สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศศิน ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมเดินต้าน“EHIA แม่วงก์ -เผยชาวลาดยาวต้อนรับอบอุ่น

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ศศิน”เขียนบันทึก ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมเดินเท้าต้าน EHIA เขื่อนแม่วงก์ จากไม่กี่คนในวันแรกจนเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นในวันสุดท้าย พร้อมระบุ คนพื้นที่ นักธุรกิจนครสวรรค์ร่วมหนุน แม้แต่คนลาดยาวพื้นที่ขัดแย้ง ยังต้อนรับอย่างประทับใจ
       
       วันนี้(30 ก.ย.) เมื่อเวลา 19.24 น. นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Sasin Chalermlarp เป็นบันทึกในหัวข้อ "ขอบคุณที่มาเดินด้วยกัน" โดยได้กล่าวขอบคุณบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมเดินเท้าต่อต้านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ(EHIA)โครงการเขื่อนแม่วงก์ ตั้งแต่เริ่มออกเดินทางวันที่ 9 ก.ย.56 จนกระทั่งมาถึงกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจากคนไม่กี่คนเพิ่มขึ้นจนถึงหลักหมื่นในวันสุดท้าย ทั้งนี้ นายศศินยังระบุด้วยว่า ได้รับการสนับสนุนจากปัญญาชนในพื้นที่ นักธุรกิจในนครสวรรค์ ตลอดจนประชาชนในชุมชนลาดยาว (อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์) ที่ออกมาต้อนรับอย่างน่าประทับใจ ทั้งที่เป็นพื้นที่ขัดแย้ง
       
       รายละเอียดในบันทึก "ขอบคุณที่มาเดินด้วยกัน"
       
       “เมื่อวันที่ 9 ที่ผ่านมาผมขับรถไปตั้งต้นเดินเท้าจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่เรวา จังหวัดนครสวรรค์ โดยเริ่มออกเดินตั้งแต่เช้าวันที่ 10 เวลา ตีห้าห้าสิบนาที ก่อนหน้านั้นผมไปไหว้ศาลพระภูมิที่ริมน้ำแม่เรวา ที่ตั้งอยู่บริเวณแก่งลานนกยูง และศาลเจ้าแม่เรวาที่ชายป่า ใกล้ป้อมทางเข้าหน่วย เพื่อสักการะขอพร เพื่อเดินรักษาป่าให้รอดจากเขื่อนที่จะสร้างปิดเขาสบกก และมออีหืด พาดทับบนแก่งลานนกยูงทำให้น้ำท่วมป่าหมื่นสามพันไร่ ด้านตะวันตกให้จมอยู่ใต้น้ำ
       
       อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร แห่ง บ้านธารมะยม อำเภอแม่วงก์ ผู้รู้เรื่องราวการจัดการน้ำระดับชุมชนที่ธารมะยม และรู้พื้นที่แม่วงก์ลาดยาว ราวกับสายน้ำทุกเส้นเป็นลายมือของแก มาสมทบตั้งแต่เช้ามืดเช่นกัน เพื่อนผม ในฐานะ นักอนุรักษ์ในท้องที่ แน่นอนว่าการปรากฏตัวเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาให้เห็นว่าปัญญาชนผู้อาวุโสของท้องถิ่นก็ไม่เห็นด้วย กับการสร้างเขื่อนในบริเวณนี้ ผมและอาจารย์ณรงค์เดินมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบอีกสี่ห้าคน ใช้เวลาสี่ห้าชั่วโมงผ่านเช้ามืดมาจนแดดสาย จนถึงบ้านตลิ่งสูง อันเป็นที่หมายพักกินข้าวเช้ารวบกับข้าวเที่ยงกัน
       
       ผมพบน้องๆ ศิษย์เก่าชมรมอนุรักษ์ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร 3 คนโบกรถมารออยู่ที่ตลิ่งสูง แนะนำตัวพร้อมทั้งแสดงเจตนาว่ามาเดินด้วย โล๊ะ ทศ และ ป้อง ทำให้ผมรู้สึกมีกำลังใจขึ้นอย่างประหลาด หลังจากผ่านยี่สิบกิโลเมตรแรก มาในเวลาร่วมสี่ชั่วโมง
       
       พี่กิ้น อดิศักดิ์ จันทรวิชานุวงศ์ นักอนุรักษ์ใหญ่แห่งนครสวรรค์ มาสมทบกับเราที่สี่แยกเขาชนกัน ตอนบ่ายๆ และชวนกันเดินเลยจุดหมายพักแรมในวันแรกที่วังชุมพร เนื่องจากว่าเราถึงจุดพักแรมของเราเพียงแค่เวลาบ่ายเท่านั้น และพี่กิ้นก็ยังไม่ได้เดินเท่าไหร่เลย แน่นอนว่า พวกเราล้วนคล้อยตามเนื่องจากเรียวแรงยังดีในวันแรก
       
       ไม่น่าเชื่อว่า ระหว่างทางเราจะเริ่มมีกำลังใจจากกลุ่มนักธุรกิจเมืองนครสวรรค์มาร่วมเดิน พร้อมทั้งแสดงเจตนาเลี้ยงข้าวปลาอาหารในตอนเย็น
       
       น้ำจัน หนุ่มกรุงเทพ มาพร้อมเพื่อนหลังจากสอบถามทางจากผมในเฟซบุ๊ก นั่งรถประจำทางมาถึงตอนค่ำๆ เจอกันที่วัดวังซ่าน แสดงเจตนาชัดเจนในการร่วมทาง
       
       วันรุ่งขึ้นเราเริ่มขบวนแต่เช้ามืดผ่านชุมชนวังซ่านเข้าสู่พื้นที่ แห่งความขัดแย้งชุมชนลาดยาว ขบวนของเราใหญ่ขึ้นเท่าตัวจาก ทีมเด็กวัดป่า จากจังหวัดกาญจนบุรี และกลุ่มนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ราชภัฏ นครสวรรค์ มาพร้อมน้ำแดงเย็นเจี๊ยบกลางบ่ายร้อน เริ่มมีสื่อมวลชน มาร่วมเส้นทางของเรามากขึ้น พาขบวนผ่านปัญหาสารพันจนถึงลาดยาวในเวลาหัวค่ำ ไม่มีปัญหาอุปสรรค จากความขัดแย้งมากเท่าที่คาด แต่กลับเจอการต้อนรับของชาวตลาดอย่างน่าประทับใจ
       
       เราเดินเท้าพักแรมตาม วัด โรงเรียน และบ้านมิตรสหายผ่านเมืองอุทัย มายังชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา เข้าปทุมและกรุงเทพด้วยขบวนที่ยาวขึ้นเรื่อย จนกระทั่งก่อตัวเป็นภาพอันน่าตื่นตายิ่งนักในการเดินขบวนยาวนับร้อยคน ในเสาร์อาทิตย์ จากอุทัยไปชัยนาท และไม่เคยมีคนน้อยลงเลยในทุกบ่ายบนสายเอเชีย และไม่น่าเชื่อว่าขบวนของเราจะเพิ่มปริมาณเป็นหลายร้อย หลายพัน จนถึงหลักหมื่นในวันสุดท้ายของการเดินทาง มีผู้คนหลากหลายจากทุกวงการมาคอยให้กำลังใจ มิเว้นแต่พี่นิคม พุทรา ยังเดินเป็นเพื่อนจากดอนเชียงดาว ลงมาเชียงใหม่ เพื่อให้กำลังใจจากแดนไกล
       
       ขอบคุณทุกท่านบนเส้นทางเดียวกันครับ”


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view