สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จักรยานแม่บ้านก็แข่งได้ นักปั่น แซม พิชิตมาแล้ว 223 กม.

จากประชาชาติธุรกิจ

แซม จักรยานแม่บ้าน 223 กม. พิชิตมาแล้ว!

โดย กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์




"วันหยุดสุดสัปดาห์แบบนี้ ปั่นไปไหนดี?" "อาทิตย์ที่ผ่านมาแกปั่นได้กี่กม.?" ประโยคเหล่านี้กลายเป็นคำถามยอดฮิตของบ้านเราเมื่อกิจกรรมการปั่นจักรยานฮอตฮิตติดลมบน สอดคล้องกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างตื่นตัว

ซึ่งคนที่หันมารักและครอบครองจักรยานคันงามนั้นมีหลายเหตุผล บางคนปั่นเพื่อสุขภาพ บ้างก็เพื่อเข้าสังคม หรือบางคน

"ขี่เอาเท่" ซื้อและแต่งจักรยานเพื่อสะท้อนรสนิยมและบอกนัยยะแก่คนที่พบเห็นว่า เขาคนนั้นดูดี มีสไตล์ จักรยานที่พบเห็นส่วนใหญ่บนท้องถนนจึงมีราคาตั้งแต่หลักหมื่นทะลุหลักแสน ซึ่งคันที่แพงที่สุดในโลก คือ Trek "Butterfly" Madone ราคาคันละ 15 ล้าน!

แต่จะมีสักกี่คน ที่ใช้จักรยานแม่บ้าน ปั่นทางไกลมากกว่า 100 กิโลเมตร

แซมจักรยานแม่บ้าน คือหนึ่งในนั้น หลังจากลงแข่งรายการแข่งขัน เดิน-วิ่ง จักรยานเสือภูเขาทางเรียบและเสือหมอบ เฉลิมพระเกียรติฯ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อ.นาทวี จ.สงขลา รุ่นเสือหมอบอายุไม่เกิน 39 ปี ระยะทาง 70 กิโลเมตร และเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 71 จากผู้สมัครในรุ่นเดียวกัน 95 คน

จากผลการแข่งขันอันเหลือเชื่อ ทำให้หนุ่มปัตตานีวัย 32 ปีคนนี้โด่งดังในโลกออนไลน์ และมีฉายาว่า แซม จักรยานแม่บ้านทันที



แซมมีชื่อจริงว่า ณัฐวุฒิ นนทิการ ปัจจุบันเป็นพนักงานฝ่ายธุรการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เกริ่นว่าหลังจากปั่นเกิน 100 กม. 3 ครั้ง และเกิน 200 กม. 1 ครั้ง จึงทดสอบตัวเองโดยการลงแข่งที่สนาม อ.นาทวี ปกติปั่นความเร็วประมาณ 20-22 กม./ชม. แต่วันที่เข้าเส้นชัยที่ 71 ได้ความเร็ว 24 กม./ชม. ถือว่าผลเกินคาด แม้ว่าในเส้นทางนั้นจะเนินเยอะก็ตาม

"พอขากลับเป็นเนินลง สบายเลย นี่อาจเป็นสาเหตุให้ความเร็วเพิ่ม" ณัฐวุฒิบอกเหตุผลกลั้วเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี และบอกเคล็ดลับว่า ต้องซ้อมให้มาก ยอมรับว่าทางเรียบสู้เสือหมอบไม่ได้ แต่บังเอิญซ้อมที่เนินมนัสข้าง ม.อ.จึงเข้าเส้นชัยได้

ความชอบจักรยานของ แซม-ณัฐวุฒิ เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่ปัตตานีบ้านเกิด

"ช่วงเด็กๆ สถานการณ์ยังสงบ ตกกลางคืนชอบใช้จักรยานของแม่หรืออาไปดูหนังตะลุงในเมือง พอช่วงมอปลายมีจักรยานของตัวเองคันแรก เป็นจักรยานทัวริ่งที่พ่อเพื่อนขายให้ในราคา 1,000 บาท ถือว่าถูกมาก ใช้ปั่นไป-กลับโรงเรียนราว 5 กิโลเมตรทุกวัน พอเข้ามหาวิทยาลัยใช้จักรยานน้อยลง ส่วนใหญ่จะเดินเรียนบางครั้งก็อาศัยมอเตอร์ไซค์เพื่อน สุดท้ายก็ถูกขโมย

"คันที่ 2 รุ่นพี่ให้เพราะเขาเรียนจบ ต่อมาไม่นานก็หายอีก ส่วนคันที่ 3 เป็นเสือภูเขา 6 สปีด เก็บเงินซื้อหลังจากทำงานที่คณะแพทย์แล้วปั่นไป-กลับที่ทำงานวันละ 3 กม. แต่เพิ่งหายไปเพราะจอดไว้หน้าที่พักแล้วลืมล็อก

"หลังจากนั้นจึงเดินไปทำงาน นึกขึ้นได้ว่าที่บ้านเกิดมีจักรยานแม่บ้าน 2 คัน จึงเอามาซ่อมจนสภาพดี อัพเกรดอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ล้อ เปลี่ยนทั้งชุด ซ่อมเกียร์เก่าที่ขนาดเล็กเกินกว่าจะปั่นทางไกลให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เฟืองโซ่ขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังหนาหากเทียบกับจักรยานเสือภูเขา" แซมเล่าถึงที่มาของการใช้จักรยานแม่บ้าน Flamingo ล้อ 24 นิ้วคันเก่า



ช่วงแรกของการใช้จักรยานแม่บ้าน แซม-ณัฐวุฒิปั่นไป-กลับที่ทำงาน และซ้อมช่วงหลังเลิกงานที่ถนนปุณณกัณฑ์ข้าง ม.อ. จากวันละ 5 กม. เพิ่มเป็น 10 กม. 20 กม. และ 40-50 กม. ตามลำดับ ตอนแรกเมื่อยมาก พออยู่ตัวแล้วจึงปั่นไปสงขลา ระยะทางราว 60-70 กม.

และเมื่อเป้าหมายมีไว้พุ่งชน แซมและจักรยานแม่บ้านคู่ใจจึงมุ่งหน้าไป "หาดใหญ่-หาดสะกอม อ.นาทวี" สถานที่ท่องเที่ยววัยเด็กซึ่งเป็นวันเดย์ทริป 100 กม. ครั้งแรก

"ตอนนั้นเป็นช่วงวันหยุดยาว ถ้าเหนื่อยจะได้มีเวลาพักฟื้นร่างกาย เตรียมแค่น้ำ เครื่องดื่มเกลือแร่ ออกเดินทางประมาณ 05.40 น. ระยะทางราว 107 กม. มีเนินเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีอะไรมาก ยังสบายอยู่"

วันเดย์ทริป ครั้งที่ 2 "หาดใหญ่-สะทิงพระ" ออกเดินทางแต่เช้าเพื่อร่วมทริปกับแก๊งทัวริ่ง แต่จากการเป็นจักรยานแม่บ้านเพียงคันเดียวและยืนยันจะไม่เปลี่ยนจักรยาน จึงตัดสินใจ "บินเดี่ยว" ปั่นคนเดียวเพื่อความสบายใจ หากรถมีปัญหาจะใช้วิธีโบกรถ จากนั้นการเดินทางที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าก็เริ่มต้นขึ้น

"เป็นทริปที่วัดใจตัวเองสุดสุด 125 กม. แต่กล้ามเนื้อล้าไม่มาก เจอแดดเผาจนเป็นรอยสายหมวกกันน็อก แขนคล้ำ สีผิวตัดกันอย่างเห็นได้ชัดกับใต้ร่มผ้า เป็นรอยที่นักปั่นหลายคนภูมิใจนะ ผมว่า"

และวันเดย์ทริป 100 กม.ครั้งที่ 3 "หาดใหญ่-ด่านนอก-มาเลเซีย" รวม 111 กม. โดยแซม-ณัฐวุฒิ บอกว่าทริปนี้มีแรงบันดาลใจ 3 ข้อ คือ 1.เพื่อนเก่าอยากเห็นปั่นจักรยานแม่บ้านข้ามประเทศ 2.ไม่เคยข้ามชายแดนแม้จะอาศัยอยู่ห่างจากชายแดนมาเลเซียแค่ 50 กม. และ 3.ตามหาน้ำอัดลม 2 ยี่ห้อที่เคยจำหน่ายในเมืองไทย "ซาสี่" และ "คิกกาปู้"

ด้วยเหตุผล 3 ข้อ และความพร้อมของร่างกายจึงเกิดทริปจักรยานแม่บ้านข้ามประเทศครั้งแรกของ แซม จักรยานแม่บ้าน

"มุ่งหน้าด่านนอกได้สักพักเจอแต่เนินกับเนิน เหมือนสูงมากจนปั่นไม่ไหวแต่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เรียกว่าเนินหฤหรรษ์ประมาณ 5-6 เนิน ปั่นไปเรื่อยๆ จนผ่านด่านศุลกากร เห็นป้ายด่านนอกแล้วยังมีเนินต้อนรับอีก (หัวเราะ) ทริปนี้สนุกมาก ได้เปิดหูเปิดตา กินซาสี่ และคิกคาปู้เหมือนตอนเด็กๆ ปั่นข้ามประเทศไปเที่ยวต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตได้สำเร็จ"


ณัฐวุฒิ นนทิการ


ส่วนเคล็ดลับการปั่นขึ้นเนินของจักรยานแม่บ้านคือ จักรยานมีเกียร์แม้การปั่นขึ้นเนินจะเบา แต่เหนื่อยตรงการซอยขา ส่วนจักรยานแม่บ้านนั้นการขึ้นเนินจะเหนื่อยและหนักมาก ต้องปั่นเร็วๆ จนแซงไม่อย่างนั้นจะเหนื่อย

หลังจากผ่านวันเดย์ทริปเกิน 100 กม.มาแล้ว 3 ครั้ง ก็มาถึงทริป 223 กม. "หาดใหญ่-พัทลุง"

"เรียกว่าภาคทรมานบันเทิง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักปั่นจักรยานแม่บ้านชาวพระประแดงซึ่งปั่นไปซื้อข้าวหลามที่หนองมน จ.ชลบุรี

"ออกจากหาดใหญ่ปั่นไปตามถนนเพชรเกษม หากมีปัญหากลางทางจะได้โบกรถเพราะไม่ได้เตรียมที่สูบลมยางในไปเหมือนนักปั่นคนอื่น เหมือนวัดดวง ไปถึงพัทลุงแบบไม่เหนื่อยมากนัก แวะเที่ยวและถ่ายรูปที่เขาอกทะลุ, วัดคูหาสวรรค์ และสถานีรถไฟพัทลุง ฯลฯ แต่ขากลับค่อนข้างอันตรายเพราะช่วงกลางคืนรถราขับเร็วมาก ผมต้องเปิดไฟหน้าและไฟท้าย ขับชิดขอบทางตลอด เจอมอเตอร์ไซค์ขับย้อนเลนตอนที่มีรถบรรทุกขับตามมา เสียวมาก บางช่วงเจอแอ่ง ต้องยอมจูงผ่านมา พอเข้าตัวเมืองแล้วสบายใจขึ้นเยอะ" แซมเล่าวีรกรรมการปั่นทางไกลมากกว่า 100 กม. ถึง 4 ครั้ง แต่ยังมีเส้นทางที่อยากพิชิต คือ พิชิตเทือกเขาภาคใต้

พนักงานหนุ่มวัย 32 ปี บอกว่าข้อดีจากการปั่นจักรยานคือได้เพื่อนมากขึ้น สังคมจักรยานเป็นสังคมที่เกื้อกูลกัน ร่างกายแข็งแรงขึ้น น้ำหนักลดลงไป 6-7 กก. รอบเอวหายไปหลายนิ้วจนกางเกงหลวม ส่วนสิ่งที่ต้องนำติดตัวไปด้วยเสมอ นอกจากอุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ แล้วมีน้ำดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่ หากไกลมากจะมีช็อกโกแลต กล้วยตาก หรือเวเฟอร์ไว้กินเพิ่มแรง

ส่วนการดูแลจักรยานคู่ทุกข์คู่ยาก แซมบอกว่าไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษ หากมีปัญหาก็ส่งช่างซึ่งส่วนมากเป็นระบบเบรก อย่างตอนลงเขาคอหงส์ที่หาดใหญ่ เบรกหน้าไม่ค่อยดีจึงใช้เบรกหลัง กดจนเบรกไหม้ เกือบแหกโค้งตกเขา (หัวเราะ) ตั้งแต่วันนั้นยอมเดินลง

เมื่อพูดถึงจักรยานคันใหม่ เจ้าของฉายาจักรยานแม่บ้าน บอกว่าคงเอาจักรยานแม่บ้านของแม่มาใช้ซึ่งค่อนข้างโทรม ขณะเดียวกันก็กำลังเก็บเงินซื้อจักรยานเสือภูเขาคงเป็นมือ 2 เพราะกลัวของใหม่หาย

"ผมชินกับการปั่นแม่บ้านระยะไกล ตอนแรกก็เหนื่อย เมื่อย แต่พอปั่นไปเรื่อยๆ มันปรับสภาพได้ เหนื่อยจนชิน

"สำหรับผม แม่บ้านออกรอบไกลเกิน 30 กม.ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว" แซม จักรยานแม่บ้านทิ้งท้าย





ที่มา นสพ.มติชน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view