สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนลุ่มน้ำชมพู ทุบหม้อข้าวต้านเขื่อน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

จากตัวเมืองพิษณุโลกห่างออกไปร่วม 100 กิโลเมตร ชาวบ้าน “ลุ่มน้ำชมพู” กำลังคับแค้น

ด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงกำลังถูก “เขื่อน” คุกคาม ...ด้วยวิถีชีวิตที่ส่งผ่านแต่ละช่วงอายุคนกำลังถูก “เขื่อน” ทำลาย

แม้จะเป็น 1 ใน 22 หมุดหมายที่รัฐบาลปักไว้ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท แต่ขนาดของเขื่อนดินกว้าง 10 เมตร ยาว 1.1 กิโลเมตร สูง 49.50 เมตร กลับมิอาจเทียบเคียงขนาดของหัวใจชาวชมพู

นาทีนี้ชาวชมพูมิอาจทัดทาน “เขื่อนคลองชมพู”

นำมาสู่การประกาศ “ทุบหม้อข้าวสู้” ของ เชาว์ เย็นฉ่ำ แกนนำชาวบ้าน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

“การเรี่ยไรจากชาวบ้านคือหนทางเดียวที่เราจะมีเงินไปเคลื่อนไหว” เชาว์ เล่าว่า เมื่อชาวบ้านทราบว่าเขื่อนจะเข้ามาในพื้นที่และทุกคนต่างเห็นปัญหาเช่นเดียว กัน ก็หารือกันว่าจะทำอย่างไรกันต่อ เมื่อทุกคนยืนยันตรงกันว่าจะสู้ก็เริ่มมีการเรี่ยไร

"บอกกันปากต่อปาก ใครมีอะไรก็ขนกันมา ข้าวเปลือก ข้าวสาร น้ำปลา ปลาร้า รวมกันได้ก็เอาไปขาย" เชาว์ บอกว่า ชาวชมพูที่คัดค้านเขื่อนไม่ใช่เอ็นจีโอ ไม่มีใครมาสนับสนุน และก็ไม่อยากให้คนนอกมองเช่นนั้น ชาวชมพูเป็นชาวบ้านแท้ๆ ที่ได้รับผลกระทบ เราจะสู้ด้วยลำแข้งของตัวเอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวชมพูสู้...ประสบการณ์ในอดีตช่วงปี 2541 ได้หยัดอยู่ต้านโรงโม่ถึง 3 เดือนเศษ โดยขณะนั้นการเคลื่อนไหวไม่แตกต่าง ชาวบ้านบอกกันปากต่อปากจนนำมาสู่การเรี่ยไร เพียงคืนเดียวรวบรวมข้าวสารได้กว่า 5 ตัน อย่างอื่นอีกหลากหลาย รวมๆ แล้วขายได้เงินกว่าแสนบาท

“การต้านเขื่อนในครั้งนี้น่าจะหนักอยู่ที่น้ำมันรถ เนื่องจากพื้นที่ชมพูห่างจากจังหวัดเกือบ 100 กิโลเมตร เฉลี่ยแล้วต้องเติมคันละ 700 บาท คนไหนเติมเองไม่ไหวเราก็เอาเงินส่วนกลางจ่ายให้ คนไหนเติมเองไหวก็ต้องให้เติมเองไปก่อน อาหารการกินก็หากันเอง สู้กันตามอรรถภาพ”

สาเหตุที่ชาวชมพูต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ ด้วยที่ผ่านมาหลายรุ่นอายุคนต่างพึ่งพาป่าเพื่อยังชีพ

“เฉพาะมูลค่าของหน่อไม้ปีหนึ่งได้ไม่ต่ำกว่า 6-7 ล้านบาท ยังไม่นับผัก น้ำผึ้ง ของป่า ชีวิตชาวชมพูผูกติดกับป่าตลอด 12 เดือนวนเวียนเป็นวงจร” เชาว์ อธิบายว่า เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. ชาวบ้านจะเริ่มลงนา พอเข้าเดือน มิ.ย.จะเข้าป่าหาหน่อไม้ เห็ด ผักหวาน ผักกูด ผักพื้นบ้าน จากนั้นก็เริ่มลงน้ำหาปลา กระทั่งเดือน ก.ย.-ต.ค. จะกลับมาเกี่ยวข้าว จนถึงปลายปีก็จะเข้าป่าหาน้ำผึ้ง สมุนไพร หมุนเวียนไปเรื่อยๆ

“แต่ถ้าเขื่อนเข้ามาวิถีเหล่านี้จะถูกทำลาย สิ่งเหล่านี้จมน้ำหมด ที่บอกว่าปลูกป่าแทนได้ปลูกได้ถึง 180 ชนิดหรือไม่ มีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยแท้ มีปลาค้อถ้ำพระวังแดง ปลาพลวงถ้ำ ตุ๊กแกปล้องทอง ปูถ้ำพระให้หรือไม่ หรือดอกไม้หินศิลาวารีหรือไม่ ถามว่าภาครัฐจะเอาอะไรมาทดแทน”

แกนนำรายนี้เล่าอีกว่า ขณะนี้ชาวบ้านจะโทรมาถามตลอดว่าเอาแน่หรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์เฉพาะหน้าคือการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 20 ต.ค.นี้ จะเอากันอย่างไร เดิมทีระบุไว้ว่าจะจัดวันที่ 11 ต.ค. แต่กลับเลื่อนออกไปโดยไม่แจ้งให้ทราบ ที่สำคัญสถานที่จัดงานกลับห่างจาก ต.ชมพู ถึง 100 กิโลเมตร

“ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มารับฟังในพื้นที่ ทำไมไม่มารับฟังชาวบ้านจริงๆ แต่เมื่อเขากำหนดไว้แล้วเราก็ต้องวางแผนให้ดีที่สุด ต้องประเมินว่าจะนำชาวบ้านไปเข้าร่วมมากน้อยเท่าไร ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ให้คนของเรามีเรื่องกับคนที่เขาเตรียมมา อย่าให้มีการเจ็บตัว”

อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วรัฐยังยืนกรานที่จะเข้ามาสร้างเขื่อน มาตรการสุดท้ายของชาวชมพูคือการปิดพื้นที่ ปิดทางเข้าออกที่มีอยู่เพียงทางเดียว

“ถ้าเขาเข้ามาเราก็ล้อมปิดไม่ให้ออก ตัดขาดน้ำตัดขาดอาหาร ใครแอบเอาของเข้าไปส่งก็จับตัวไว้ให้หมด เราเป็นเจ้าของพื้นที่ มีกันร่วม 3,000 คน นาทีนี้ชาวบ้านเอากับเราหมด มั่นใจว่าเราสู้ได้”น้ำเสียงเชาว์แข็งกร้าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view