สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซัดโครงการน้ำรัฐไร้แผนแม่บท-ผิดหลักการ

จาก โพสต์ทูเดย์

วสท."ชำแหละเวทีประชาพิจารณ์โครงการน้ำ เผยรัฐยังไม่มีแผนแม่บท จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนได้อย่างไร

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า วสท.ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เปิดเวทีสัมมนาผ่าแผนกบอ. เวทีการบริหาจัดการน้ำทั่วประเทศ "ประชาสัมพันธ์หรือประชาพิจารณ์" เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม หลังจากที่กบอ. เตรียมเปิดเวทีประชาพิจารณ์โครงการจัดการน้ำ 36 จังหวัด โดยมีเป้าหมายให้มีผู้เข้าร่วม 4 หมื่นคน ภายใต้งบประมาณกว่า 184  ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจังหวัดลำพูนเป็นแห่งแรก ในวันที่ 7 ต.ค. นี้

ทั้งนี้ การจัดทำประชาพิจารณ์ ในขณะที่ภาครัฐยังไม่มีแผนแม่บทโครงการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจน ยังไม่มีการให้ข้อเท็จจริงให้กับท้องถิ่นทั้งในจังหวัดนั้นๆ และจังหวัดเชื่อมโยง อาจไม่ถูกต้องนัก สะท้อนให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวผิดหลักการ ผิดทั้งในเชิงหลักวิศวกรรม หลักทางกฎหมาย หลักการมีส่วนรวมภาคประชาชน และหลักความโปร่งใส โดยวสท. ขอยืนยันว่า สนับสนุนการจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำ แต่ต้องดำเนินการในแบบที่ถูกต้อง

ขณะที่นายสุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ โดยโครงการ 9 โมดูลที่รัฐบาลได้ประมูลไปแล้ว ไม่ถือว่าเป็นแผนแม่บท เพราะแผนแม่บทต้องเกิดจากการที่รัฐบาลเปิดเวทีระดมความคิดเห็นภาคประชาชนทุก ส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่าสิ่งที่คนท้องถิ่นต้องการคืออะไร และหากทำแล้วกระทบกับคนในจังหวัดใกล้เคียงอย่างไร แล้วนำมาจัดทำเป็นแผนแม่บท

"เมื่อรัฐบาลมีแผนแม่บทเป็นของตัวเองแล้ว ค่อยเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลตามแผนนั้น แล้วก็ต้องทำอีเอชไอเอ หรือรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งในกระบวนการนี้ จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์อีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นไปในแนวเดียวกัน ไม่ใช่การเปิดให้เอกชนคิดแผนงาน ประมูลงาน แล้วไปถามภาคประชาขน"นายสุวัฒนากล่าว

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เวลานี้ โครงการน้ำ ไม่มีรายละเอียดใดที่ชัดเจนเลย แล้วรัฐจะนำข้อมูลอะไรไปถามความคิดเห็นกับชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีแผนแม่บท มีแต่แผนอยากจะทำ แม้แต่วิธีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนก็ดำเนินการไม่ถูกต้อง 

นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า จากการศึกษาขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ หรือ Public Clearing ควรมีด้วยกัน 8 ขั้นตอนที่ดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ต้องมีกระบวนการให้ข้อมูลอย่างละเอียด จะทำอะไรบ้าง พร้อมเปิดให้หารือร่วมกันทุกฝ่ายจากนักวิชาการด้านต่างๆ และภาคประชาชน ไม่ใช่จัดเวทีเปิดลานกว้าง ดึงคนมาร่วมฟังให้ได้ตามเป้าหมาย แล้วก็สรุปเอาว่า นี่คือการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนต้องใช้เวลา ไม่ใช่ทำให้จบภายใน 1 วัน เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ตามแผนงานจะมีการสร้างโครงการป้องกันน้ำมากถึง 5 โมดูล จะใช้เวลาในการสรุปความคิดเห็นประชาชนใน 1 ได้อย่างไร เพราะหากดูกรณีเขื่อนแม่วงก์ ยังใช้เวลาในการพูดคุย หารือไม่ต่ำกว่า 4-5 วัน แต่นี่ 5 โมดูล และบางโมดูล มีการสร้างเขื่อนถึง 18 เขื่อน แต่ให้ประชาชนยกมือเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยภายในวันเดียว

นอกจากนี้ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการน้ำของภาครัฐ ยังกำหนดกรอบให้ทำประชาพิจารณ์เฉพาะจังหวัดที่จะมีโครงการเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง โครงการเหล่านี้ มีผลกระทบกับจังหวัดอื่นๆ ที่เชื่ือมโยงกัน เช่น โครงการ A5 ฝั่งตะวันตก เป็นโครงการที่สร้างผลกระทบมากกว่า 1 จังหวัด เริ่มจากแม่กลอง ยาวไปจนถึงจังหวัดที่มีลุ่มน้ำเชื่อมโยงกัน ประเด็นเหล่านี้ จะรับฟังความคิดเห็นเฉพาะคนในจังหวัดนั้นๆ ได้อย่างไร

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์ควรเป็นเวทีที่ระดมความคิดเห็นของภาคประขาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ทำตามขั้นตอน โดยหากใช้พื้นฐานน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 พบว่า น้ำท่วมใน 65 จังหวัด แต่ทำไมจึงทำประชาพิจารณ์เพียง 36 จังหวัด ภายใต้งบประมาณที่มากถึง 184 ล้านบาท มีเป้าหมาย 4 หมื่นคน เฉลี่ยงบประมาณต่อคนอยู่ที่ 4,600 บาท ถือว่าสูงมาก

ทางด้านตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดลำพูน ซึ่งจะเป็นจังหวัดแรกตามกำหนดการของการทำประชาพิจารณ์โครงการบริหารจัดการ น้ำ กล่าวว่า ตามหลักการก่อนทำประชาพิจารณ์ จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้าก่อน 15 วัน แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการแจ้งกับภาคประชาชนอย่างเป็นทางการ อาจถือการทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้เป็นโมฆะได้ ซึ่งหากดูจากการดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์ของภาครัฐ เหมือนการจัดเวทีประชาสัมพันธ์ข้อมูลมากกว่ารับฟังความคิดเห็น เพราะถ้ารับฟัง หากประชาชนไม่เห็นด้วย รัฐต้องหยุด แต่งานนี้ดูเหมือนไม่ใช่

นอกจากนี้ ภาคประชาชนในอีกหลายจังหวัด เช่น กบินทร์บุรี นครปฐม ปทุมธานี หวังให้เครือข่ายจากส่วนกลางช่วยทำข้อมูลแบบง่ายๆ เช่น ทำกราฟฟิกเสนอข้อมูลโครงการน้ำของรัฐ ผลกระทบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐ ในขณะที่ใกล้ถึงเวลาต้องเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิิดเห็นแล้ว

ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมีความคิดเห็นแตกออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1. แนะท้องถิิ่น ห้ามล้มเวทีประชาพิจารณ์ โดยให้ประชุม หารือแนวทางก่อน พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ในการนำเสนอข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐในวันประชาพิจารณ์ จริง และ 2. เสนอให้ล้มเวทีประชาพิจารณ์

ทั้งนี้ มองว่ารัฐบาลกำลังใช้คำตัดสินของศาลปกครองที่ระบุว่าให้ทำประชาพิจารณ์ก่อน เป็นข้ออ้างในการเปิด 36 เวทีทั่วประเทศในครั้งนี้ และท้ายที่สุด ไม่ว่าจะมีคนไม่เห็นด้้วยมากเพียงใด โดยโครงสร้างกฎหมาย ก็จะถือว่ารัฐได้ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว จึงควรฟ้องให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หยุดทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view