สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทางหลวงแจ้งเส้นทางเลี่ยงถนนน้ำท่วม3สาย

ทางหลวงแจ้งเส้นทางเลี่ยงถนนน้ำท่วม3สาย

จาก โพสต์ทูเดย์

กรมทางหลวงแจ้งเส้นทางถูกน้ำท่วมผ่านไม่ได้ 3 แห่ง พร้อมแนะนำเส้นทางเลี่ยง คาดใช้งบซ่อมแซม 2,026 ล้านบาท

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.)  เปิดเผยว่า สำหรับถนนทางหลวงที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในวันที่ 1 ต.ค.2556 มีน้ำท่วมใน 5จังหวัด จำนวน 15สายทาง ในจำนวนนี้มีสายทางผ่านได้ 12 แห่ง และผ่านไม่ได้ 3 แห่ง ทล.จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนหลีกเลี่ยงเส้นทาง 3สายทางที่ผ่านไม่ได้ ในจังหวัดปราจีนบุรี โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายหนักนั้น จะใช้งบฉุกเฉินที่มีอยู่ 200 ล้านบาท เข้าไปแก้ไขให้เส้นทางสัญจรได้. ส่วนมูลค่าความเสียหายทั้งหมดขณะนี้ คาดว่าทล.จะต้องใช้งบกลางในการซ่อมแซมอุทกภัยทั่วประเทศ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาประมาณ 2,026 ล้านบาท

สำหรับทางหลวงที่ได้รับความเสียหายประกอบด้วย ทางหลวงหมายเลข 33 ประจันตคาม-พระปรง ท้องที่อำเภอประจันตคาม ช่วงกม.ที่ 83 - 84 เป็นแห่งๆ ระดับน้ำสูง 40 ซม.ให้เลี้ยวซ้ายบริเวณ กม.80+174 ไปใช้ทาง อบต.–บ้านอินไตย–แยกวัดพรมประสิทธิ์-เข้าทางหลวงหมายเลข 33 –กบินทร์บุรี

นอกจากนี้ มีทางหลวงหมายเลข 3078 ระเบาะไผ่ - ประจันตคาม ท้องที่อำเภอศรีมหาโพธิ ช่วงกม.ที่ 16 - 26 ระดับน้ำสูง 10 - 65 ซม.ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 33–ทางหลวงหมายเลข 304 (แยกกบินทร์ฯ) ทางหลวงหมายเลข 3079 ปราจีนบุรี- ศรีมหาโพธิ ท้องที่อำเภอศรีมหาโพธิ ช่วงกม.ที่ 2 - 19เป็นแห่งๆ ระดับสูง 15-45 ซม.ให้ใช้เส้นทาง ทางหลวงชนบทหมายเลข 4018 - ทางหลวงหมายเลข 3070 – ทางหลวงหมายเลข 3079 (แยกโคกขวาง)

อย่างไรก็ตาม  มีพื้นที่ที่มีน้ำท่วมระดับน้ำสูง20–30 ซม.อาจทำให้สัญจรได้ไม่สะดวก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์และรถยนต์ขนาดเล็ก 9 สายทาง 6 จังหวัด ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 1072 หนองเบน -ลาดยาว ท้องที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ช่วงกม.ที่ 8 - 30 เป็นแห่ง ๆ ระดับน้ำสูง 10–30 ซม. ทางหลวงหมายเลข 201 หนองบัวโคก - บ้านลี่ ท้องที่อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ช่วง กม.ที่ 86- 87 ระดับน้ำสูง 40 ซม. ผ่านได้ 1 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 226 หนองกระทิง -ลำปลายมาศ ท้องที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ช่วง กม.ที่ 87 -88ระดับน้ำสูง 25 ซม.

ส่วนทางหลวงหมายเลข 319 หนองชะอม-ไผ่ชะเลือด-โคกไทย ท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี ช่วงกม.ที่ 11 - 26 เป็นแห่งๆ ระดับน้ำสูง 20 - 40 ซม. ผ่านได้ไม่สะดวก และทางหลวงหมายเลข 3452 ดงพระราม - ห้วยขื่อ ท้องที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี ช่วงกม.ที่ 2 - 4 ระดับน้ำสูง 25 ซม. โดยผู้ใช้เส้นทางสอบถามเพิ่มเติม และขอความช่วยเหลือได้ สายด่วนกรมทางหลวง1586 ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.)  กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน ทำให้ถนนและสะพานของทช.ได้รับผลกระทบ 23 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร, นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก, ชัยภูมิ,บุรีรัมย์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด,ศรีสะเกษ, สุรินทร์, อุบลราชธานี,อำนาจเจริญ, ฉะเชิงเทรา, ชัยนาท, นครนายก, ปราจีนบุรี,พระนครศรีอยุธยา, ระยอง, ลพบุรี, สระแก้ว, สระบุรี,สุพรรณบุรี, อุทัยธานี รวมทั้งสิ้น 201 สายทาง แบ่งเป็นทางสัญจรผ่านได้ 170 สายทาง ผ่านไม่ได้ 31 สายทาง โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุจำนวนมาก

ทั้งนี้พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประสบอุทกภัย16 สายทาง ผ่านไม่ได้อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 สายทาง โดยเป็นถนนคอสะพานขาด 1 สายทาง และน้ำท่วมสูง 60 –80 ซม. 2 สายทาง จังหวัดศรีสะเกษ ประสบอุทกภัย 36 สายทาง ผ่านไม่ได้ 7 สายทาง โดยมีถนนคอสะพานขาด 2 สายทาง และมีน้ำท่วมสูง 50 –70 ซม.อีก 5 สายทาง จังหวัดสุรินทร์ ประสบอุทกภัย 18 สายทาง ผ่านไม่ได้ 1 สายทาง เนื่องจากมีน้ำท่วมสูง 80 ซม.และอุบลราชธานีประสบอุทกภัย 23 สายทาง ผ่านไม่ได้ 10 สายทาง โดยมีถนนและคอสะพานขาด 1 สายทาง น้ำท่วม 0.30-1.50 เมตร ผ่านไม่ได้ 9 สายทาง ส่วนทางหลวงชนบทในจังหวัดเพชรบูรณ์, แม่ฮ่องสอน, กาฬสินธุ์ และระนอง ที่เคยถูกน้ำท่วมกลับมาใช้การได้ปกติแล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ทช. โทร.1146


ชุมชนเมืองศรีสะเกษยังท่วมสูงเกือบมิดหลังคา-จมนาน 11 วัน ปักหลักนอนริมถนน

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ศรีสะเกษ - ชุมชนหนองหมู เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ติดริมห้วยสำราญน้ำยังท่วมสูงเกือบถึงหลังคาบ้าน ปชช.ต้องปักหลักพักอาศัยชั่วคราวอยู่ริมถนนและใช้เรือเดินทางเข้าออกไปดูแล บ้านเรือนที่จมใต้บาดาลรวม 130 หลังคาเรือนมานาน 11 วันแล้ว
       
       วันนี้ (1 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในเขต อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้ลดระดับลงเฉลี่ยวันละ 15 เซนติเมตร (ซม.) ซึ่งทางจังหวัดฯ คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ 15 ต.ค.นี้ โดยล่าสุดจากการวัดระดับน้ำห้วยสำราญที่สถานีวัดน้ำสะพานขาวอยู่ที่ 12.39 เมตร สูงกว่าตลิ่งอยู่ 3.37 ม.
       
       อย่างไรก็ตาม แม้ระดับน้ำจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่บริเวณชุมชนหนองหมู ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ติดริมห้วยสำราญ ระดับน้ำยังคงท่วมสูงเกือบมิดหลังคาบ้าน ซึ่งชุมชนแห่งนี้มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูงรวม 130 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องพากันนำเรือมาใช้ในการเดินทางเข้าออกระหว่างที่พักอาศัยชั่วคราว ที่บริเวณริมถนน ซึ่งอยู่ที่สูงกับบ้านเรือนของตัวเองที่จมอยู่ใต้น้ำและกระแสน้ำค่อนข้างไหล เชี่ยว
       
       ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่พากันไปอาศัยอยู่ยังศูนย์อพยพที่ทางราชการจัดไว้ให้เนื่องจากห่วง บ้านเรือนและทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม จึงเลือกพักชั่วคราวอยู่บริเวณริมถนนใกล้บ้านเพราะสามารถเข้าไปดูแลบ้าน เรือนได้ง่าย โดยเทศบาลเมืองศรีสะเกษได้นำเอาถุงยังชีพ รวมทั้งน้ำดื่มมาไว้ให้บริการแก่ชาวบ้านที่เดือดร้อนดังกล่าว
       
       นายฐานันดร ท้วมไธสง อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 321/3 ชุมชนหนองหมู หมู่ 8 ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ชุมชนหนองหมูตั้งอยู่ในที่ลุ่มต่ำติดกับลำห้วยสำราญ จึงถูกน้ำท่วมสูงเป็นประจำทุกปี โดยน้ำจะท่วมอย่างรวดเร็วแต่ลดลงช้ากว่าที่อื่นๆ ซึ่งปีนี้ถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. รวม 11 วันแล้ว พวกเราต้องเข้าไปดูแลบ้านที่จมอยู่ใต้น้ำทุกวันเพื่อระมัดระวังไม่ให้ ทรัพย์สินภายในบ้านรวมทั้งสังกะสีหลังคาบ้านถูกกระแสน้ำพัดหายไป ซึ่งหลังน้ำลดลงแล้วแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนมากซ่อมแซมบ้านเรือนที่ถูกน้ำ ท่วม จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลเกี่ยวกับการซ่อมแซม บ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมพังเสียหายด้วย


อยุธยาจม8อำเภอเดือดร้อนเกือบแสนคน

จาก โพสต์ทูเดย์

ปภ.อยุธยาเผยน้ำท่วมแล้ว8อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ1แสนคน

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา(ปภ.) รายงานว่า พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำ ถูกน้ำท่วมแล้ว 8 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล เสนา ผักไห่ บางไทร บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ท่าเรือ และ นครหลวง รวมทั้งหมด 99 ตำบล  584 หมู่บ้าน  บ้านเรือน  29,140 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบ  97,324 คน มีวัดถูกน้ำท่วม 34 แห่ง  โรงเรียน 27 แห่ง มัสยิด 1 แห่ง สถานที่ราชการ 4 แห่ง โดยระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 1-2 เมตร และในบางแห่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมาก อาจท่วมลึกมากกว่า 2 เมตร เช่น บางหมู่บ้านของอ.บางบาล
 
อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อาจมีระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นอีก 5-10 เซนติเมตร เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยา ปล่อยน้ำในระดับสูงกว่า 2,195 ลบ.ม.ต่อวินาที และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ปล่อยน้ำ 434 ลบ.ม.ต่อวินาที เขื่อนพระรามหกปล่อยน้ำ 494 ลบ.ม.ต่อวินาที


2ชุมชนเมืองเพชรบูรณ์อ่วมน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

น้ำท่วมเมืองเพชรบูรณ์อ่วมพบ2ชุมชนถูกตัดขาดจากโลกภัยนอกจัดพิธีอุ้มพระดำน้ำอาจมีปัญหา

วันนี้(1 ต.ค.) ประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะ 2 ชุมชนริมแม่น้ำป่าสักในเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ คือชุมชน 8 และ 9 ยังคงไม่รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพราะถูกน้ำท่วมสูง 80 เซนติเมตร และมีแนวโน้มน้ำท่วมสูงเพิ่มขึ้นอีกเพราะระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักยังคงเพิ่ม ระดับความสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประสบภัยได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐก็ยังไม่มี หน่วยงานใดลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแถมยังถูกตัดขาดจากโลกภายนอกรถยนต์เล็ก สัญจรไปไหนไม่ได้
 
ขณะที่บริเวณถนนเพชรรัตน์ ชุมชน 8  พนักงานเทศบาลถูกระดมมาช่วยกันเสริมแนวกระสอบทรายให้สูงขึ้น เพื่อสกัดกั้นไม่มีกระแสน้ำไหลผ่านเข้าสู่ชุมชนเศรษฐกิจชั้นใน ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าและร้านอาหารจากการจัดงานประเพณีอุ้มพระดำน้ำตั้งอยู่ เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันราษฎรที่ประสบภัยในขณะนี้เริ่มเป็นโรคน้ำกัดเท้า เนื่องจากต้องเดินแช่น้ำเพื่อขนย้ายสิ่งของกันตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เทศบาลต้องระดมแจกยาเวชภัณฑ์จำนวน 300 ชุดแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
 
นาย เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในช่วงนี้ค่อนข้างตึงเครียด เพราะต้องพยายามป้องกันไม่ให้กระแสน้ำจู่โจมเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน ส่วนสาเหตุที่น้ำป่าสักยังไม่ลดเพราะมีมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลเข้า หนุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีฝนตกหนักเป็นระยะๆอีกด้วย สำหรับการจัดพิธีอุ้มพระดำน้ำซึ่งเหลือระยะเวลาอีก 3 วันหากระดับน้ำยังไม่ลดคงเป็นปัญหาพอสมควร
 
ด้านนายคณีธิป บุณยเกตุ รองผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า ได้ประชุมนายอำเภอทั้ง 11 อำเภอและสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พร้อมสั่งการให้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกอำเภอ และยังกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นให้รวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อทางจังหวัดในเช้าของวันรุ่งขึ้นทุกวัน


สุขุมพันธุ์ยันกทม.ไม่เจอน้ำท่วมหนัก

จาก โพสต์ทูเดย์

ผู้ว่าฯกทม. ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนพระราม 6 มั่นใจรับมือได้ ส่วนวันที่ 3-4 ต.ค.ประสานกรมชลฯเฝ้าระวังฝนตกหนัก

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ ที่เขื่อนพระราม 6 จ.สระบุรี รอยต่อกับ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้นเดินทางไปประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ และประตูระบายน้ำพระศรีเสาวภาค ทางเลียบคลองระพีพัฒน์แยกใต้ ถึงประตูระบายน้ำพระธรรมราชา และสถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่เขื่อนพระราม 6 เพื่อมาดูพื้นที่ต้นน้ำของ กทม. ที่จะเข้าสู่ กทม. ฝั่งตะวันออก ซึ่งได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่กรมชลประทานว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำที่เขื่อนพระราม 6 ยังปกติ เขื่อนแห่งนี้รองรับน้ำจากแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณไหลผ่าน 400 - 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกิน 100% แล้ว จึงต้องเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำในเขื่อนพระราม 6 มีระดับเพิ่มขึ้น และทางเขื่อนพระราม 6 จะต้องระบายน้ำออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา และส่วนหนึ่งจะระบายไปยังคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเข้าสู่ กทม. ไปออกที่คลองแสนแสบ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง สถานการณ์น้ำในพื้นที่นี้ยังไม่ใกล้เคียงกับเมื่อตอนน้ำท่วมปี 2554

สำหรับช่วงวันที่ 3 - 4 ต.ค.นี้ ที่มีการคาดการณ์จะเกิดฝนตกหนัก เจ้าหน้าที่ กทม. ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือ ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายต่างๆ ยังปกติ อยู่ในระดับที่รับมือน้ำฝนได้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง


ปชป.เล็งตั้งกระทู้ถามปูแก้น้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

ฝ่ายค้าน เล็งตั้งกระทู้ถามนายกฯ ปมแก้ปัญหาน้ำท่วม เหตุบริหารงานล้มเหลวปล่อยท่วม 24 จังหวัด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปค้าน) กล่าวว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 ต.ค. วิปฝ่ายค้านจะเสนอญัตติขอเลื่อนร่างพ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชนขึ้นมา พิจารณาก่อน ตามที่วุฒิสภาเห็นชอบแล้ว และจะขอให้ที่ประชุมงดใช้ข้อบังคับเพื่อให้สามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ทันที โดยฝ่ายค้านมีมติความเห็นสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขณะที่การประชุมสภาฯวันที่ 3 ต.ค. พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้เสนอญัตติด่วนเรื่องความล้มเหลวการแก้ปัญหาน้ำท่วม ของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้น้ำท่วมแล้วกว่า 24 จังหวัด กระทบประชาชน 2 ล้านกว่าคน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 33 ราย นอกจากนี้ยังจะได้ตั้งกระทู้ถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงความคืบหน้าโครงการสร้างฟลัดเวย์(flood way) และโครงการแก้มลิงว่าไปถึงไหนแล้ว และปัญหาน้ำท่วมจะกระทบต่อข้าวหรือไม่อย่างไร รัฐบาลมีแนวป้องกันไว้อย่างไรบ้าง ไม่ใช่ฉวยโอกาสอ้างความผิดให้กับน้ำ


ศรีสะเกษอ่วมน้ำท่วมเริ่มเน่า

จาก โพสต์ทูเดย์

ศรีสะเกษเจอน้ำท่วมขัง98ครัวเรือนระทมทุกข์ ปภ.จังหวัดคาดกลับสูงภาวะปกติ15ต.คนี้

สถานการณ์น้ำท่วมที่จ.ศรีสะเกษ ปริมาณน้ำได้ลดระดับลงมาแล้ว1เมตร แต่ยังมีน้ำท่วมขังในชุมชนบ้านคุ้มหนองหมู หมู่ที่ 8 ต.โพธิ์ อ.เมือง จำนวน  98 ครัวเรือน ต้องอพยพขึ้นมาพักอาศัยอยู่ที่เต้นท์ริมถนนที่ทางราชการจัดไว้ให้มาตั้งแต่ วันที่ 21 ก.ย.ขณะที่น้ำที่ขังเริ่มน้ำเสียมีกลิ่นเหม็น และทำให้เกิดผื่นคัน 

นายสุขสันต์ บุญโทแสง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง วันละประมาณ 15 ซม. ซึ่งคาดว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ 15 ต.ค.นี้ 

ทั้งนี้จากการตรวจวัดระดับน้ำในลำห้วยสำราญ ที่สถานี M.9 สะพานขาว อยู่ที่ 12.28 ม. สูงกว่าตลิ่งอยู่ 3.28 ม. ซึ่งในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ราษฎรยังไม่สามารถขนย้ายสิ่งของกลับเข้าบ้านเรือนได้


เร่งทำคันล้อมเมืองอยุธยากันน้ำท่วม

จาก โพสต์ทูเดย์

นายกเทศมนตรีนครอยุธยาระดมเครื่องจักร รถบรรทุกดินทำคันล้อมเกาะเมืองกรุงเก่าป้องกันน้ำเอ่อท่วม

ว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีนครพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ได้ระดมเครื่องจักรจำนวนมากพร้อมรถบรรทุกดินเร่งทำคันกั้นน้ำ เสริมบนถนนอู่ทอง ตรงจุดเสี่ยงที่ใกล้ตลาดหัวแหลม และฝั่งตรงข้ามวัดหน้าพระเมรุ รวมระยะทาง 700 เมตร สูง 2 เมตรครึ่ง และมีฐานกว้าง 5 เมตร พร้อมจะนำผ้าใบมาปิดทับและใช้กระสอบทรายวางทับอีกชั้น โดยจะเร่งทำให้เสร็จในวันพรุ่งนี้ เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือ ที่จะมาอีกระลอกในอีก 2-3 วันนี้
 
ทั้งนี้หลังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี และเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ มีการเร่งปล่อยระบายน้ำจำนวนมาก โดยน้ำเหนือไหลหลาก ทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก จะไหลมาบรรจบกันที่เกาะเมืองกรุงเก่า ปัจจุบันเหลืออีก 1 เมตร จะเสมอแนวตลิ่งของเกาะเมือง
 
สำหรับถนนอู่ทองรอบเกาะเมืองกรุงเก่า มีความยาว 12 กิโลเมตร และทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำ โดยมีจุดเสี่ยงหลายจุดที่มีระดับต่ำ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ ทำคันดินเสริมความสูง ปิดจุดเสี่ยงดังกล่าว


น้ำชีล้นจมรร.บ้านทุ่งนาคสูง2เมตร

จาก โพสต์ทูเดย์

แม่น้ำชีล้นเอ่อท่วมโรงเรียนบ้านทุ่งนาคสุรินทร์สูงร่วม 2 เมตร ผอ.ประกาศปิดโรงเรียนไม่มีกำหนด

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ได้ลดระดับและคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ แต่ยังคงพบว่ามีหลายหมู่บ้านที่ติดลำน้ำชี  ซึ่งรับน้ำมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ที่ปล่อยผ่านมายังอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ก่อนจะลงสู่แม่น้ำมูลในพื้นที่ อ.ท่าตูมฯ พบว่ายังมีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมสูงอยู่ในบางแห่งที่เป็นที่ลุ่ม  โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านทุ่งนาค หมู่ 7 ต.เมืองลีง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ที่พบว่าปริมาณน้ำได้เอ่อล้นลำน้ำชีเข้ามาท่วมโรงเรียนระดับน้ำสูงกว่า 1.5 ม.-2 เมตร สนามฟุตบอล  อาคารศูนย์ปฐมวัย อบต.เมืองลีง อาคารเรียนปฐมวัย อนุบาล 1 – 2และโรงอาหาร  ถูกท่วมท่วมทั้งหมด มีโต๊ะเก้าอี้ หนังสือบางส่วนเสียหาย  แต่ครูนักเรียนได้นำอุปกรณ์การเรียนสมุดหนังสือไว้ที่สูงแล้ว  ทุ่งนาและถนนรอบโรงเรียนถูกน้ำตัดขาด  ต้องใช้เรือสัญจรได้ทางเดียว

ด้านนายสนั่น  แสนกล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งนาค กล่าวว่า ได้ประกาศหยุดทำการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้เข้าสัปดาห์ที่ 2 แล้ว   ระดับน้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ขณะที่เมื่อเมื่อวานนี้ระดับน้ำได้ลดระดับลงไปแล้วกว่า 1 ฟุต แต่กลับพบว่าวันนี้ได้เพิ่มสูงและไหลแรงขึ้นอีก ซึ่งสาเหตุที่ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกเนื่องอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงได้เปิด ประตูระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเร่งระบายและรับน้ำใหม่หากพายุเข้ามาอีก  สำหรับโรงเรียนบ้านทุ่งนาคมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล จนถึง ชั้นมัธยมปีที่ 3 รวมนักเรียนทั้งหมด 164 คน ครูและบุคลากร 14 คน

ขณะที่หมู่บ้านทุ่งนาค และหลุม ดิน ต.เมืองลีง พบว่ามีบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม รวมถึงวัด ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำอีกกว่า  60  ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมี  บ.กรูด,นานวล,หนองซำ  และบ.กันนัง  ต.เมืองลีง ฯที่พบว่ามีทุ่งนารอบหมู่บ้านถูกน้ำท่วม ส่วนระดับน้ำในแม่ล้ำมูลในพื้นที่ อ.ชุมพลบุ,ท่าตูมและ อ.รัตนบุรี  ระดับน้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มีพื้นที่ทางการเกษตรบางส่วนที่แม่น้ำมูลเริ่มเอ่อล้นท่วมในบางพื้นที่ที่ เป็นที่ลุ่ม  อย่างไรก็ตามระดับน้ำแม่น้ำมูลโดยรวมยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับตลิ่งประมาณ 2-3 เมตร  ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังอยู่ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view