สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โพลชี้คนพื้นที่ค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์

จาก โพสต์ทูเดย์

นิด้าโพลเผยคนในพื้นที่ค้านสร้างเขื่อนแม่วงก์ หนุน ควรเปิดเวทีรับฟังความเห็น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การสร้างเขื่อนแม่วงก์”  ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 3 ตุลาคม 2556 กรณีศึกษาจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชัยนาท, นครนายก, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, และอ่างทอง (จำนวน 976 หน่วยตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 77.89)  และจังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี  (จำนวน 277 หน่วยตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 22.11) รวม 17 จังหวัด  รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 3.0

จากผลการสำรวจ เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันน้ำท่วม พบว่า ประชาชนในภาพรวมทั้ง 17 จังหวัด ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.13 เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะ เป็นการป้องกันน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในทุกๆ ปี  และชาวบ้าน เกษตรกรจะได้มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ รองลงมา ร้อยละ 37.19 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการตัดไม้ทำลายป่าและสัตว์ป่าจะไม่มีแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ทำให้สูญเสียระบบนิเวศของธรรมชาติ ควรจะมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ และไม่น่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุมากกว่า และ ร้อยละ 16.68 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ ขณะที่ ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี ร้อยละ 42.60 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รองลงมา ร้อยละ 41.52 เห็นด้วย 

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการต่อไปกรณีมี กลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ พบว่า ประชาชนในภาพรวมทั้ง 17 จังหวัด ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.93 ระบุว่า ควรเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้แสดงความคิดเห็น อย่างเสรี รองลงมา ร้อยละ 8.38 ระบุว่า ควรระงับโครงการทั้งหมด ร้อยละ 7.42 ระบุว่า ควรดำเนินโครงการต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคัดค้าน และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ควรทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบข้อดีและข้อเสียของโครงการ และควรชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ทั่วกัน

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี ร้อยละ 76.53 ระบุว่า ควรเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้แสดงความคิดเห็น อย่างเสรี รองลงมา ร้อยละ 10.83 ระบุว่า ควรระงับโครงการทั้งหมด ร้อยละ 8.30 ระบุว่า ควรดำเนินโครงการต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคัดค้าน และร้อยละ 0.36 ระบุว่า ควรทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบข้อดีและข้อเสียของโครงการ และควรชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ประชาชนทั่วไปทราบ ทั่วกัน 

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับกลุ่มที่รัฐบาลควรรับฟังความคิดเห็นก่อนการ ตัดสินใจสร้างเขื่อนแม่วงก์ พบว่า ประชาชนในภาพรวมทั้ง 17 จังหวัด ส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.64  ต้องการให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่อยู่รอบบริเวณการก่อ สร้างเขื่อนแม่วงก์ รองลงมา ร้อยละ 75.66  เป็นประชาชนที่อยู่ตามลุ่มน้ำสะแกกรังและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม    ร้อยละ  31.92 เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 29.53 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 6.30 เป็น ประชาชนทั่วไป ทุกๆ คน และมีเพียง ร้อยละ 2.39 ที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรับฟังใครเลยรัฐบาลตัดสินใจได้ทันที

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานี ร้อยละ 90.25  ต้องการให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่อยู่รอบบริเวณการก่อ สร้างเขื่อนแม่วงก์ รองลงมา ร้อยละ 87.00 เป็นประชาชนที่อยู่ตามลุ่มน้ำสะแกกรังและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ร้อยละ 29.96 เป็นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 24.19 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ  5.05 เป็น ประชาชนทั่วไป ทุกๆ คน และมีเพียง ร้อยละ 0.72 ที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องรับฟังใครเลยรัฐบาลตัดสินใจได้ทันที


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view