สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐวิ่งวุ่นจำนำข้าวตกค้าง4แสนตัน ส.ชาวนาฟ้อง ปู -ธ.ก.ส.หวั่นเงินไม่พอซื้อข้าวปี 57

จากประชาชาติธุรกิจ

โครงการรับจำนำข้าวยังประสบปัญหาต่อเนื่อง ล่าสุด ธ.ก.ส.ปฏิเสธจ่ายเงินจำนำข้าวปลายฤดูอีก 400,000 ตัน อ้าง อคส.ออกใบประทวนหลังวันที่ 15 ก.ย. ส่งผลสมาคมส่งเสริมชาวนาฯทำหนังสือขอพบนายกฯขอความช่วยเหลือ

โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 (รอบ 2) ที่ปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา กำลังเผชิญปัญหาเมื่อมีข้าวเปลือกตกค้างอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 900,000 ตัน จากการประเมินตัวเลขผลผลิตผิดพลาด ในจำนวนนี้มีข้าวเปลือกจำนวน 400,000 ตัน ที่ อคส./อตก.ออกใบประทวนไปแล้ว แต่ชาวนายังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จนกลายเป็นเรื่องบานปลายเมื่อ ธ.ก.ส.พบว่า อาจมีเงินตามกรอบรับจำนำ "ไม่เพียงพอ" ที่จะจ่ายเงินตามใบประทวนที่ออกไปข้างต้น


ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยังพื้นที่ต่าง ๆ พบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากระบบการขึ้นทะเบียนผิดพลาด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า จะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 19 ล้านตัน จากปริมาณที่ตั้งเป้าหมายจะรับจำนำ 22 ล้านตัน ตามกรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท "ที่น่าจะเพียงพอต่อการรับจำนำข้าวรอบนี้" โดยปริมาณข้าวเปลือกปลายฤดูจำนวน 3 ล้านตัน ที่เตรียมวงเงินรับจำนำไว้จะประกอบไปด้วย ข้าวนาปรังจากภาคกลางจำนวน 2.6 ล้านตัน และข้าวในภาคใต้อีก 400,000 ตัน 

แต่ในช่วงระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน ก่อนปิดโครงการรับจำนำปรากฏ มีเกษตรกรนำข้าวเปลือกเข้ามาจำนำเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้อีก 900,000 ตัน ในจำนวนนี้มีทั้งที่ออกใบประทวนไปแล้วและยังไม่ได้ออกใบประทวน ส่งผลให้ ธ.ก.ส. "ปฏิเสธ" ที่จะจ่ายเงินตามใบประทวน เนื่องจากเกรงว่าจะเกินวงเงินตามกรอบ 400,000 ล้านบาท 

ส่วนการแก้ปัญหาเบื้องต้น ทางกระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาให้ 1)ชาวนากลุ่มที่ยังไม่ได้ออกใบประทวนนำข้าวส่วนเกินนี้ไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 แทน แต่เกษตรกรบางส่วนก็ยังคัดค้านวิธีนี้ เพราะอาจจะทำให้เสียสิทธิ์การรับจำนำรอบต่อไป เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯให้สิทธิ์จำนำรายละ 1 รอบ 2)การจ่ายเงินชดเชยจากปริมาณข้าวเปลือกส่วนเกินให้เกษตรกรโดยตรง แต่ต้องขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม.ก่อน

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมส่งเสริมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า จากการเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 ของคณะกรรมาธิการส่งเสริมราคาผลผลิตเกษตรกรรม เมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้ทราบว่า รัฐบาลกำลังประสบปัญหาการหาเงินหมุนเวียนเพื่อนำมาจำนำข้าวปี 2556/57 จากการที่กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวในสต๊อกได้ตามเป้าหมาย

ดังนั้นสมาคมจึงทำหนังสือลงวันที่ 25 กันยายน 2556 ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากพื้นที่ 25 จังหวัดทางภาคกลาง เข้าหารือถึงแนวทางการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยจะถือโอกาสนี้แจ้งให้กับนายกรัฐมนตรีได้ทราบว่า มีเกษตรกรบางส่วนที่นำข้าวไปเข้าโครงการรับจำนำ (2555/56) รอบ 2 กับโรงสีข้าวและได้รับใบประทวนมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินจาก ธ.ก.ส.นานกว่า 1 เดือนเศษ เฉพาะแค่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา แห่งเดียวก็มีประมาณ 1,000-1,200 รายแล้ว "ผมจึงอยากทราบว่า รัฐบาลจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรและขอความมั่นใจว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ต่อไป"

แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังอยู่ระหว่างหาทางออกว่า จะดำเนินการอย่างไรกับกรณีที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) มีการออกใบประทวนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 "ล่าช้า" และ ธ.ก.ส.ถือว่าใบประทวนจำนวนดังกล่าวออกมาหลังวันที่ 15 กันยายน ซึ่งสิ้นสุดโครงการรับจำนำไปแล้ว ส่งผลให้ ธ.ก.ส.ไม่สามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรคิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 400,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นข้าวในพื้นที่ภาคกลาง

ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 ที่ ครม.อนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 270,000 ล้านบาทนั้น ในทางปฏิบัติ "ยังไม่มีความชัดเจน" ตามปกติการรับจำนำข้าวในช่วงเดือนตุลาคมจะต้องใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่หากคำนวณวงเงินทั้งไตรมาส (ต.ค.-ธ.ค.) น่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท ในวงเงินจำนวนนี้หากกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถระบายข้าวเป็นไปตามเป้าหมาย "ธ.ก.ส.คงไม่สามารถนำเงินทุนออกให้ก่อนได้" เพราะโครงการที่ผ่านมา (2555/56) ธ.ก.ส.ได้สำรองพิเศษไปกว่า 160,000 ล้านบาทแล้ว 

"โครงการรับจำนำใหม่ระบุแค่ว่า ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินทุน แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะอยู่ในกรอบไม่เกิน 500,000 ล้านบาท (เงินกู้ 410,000 ล้านบาท รวมกับเงิน ธ.ก.ส.อีก 90,000 ล้านบาท) หรือไม่ เพียงแต่ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ต้องอยู่ในกรอบ 500,000 ล้านบาท ดังนั้นคิดว่าส่วนนี้คงต้องรอให้มีมติ ครม.อย่างชัดเจนอีกครั้งก่อน" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก ครม.มีมติยืนยันให้แยกเงินจำนวน 270,000 ล้านบาท ออกจากกรอบ 500,000 ล้านบาทแล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก็จะต้องปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะใหม่ เพื่อให้สามารถค้ำประกันเงินกู้แก่ ธ.ก.ส.ได้ เพราะเดิมการค้ำประกันใหม่ไม่ได้ใส่ไว้ในแผน ส่วนกรณีที่รัฐบาลจ่ายงบฯชำระหนี้ 80,000 ล้านบาทคืนให้ ธ.ก.ส. ก็น่าจะมีวงเงินส่วนหนึ่งนำมาใช้ได้ประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินรีไฟแนนซ์หนี้ในกรอบ 500,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงแนวทางการจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/57 ที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยมีกรอบวงเงินที่ต้องใช้คือ 270,000 ล้านบาท เบื้องต้นมีข้อสรุปว่า ในช่วงระหว่างที่รอให้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดหาเงินกู้ให้นั้น อาจจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติใช้งบฯกลางไปก่อนในช่วงแรกเพื่อไม่ให้โครงการสะดุด

ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้รายงานการส่งออกข้าวในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2556 มีปริมาณ 4.14 ล้านตัน มูลค่า 86,474 ล้านบาท (ตารางประกอบ) 


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view