สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ศรีสุวรรณ แย้มฟ้องจัดการน้ำอีก 5 คดี ปราโมทย์ โต้ ปลอด ยันตีไม่ผ่านเขื่อนแม่วงก์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เสวนาผ่าแผนจัดการน้ำ พีอาร์หรือประชาพิจารณ์ นายก ส.ต้านโลกร้อน แย้มจ่อฟ้องโยงกู้ 3.5 แสนล้านอีก 5 คดี ด้านอดีตอธิบดีกรมชลฯ ชี้ศึกษาสร้างเขื่อนต้องดูเหมาะสมและผลกระทบป่ากับประชาชนให้ตกผลึก อ้างสมัยนั่งเก้าอี้ตีไม่ผ่าน รับทุกโมดุลน่าห่วง เลขาฯ มูลนิธิสืบฯ จวกเวทีรัฐแค่ฟังไม่ได้ปรึกษาตามทฤษฎี ปธ.มูลนิธิจัดการน้ำ ซัดรัฐเกณฑ์คนมาฟังไม่ตอบโจทย์ สงสัยรัฐอนุมัติก่อนสำรวจผลกระทบผิดกฎหมายหรือไม่
       
       วันนี้ (25 ก.ย.) ที่สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ วสท. จัดเสวนาในหัวข้อ ผ่าแผนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ “ประชาสัมพันธ์ หรือ ประชาพิจารณ์?” โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นจะต้องไปรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนจะมาตัดสินใจ แต่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ และประธาน กบอ.บอกว่าตัดสินใจแล้ว ถามว่าถ้าตอบว่าตัดสินใจแล้วจะนำเงินไปรับฟังความคิดเห็นทำไม
       
       อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง รัฐบาลจะต้องนำแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เมื่อต้นปี 55 ไปรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง คือ 65 จังหวัด ไม่ใช่ 36 จังหวัดอย่างที่รัฐบาลจะทำ เพราะเมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบถึง 65 จังหวัด เมื่อไปรับฟังความคิดเห็นแล้วจะต้องนำข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มีส่วนได้ส่วน เสียที่ตกผลึกแล้วมาปรับปรุงแผนแม่บทให้สอดคล้องกับคนทั้ง 65 จังหวัด แล้วนำข้อสรุปมาเป็นแผนงานหรือโมดูล ไม่ใช่เอาโมดูลทั้ง 10 โมดูลที่ผู้รับเหมาเสนอเข้ามาไปรับฟังความคิดเห็นเลยเพราะไม่ได้ประโยชน์ อะไร ทั้งนี้ หากรัฐบาลยังเดินหน้าจะรับฟังความคิดเห็นเวทีที่ 1 ในวันที่ 7 ต.ค. 56 ที่ จ.ลำพูน คิดว่าเป็นเรื่องแน่ ตนคงมีการดำเนินการและร้องอีกหลายคดี
       
       “ผมกำลังเตรียมการจะฟ้องร้องเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จำนวน 5 คดี ได้แก่ 1. ฟ้องอธิการบดีที่รับงานจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 2. ฟ้องเพิกถอนโครงการแม่น้ำสายใหม่ ขาณุวรลักษบุรี-ท่าม่วง 3. ฟ้องโครงการสอดไส้ที่ไม่เกี่ยวกับแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 4. ฟ้องสัญญากู้เงินในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่เป็นโมฆะ และ 5. ฟ้องเพิกถอนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ” นายศรีสุวรรณระบุ
       
       ด้านนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และอดีตกรรมการ กยน.กล่าวช่วงหนึ่งว่า การจะสร้างเขื่อนแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีการศึกษา 2 อย่าง คือ 1. เรื่องความเหมาะสม ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ จุลศาสตร์ และ 2. ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ เช่น ป่าไม้ และประชาชน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะต้องศึกษาให้ตกผลึก ไม่ใช่ศึกษาแบบคิดคำนึง และระหว่างศึกษาอาจลงพื้นที่พบปะกับประชาชนด้วย แต่เวลานี้ไม่มีเลย แค่จิ้มๆ กัน ประชาชนก็ไม่พบ หรือพบก็แค่โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น รับรองว่าขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการศึกษาเลย เช่นเดียวกับเขื่อนแม่วงก์ก็ยังไม่ผ่านกระบวนการศึกษา สมัยตนเป็นอธิบดีกรมชลประทานก็ไม่ผ่าน ต้องทำใหม่และทำเพิ่ม แต่ยังไม่ผ่านอยู่ดี ถือว่าจบ แล้วหากใครจะไปรื้อฟื้นก็จะต้องทำให้ผ่านให้ได้
       
       “การศึกษาจะต้องรู้ว่าประชาชนในท้องที่ยอมที่จะให้สร้างหรือไม่ จากนั้นค่อยเข้า สผ. ไม่ใช่อย่างที่นายปลอดประสพบอกจะทำ นั่นไม่ใช่ น่าเป็นห่วงมากๆ เวลานี้ไม่มีการศึกษาเลย ไม่ว่าโมดุลไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าตอบโจทย์ได้ คุ้มกับเงินที่ใส่ลงไปหรือไม่ ตนบอกรัฐบาลเสมอว่าศึกษาทุกอย่างก่อน ศึกษาแล้วค่อยมาทำ เพราะเมื่อกลั่นกรองแล้วจะรู้ว่าควรหรือไม่ควร การจะไปรับฟังตามเวทีต่างๆ ที่รัฐบาลจะทำจึงไม่มีความหมาย” นายปราโมทย์กล่าว
       
       ขณะที่นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ในพื้นที่ไม่มีใครรู้ข้อมูลอีไอเอ และเอชไอเอ ซึ่งเวทีที่รัฐบาลจัดทำเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่เวทีการปรึกษาหารือที่อยู่ในทฤษฎีของการมีส่วนร่วม เนื่องจากต้องมีการโฟกัสลงไปเฉพาะในการรับฟังความคิดเห็นจากการจัดการน้ำ
       
       นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า เวทีการรับฟังความเห็นของประชาชนที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน ไม่ใช่เวทีที่ควรนำมาใช้เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และไม่ใช่เวทีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นได้อย่างหลากหลาย มีการเกณฑ์ประชาชนผ่านทางกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ร่วมรับฟัง ดังนั้นจึงไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง นอกจากนี้ หากรัฐบาลทำตามคำสั่งศาลปกครอง ต้องนำแผนแม่บทเผยแพร่ให้สาธารณชนรับฟัง ไม่ใช่นำแผ่นพับที่อธิบายแต่ละโมดูลไปรับฟัง ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดหากข้อมูลที่รับฟังเป็นคนละเรื่อง
       
       “เขื่อนแม่วงก์ต้องทำตามกระบวนการให้เสร็จ ไม่ใช่ดึงดันว่าทำได้ก็ทำ ไม่ใช่เอาคนมาชุมนุมให้มีจำนวนมากกว่านายศศิน แต่จะต้องทำกระบวนการให้ถูกต้อง ซึ่งยังมีการตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลไปอนุมัติก่อนทำ ผิดกฎหมายหรือไม่ ตอนนี้ยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ และคิดว่าวันนี้ถ้าจะออกแบบด้วยการสร้างเขื่อนในเขตอุทยานฯ เดินหน้าลำบากมาก” นายหาญณรงค์กล่าว


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view