกรอบ เป็นจังหวะระบายน้ำออกทะเล แล้วน้ำจึงจะเริ่มแห้งจริงๆ โดยในส่วนของ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการนำประสบการณ์ในปี 2554 มาปรับปรุงระบบระบายน้ำ คาดว่าทำเริ่มแห้งช่วงต้นเดือนหน้า แต่ในส่วนของ จ.ปราจีนบุรี ไม่ได้เจอน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้การเตรียมการระบายน้ำทำในระดับปกติ เมื่อฝนตกหนักมากกว่าปกติทำให้ระบายน้ำได้ช้า และคาดว่าจะเริ่มแห้งกลางเดือนหน้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาคือการเคลื่อนตัวของพายุนารี ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และคาดว่าจะมาถึงไทยวันที่ 17 ต.ค. นี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเข้าไทย พายุนารีจะเจอกับร่องความกดอากาศสูง ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของพายุและอาจเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนตัวไปทางใต้ของ ประเทศแทน

“หลังจากนี้ฝนจากภาคกลางและตะวันออก จะค่อยๆเคลื่อนตัวไปทางภาคใต้ซึ่งต้องระวังสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ต่อไป โดยเฉพาะ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้เตรียมตัวรับมือน้ำท่วมได้ตั้งแต่วันนี้ แล้ว”นายสุจริต กล่าว

นายสุจริต กล่าวว่า ประสบการณ์น้ำท่วมในปีนี้ จะเห็นได้ว่าเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่ได้ประสบภัยพิบัติในปี 2554 เช่น ปราจีนบุรีไม่ได้อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ดังนั้นควรเพิ่มเติมโครงการในส่วนนี้เข้าไป และลดโครงการที่ไม่จำเป็นลง

ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำเว็บไซต์ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมคือ http://thaicrisis.ac.th ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ประชาชนรับรู้และประเมินระดับน้ำในพื้นที่ต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และสามารถดาวน์โหลดบนไอโฟนและไอแพด โดยพิมพ์ค้นหาคำว่า “flood test thailand” บน itune store


ปราจีนอ่วม!อ.เมือง-บ้านสร้างน้ำท่วมวิกฤติ

จาก โพสต์ทูเดย์

ศภช. เตือน ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ(ศภช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 ต.ค. 56 สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริเวณ อ.เมือง อ.ศรีมโหสถ อ.ประจันตคาม อ.บ้านสร้าง ของ จ.ปราจีนบุรี, อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.พนมสารคาม อ.คลองเขื่อน อ.ราชสาส์น อ.บางคล้า และ อ.บ้านโพธิ์ ของ จ.ฉะเชิงเทรา ขอให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสบภัยดังกล่าวเพื่อทราบ หากมีข้อมูลเพิ่มเติม ศภช. จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไป

สำหรับ สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด บนถนนทางหลวงหมายเลข 319 หรือ ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงแยกโคกปีบ อ.ศรีมโหสถ ถึงเมืองปราจีนบุรี น่าเป็นห่วงภายหลังมวลน้ำจำนวนมากจากกบินทร์บุรี และ อ.ศรีมหาโพธิ ไหลมาถึง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยถนนช่วงบ้านสะพานหิน และบ้านคลองหัวกรด น้ำท่วมสูง กระแสน้ำเชี่ยวกราก รถเล็กผ่านลำบาก ขณะที่ถัดไปประมาณ 5 กิโลเมตร ก่อนเข้า อ.บ้านสร้าง ระดับน้ำท่วมสูง 60 - 70 ซ.ม. รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งจุดนี้เจ้าหน้าที่แขวงการทางปราจีนบุรี ได้นำป้ายประกาศมาปิดกั้นทาง เพื่อไม่ให้รถเล็กผ่าน เนื่องจากช่วงเช้าที่ผ่านมา มีรถเสียแล้วหลายคัน

อย่างไรก็ตาม มวลน้ำจากด้านบน คือ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ กำลังหลากลงที่ต่ำ ทำให้สถานการณ์ใน อ.เมืองปราจีนบุรีและ อ.บ้านสร้าง ทวีความรุนแรงมากขึ้น ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


สบอช. เผยน้ำท่วมฝั่งตะวันออกดีขึ้น

จาก โพสต์ทูเดย์

เลขา สบอช. เผยสถานการณ์น้ำท่วมฝั่งตะวันออกดีขึ้น เร่งระบายน้ำออกภายใน 17 ตค.

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาสำนักงานนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมว่า มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นในทุกพื้นที่ โดยที่ฝั่งตะวันออก จะมีการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ โดยเฉพาะที่ทุ่งบางพวง และศรีมหาโพธิ ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 30 เครื่อง คาดว่าจะสามารถระบายน้ำค้างทุ่งได้ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพราะน้ำมีปริมาณมาก ส่วนนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้วเช่นกัน

ขณะเดียวกันมีความเป็นห่วงพายุนารีที่จะพัดใกล้ฝั่งฟิลิปปินส์มา ถึงเวียดนาม และไทยในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ มีฝนตกหนักในพื้นที่ แต่จะไม่ได้รับผลกระทบมาก ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และ กทม. บางส่วน เกิดจากระบบการระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ และบางพื้นที่เป็นพื้นที่ฟันหลอ

นอกจากนี้ นายสุพจน์ ระบุว่า ไม่กังวลกรณีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีที่ กบอ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 36 จังหวัด เพราะได้ทำตามมติ ครม. และคำสั่งของศาลปกครอง ซึ่งเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้รัฐบาลเตรียมเชิญนายศศิน เฉลิมลาภ เลขามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และชาวบ้านในพื้นที่ มาหารือกรณีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ในช่วงบ่าย พร้อมยืนยันว่าการพูดคุยจะมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งจะเป็นการหารือทางด้านวิชาการ

ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งกระทรวงน้ำ วันนี้ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน ซึ่งจะนำมาสรุปเป็นร่างฉบับประชาชนเข้าชื่อ เพื่อนำเข้าสู่การพิจาร ณาของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงร่างของรัฐบาล และร่างของนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งจะเร่งดำเนินการเช่นกัน เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินโครงการ 3.5 แสนล้านบาท


เขื่อนสียัดเร่งพร่องน้ำออกวันละ3.3ล้านลบม.

จาก โพสต์ทูเดย์

เขื่อนสียัดเร่งพร่องน้ำออกวันละ3.3ล้านลบม.

เขื่อนสียัดเกินกักเก็บระบายน้ำทิ้งวันละ 3.3 ล้าน ลบม.ซ้ำเติมพื้นที่ตอนล่างอ่วมสูงต่อเนื่อง

นายเชษฐา ดิษยมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองสียัด (อ่างเก็บน้ำสียัด) อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำสียัด มีระดับที่ล้นเกินกว่าความจุ มากกว่า 22 ล้าน ลบม. หลังจากมีน้ำไหลเข้าท้ายเขื่อนอย่างรวดเร็วจนทำให้ในขณะนี้มีน้ำอยู่ภายใน อ่างจำนวนมากถึง 442.11 ล้าน ลบม. ซึ่งเกินกว่าความจุที่ 420 ล้าน ลบม.
 
ทั้ง นี้มีความสูงเหนือขอบยางสปิลย์เวย์ 20 ซม. จึงทำให้มีน้ำไหลล้นทิ้งออกไปยังด้านนอกที่อัตรา 38.77 ลบม.ต่อวินาที หรือประมาณ 3.36 ล้าน ลบม. ต่อวัน แต่ยังโชคดีที่ไม่มีฝนตกลงมาซ้ำในพื้นที่เติมน้ำลงเข้าท้ายเขื่อนอีกเป็น เวลากว่า 3 วันแล้ว ซึ่งคาดว่าน้ำที่ล้นเกินปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำจะยุบลงไปสู่สภาวะปกติ ได้ในอีกประมาณ 1 สัปดาห์
 
นายเชษฐา กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ล้นทิ้งเหนือขอบสปิลเวย์ไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางตอน ล่าง บริเวณเขตพื้นที่ ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต ซึ่งเป็นจุดรวมน้ำที่ไหลล้นสปิลเวย์ลงไป ทั้งจากอ่างเก็บน้ำคลองระบม และอ่างเก็บน้ำสียัดจะไหลลงไปยังในลำคลองท่าลาด จากนั้นจะเอ่อล้นเข้าท่วมไปยังในพื้นที่ต่ำโดยเฉพาะ พื้นที่ ต.เกาะขนุน ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และไหลต่อเนื่องไปยังในเขตพื้นที่ ต.ราชสาส์น และบางคล้า ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงต่อไป นายเชษฐา กล่าว
 
สำหรับ สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ อ.ราชสาส์น และ อ.บางคล้า ขณะนี้มีแนวโน้มท่วมสูงขึ้นหนักกว่าเดิม โดยในวันนี้มีระดับน้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นกว่าวันวานอีก 25-30 ซม. เนื่องจากน้ำที่ไหลบ่าล้นออกมาจากแม่น้ำปราจีนบุรี ได้ไหลบ่าตัดผ่าน อ.ศรีมโหสถ (โคกปีบ) อย่างรุนแรงและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ถนนทางหลวงแผ่นดินสาย 319 ถูกน้ำไหลบ่าตัดขาดการสัญจรไปเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ จึงยิ่งทำให้มีปริมาณน้ำไหลลัดเข้ามาสู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มมากขึ้น แบบหลายทิศทาง
 
นอกจากนี้ลำน้ำบางปะกงเดิมที่มีมวลน้ำ ในปริมาณมากไหลผ่านลงมาจาก อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ์ อ.เมืองปราจีนบุรี และ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ก่อนเข้าสู่เขต จ.ฉะเชิงเทรา  ที่ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยวแล้ว ยังมีน้ำที่ลัดทุ่งมาทาง อ.ศรีมโหสถ ประกอบกับมีน้ำจาก อ่างเก็บน้ำคลองระบม และสียัดไหลล้นสปิลเวย์บ่าลงมาท่วมซ้ำเติมอีก จึงยิ่งทำให้สถานการณ์น้ำท่วมยิ่งขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นไปอีก ซึ่งล่าสุดได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางตอนล่าง ตลอดแนวลำน้ำบางปะกงในเขตพื้นที่ อ.คลองเขื่อนแล้ว โดยมีระดับท่วมสูงกว่า 1 เมตร


บุรีรัมย์ประกาศภัยพิบัติน้ำท่วม22อำเภอ

จาก โพสต์ทูเดย์

บุรีรัมย์ประกาศภัยพิบัติน้ำท่วม 22 อำเภอ เดือดร้อนกว่า 58,000 ครัวเรือนดับแล้ว 2 ศพสูญกว่า 100 ล้าน

วันนี้ ( 11 ต.ค.) สถานการณ์น้ำท่วมที่จ.บุรีรัมย์ยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากอุทกภัยแล้ว 22 อำเภอ จากที่ทั้งจังหวัดมีทั้งหมด 23 อำเภอ  พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 113 ตำบล  1,010 หมู่บ้าน  ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 58,825 ครัวเรือน ประชากร 256,847 คน ในจำนวนมีราษฎรที่ประสบอุทกภัยที่ต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิง ที่ว่าการอ.โนนดินแดง และวัดบ้านหนองกก กว่า 300 ครอบครัว
 
ทั้งนี้ ยังมีชาวบ้านที่ถูกกระแสน้ำพัดเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็ก 1 ราย ผู้ใหญ่ 1 ราย ที่อ.โนนสุวรรณ จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมมากถึง 189,228 ไร่ เสียหายแล้วกว่า 48,000 ไร่ ถนนทั้งสายหลักสายรองถูกน้ำท่วมขังและกัดเซาะพังเสียหาย 262 สาย  บ่อปลา 4,567 บ่อ  ฝาย  ทำนบ 10 แห่ง วัด 3 แห่ง  โรงเรียน 4 แห่ง ขณะนี้สถานการณ์น้ำที่ท่วมขังบ้านเรือน  ถนน และไร่นาในหลายพื้นที่ยังไม่ลดระดับ
   
นายณัฐวัฒน์  อ่อนสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์  กล่าวว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำทาง ปภ.  รวมถึงส่วนราชการ และภาคเอกชน หลายหน่วย ก็ได้ระดมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอยู่อย่างต่อเนื่อง  ทั้งเรือ ถุงยังชีพ  น้ำดื่ม  ยารักษาโรค นอกจากนี้จากการประเมินค่าความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คาด ว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท


น้ำป่าสักที่ท่าเรือเริ่มลดลงแล้ว

จาก โพสต์ทูเดย์

มวลน้ำป่าสักที่อำเภอท่าเรือเริ่มลดลงตามลำดับแล้ว

นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างที่ 1,070 ล้าน ลบ.ม.  หรือ 111% ของความจุของอ่างที่เคยกักเก็บสูงสุด  และมีน้ำฝนไหลลงอ่าง 649 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนลงแม่น้ำป่าสัก 700 ลบ.ม.ต่อวินาที  ถือว่าน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยกว่าไหลออก  จึงเป็นข่าวดีของคนท้ายน้ำป่าสัก ว่าอนาคตจะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ น้อยลงกว่าในปัจจุบัน
 
นาย วิทิต กล่าวอีกว่า สำหรับเขื่อนพระรามหก ที่อ.ท่าเรือ รับน้ำจากแม่นำป่าสัก 700 ลบ.ม.ต่อวินาที และจากคลองชัยนาท-ป่าสัก 103 ลบ.ม.ต่อวินาที  มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนพระรามหก ลงแม่น้ำป่าสักตอนล่าง  ลดลงจากเมื่อวานเหลือเพียง 725 ลบ.ม.ต่อวินาที และผันเข้าคลองระพีพัฒน์ 121 ลบ.ม.ต่อวินาที   โดยรวมแล้วน้ำท่วม มีระดับลดลง 12 เซนติเมตร คงเหลือน้ำท่วมสูง 1 เมตร 23 เซนติเมตร เช่นที่ตลาดสดหน้าที่ว่าการอำเภอหลังเก่า  ทั้งนี้พื้นที่อำเภอท่าเรือ ถูกน้ำท่วม 8 ตำบล 59 หมู่บ้าน 1,359 หลังคาเรือน


แม่น้ำชีเอ่อท่วมขอนแก่น8อำเภอจม

จาก โพสต์ทูเดย์

แม่น้ำชีเอ่อท่วมขอนแก่น8อำเภอจม

แม่น้ำชีไหลทะลักท่วม 8 อำเภอในขอนแก่น ขณะผู้ว่าฯตั้งศูนย์อพยพและช่วยเหลือตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

นายสมศักดิ์  สุวรรณสุจริต ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วยนางนิภา  สุวรรณสุจริต นายกเหล่ากาชาดขอนแก่น ได้ออกตรวจสภาพความเสียหายและภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากระดับ น้ำในแม่น้ำชีที่ อ.ชนบท หลังระดับน้ำได้ไหลเอ่อท่วมสูงขึ้นหลังมวลน้ำเริ่มทยอยไหลเข้าพื้นที่ จ.ขอนแก่น อย่างต่อเรื่อง ซึ่งล่าสุดพบว่ามีพื้นที่ 8 อำเภอทางตอนล่างของจังหวัดที่มีปริมาณน้ำท่วมที่ส่อเค้าจะขยายตัวเป็นวง กว้างที่เพิ่มขึ้น
 
นายสมศักดิ์  กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระดับจังหวัดและระดับอำเภอจะ ต้องทำงานที่ควบคู่กันไปและต้องรายงานสถานการณ์ที่เป็นจริงซึ่งทีมประเมิน ความเสี่ยงและเฝ้าติดตามสถานการณ์จะต้องลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อรับ ทราบถึงสภาพปัญหา ทั้งนี้มีการยืนยันชัดเจนว่าพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมขณะนี้ครอบคลุม พื้นที่แล้ว 8 อำเภอประกอบด้วย อ.สีชมพู,ภูผาม่าน,ชุมแพ,แวงใหญ่,แวงน้อย,โคกโพธิ์ไชย,มัญจาคีรี และ อ.ชนบท มีพื้นที่ได้รับความเสียหายรวม 31 ตำบล 157 หมู่บ้าน 8,128 ครัวเรือน มีผู้ประสบภัยแล้วรวม 24,296 คน และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่ อ.แวงใหญ่ ไร่นาการเกษตรตอนนี้ยังอยู่ระหว่างสำรวจ ส่วนที่สำรวจเสร็จไปที่อำเภอมัญจาคีรี จำนวนกว่า 4 หมื่นไร่ บ่อปลา ถนนขาดหลายสาย มูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท สำหรับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณ 76 %ของความจุอ่าง ตอนนี้ปล่อยน้ำออกที่ 19 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
 
“มวลน้ำหนุนจากแม่ น้ำชี ที่มาจาก จ.ชัยภูมิ และ ระดับน้ำในแม่น้ำพอง ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ได้เริ่มไหลเข้าสู่พื้นที่หลายอำเภอของจังหวัด ทำให้ต้องกำชับให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนติดกับแม่น้ำชีเฝ้าระวังภาวะน้ำท่วม ฉับพลันและมวลน้ำหนุนที่จะขยายตัวเป็นวงกว้างในขณะที่พื้นที่ปลายน้ำก็อาจะ มีน้ำท่วมขังนานนับเดือนซึ่งการให้ความช่วยเหลือนอกจากการจัดส่งถุงยังชีพไป ให้ความช่วยเหลือแล้วยังคงจัดส่งเรือท้องแบนและรถยนต์บรรทุกสำหรับการ ลำเลียงประชาชนออกนอกพื้นที่ รวมไปถึงการจัดเวรยามและสายตรวจทางน้ำประจำในการให้ความช่วยเหลือและเฝ้า ระวังทรัพย์สินของประชาชนตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง”นายสมศักดิ์ กล่าว
 
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวอีกว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจชั้นในยังคงมั่นใจว่าทุก ฝ่ายจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะกับมวลน้ำที่อาจจะไหลมาตามท่อระบายน้ำหรือตามแหล่งน้ำสาธารณะซึ่ง การจัดการจราจรทางน้ำโดยรอบเขตเทศบาลนครขอนแก่น ด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำและกำหนดเส้นทางน้ำที่ชัดเจนเพื่อป้องกันภาวะ น้ำท่วมฉับพลัยในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือภาวะดินถล่มตามหุบเขาในเส้นทางภาคอีสานมุ่งหน้าสู่ ภาคเหนือ ที่อาจจะปิดเส้นทางการจราจรในบางจุดได้ ซึ่งได้มีการเร่งสำรวจภาวะการทรุดตัวของดินในภูเขาตามเส้นทางถนนสายต่างๆ แล้วเช่นกัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view