สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชาวบ้านโวยเยียวยาน้ำมันรั่วไม่คุ้ม

จาก โพสต์ทูเดย์

ชาวประมงระยองโวยไร้ที่พึ่งเรียกร้องค่าเสียหายน้ำมันรั่ว ชี้เงินเยียวยาที่เอกชนให้ไม่คุ้มผลกระทบจริง ดีเอสไอยอมรับเจอตอยุติสอบสวน

เมื่อวันที่ 8 ต.ค.การประชุมของคณะอนุกรรมสิทธิมนุษยชน ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและประธานฯรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน ขอให้ตรวจสอบและผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหา กรณีน้ำมันรั่วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคัล จำกัด โดยได้มีการเชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมดำเนินงานตรวจสอบผลกระทบที่ เกิดขึ้น

นายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกประมงพื้นบ้านกลุ่มเรือเล็กระยอง สะท้อนปัญหาที่เกิดกับชาวประมงขณะนี้ว่า ได้พบซากปลาโลมา และซากปลาหมึกกระดองจำนวนมาก ที่บริเวณบ้านเพ จังหวัดระยอง อีกทั้งโอกาสในการออกเรือประมงไปจำปลาจากเดิมที่ได้ปลากว่า 20 กิโลกรัม ขณะนี้เหลือเพียง 2-3 กิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่ว จึงเกิดคำถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหาอย่างไร และยังเหลือสารเคมีตกค้างอีกนานแค่ไหนถึงจะสลายจนหมด

“ขณะนี้รัฐและ บริษัทพีทีที เป็นเนื้อเดียวกัน และชาวบ้านต้องตกเป็นจำเลย แทนที่จะเป็นผู้เสียหายในปัจจุบัน ทำให้ไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร เพราะประชาชนควรเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่ใช่เป็นผู้ต้องมายื่นอุทธรณ์ เรียกร้องค่าเสียหายเอง ชาวบ้านเห็นว่าสัตว์น้ำตายไปจากแหล่งที่อยู่อาศัย สิ่งนี้คือผลกระทบ นักท่องเที่ยวไม่เลือกรับประทานอาหารทะเลจากระยอง ก็คือผลกระทบ  แต่รัฐและนักวิชาการบอกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นจะต้องทำอย่างไรที่มากว่าการที่ พีทีที จีซี จะมีมาตรการที่มากแค่จ่ายเงินวันละ 1,000 บาท ให้ครบ 30 วัน แล้วจบกันไป”นายจตุรัส กล่าว

ด้านน.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ตัวแทนมูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า ยังไม่เข้าใจว่า พีทีที จีซี มีแนวทางเยียวยาจ่ายเงินวันละ 1,000 ให้ครบ 3 หมื่นบาท นั้นเป็นสิ่งที่ชาวประมงควรได้เท่านั้นเองหรือ และถ้าหากว่าใครคิดว่าไม่พอให้ไปฟ้องร้องเอาเอง กลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องพิสูจน์เอาเอง

ขณะที่ พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สะท้อนปมปัญหาการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวน ที่ขณะนี้ยุติลงแล้วและไม่ได้ถูกนำเสนอเป็นคดีพิเศษแต่อย่างใด ผลที่ตามคือ ตนยังถูกตั้งกรรมการสอบสวนในคดีนี้ด้วย สิ่งนี้ยืนยันว่า ดีเอสไอ เองก็เจอตอ ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จึงขอตั้งคำถามต่อ กสม.ว่า จะใช้กฎหมายใดมาบังคับใช้หากผลการตรวจสอบเสร็จสิ้นลง

ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่าการที่บริษัท พีทีที จีซี ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล โดยมีคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นประธานกรรมการ จะให้ประชาชนไว้ใจในผลการตรวจสอบได้อย่างไร

นางรัตนา มั่นประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมง ทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก  (กรมประมง) กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างโลหะหนักประกอบด้วย สารปรอท  สารแคดเมียม สารตะกั่ว สารทองแดง  และได้จับสัตว์น้ำมาวิจัย พบว่า ปริมาณของโลหะหนักไม่มีค่าเกินมาตรฐาน ไม่ต่างจากแหล่งอื่นที่นำมาเปรียบเทียบ ทั้งนี้กรมประมง ยังได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อไป

ด้าน นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร อนุกรรมาธิการด้านพลังงาน วุฒิสภา กล่าวว่า บทบาทของ กสม. ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบหาความจริงเพื่อช่วยผู้เสียหาย ดังนั้นต้องมีการตรวจสอบทั้งหมด 5 ด้าน คือ

1.ความพร้อมของผู้ประกอบกิจการ ที่เกี่ยวกับความเสี่ยงในอ่าวไทย ระบบโครงสร้าง การสื่อสาร มาตรการรับมือเหตุฉุกเฉินอย่างไร

2.ปริมาณของสารเคมี และมาตรฐานสารพิษของสารเคมีคือเท่าไหร่ เพราะได้อ่านรายงานของต่างประเทศ พบว่า เกิดความเสียหายกับทุกสิ่งใต้ทะเล

3.ผลกระทบ ยังเป็นกังวลกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ มักระบุขอบเขตการตรวจสอบบริเวณเฉพาะที่อ่าวพร้าวและเกาะเสม็ด เท่านั้นซึ่งถูกกำหนดจากบริษัท พีทีที จีซี

4.การวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ ยังเก็บข้อมูลได้ไม่แท้จริง 

5.คุ้มครองสิทธิ์ ทั้งทางตรงคือ อาชีพ ที่ได้รับผลกระทบ และการชดเชยอย่างเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และสิทธิ์ทางอ้อม คือความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งมีความพยายามโฆษณาให้บริโภคอาหารทะเล หรือลงเล่นน้ำทะเล ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความเสียหายอย่างแท้จริง เป็นเรื่องของความไร้มนุษยธรรม ดังนั้นข้อสรุปจากการตรวจสอบทั้ง 5 ด้าน จะทำให้ กสม. นำไปใช้เรียกร้องเรื่องสิทธิ์มนุษยชนได้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view