สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

No Dam!!! บทเพลงแด่แม่วงก์ แนวร่วมภาษาตีนต้านเขื่อนแม่วงก์

No Dam!!! บทเพลงแด่แม่วงก์ แนวร่วมภาษาตีนต้านเขื่อนแม่วงก์

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
       ปรากฏการณ์เดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์การทำ งานของสื่อไทยในยุคเงินเป็นใหญ่ อยู่เหนือความจริง เหนือความถูกต้อง เพราะนี่เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า “สื่อกระแสหลัก สื่อฟรีทีวีไทย(ส่วนใหญ่)ตายแล้ว”
       
       อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์นี้ แม้จะเริ่มก่อตัวจาก “ดร.ศศิน เฉลิมลาภ” และ คณะอีกไม่กี่คน แต่ด้วยความมุ่งมั่น ผสมกับการค่อยๆบ่มเพาะก่อตัวจากปรากฏการณ์เล็กๆในโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค และสื่อกระแสรอง ทำให้เกิดการขยายแนวร่วม สังคมเริ่มรับรู้ในวงกว้างขวาง มีผู้คนจำนวนมากขานรับ
       
       นับได้ว่า“ภาษาตีน”*** ของกลุ่มผู้ต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ก่อให้เกิดกระแสเสียงที่ดังขึ้น ส่วนกระแสเสียงนี้จะดังไปกระตุกต่อมสำนึกของพญามะเร็ง นักการเมืองเปื้อนสารปรอทผู้ดึงดันจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้เปลี่ยนใจได้หรือ ไม่ เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป
       สำหรับหนึ่งในแนวร่วมต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ก็คือภาคดนตรีกับบท เพลงต้านเขื่อนแม่วงก์ที่ศิลปินสร้างสรรค์ออกมาให้ฟังกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมขอคัดสรรมานำเสนอดังนี้
       
       เพลงแรก “แม่เรวา” ของน้าหงา คาราวาน(สุรชัย จันทิมาธร) อยู่ในอัลบั้มคู่ “หนังสือในชื่อเธอ” ที่มีเนื้อร้องท่อนขึ้นต้นว่า “ใบเอ๋ยใบไม้ ร่วงพื้นดินกรัง ภูผาหน้าหนาว แดดเช้าอุ่นจัง แม่เอ๋ยแม่เรวา แม่จ๋าเป็นที่หวัง...”
       
       ป่าแม่เรวาคือส่วนหนึ่งของผืนป่าแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่จะถูกสร้างเป็นแนวสันเขื่อนที่แก่งลานนกยูง ที่เป็นหนึ่งในถิ่นอาศัยของนกยูงแหล่งใหญ่ในเมืองไทย
       
       เพลงนี้น้าหงาพูดถึงเสน่ห์ความงามของผืนป่าแม่เรวา ก่อนจะปิดท้ายในท่อนจบด้วยบทพูดถึงอนาคตของแม่เรวาที่กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้น้าหงาจะไม่ได้บอกว่าความเปลี่ยนแปลงคืออะไร แต่ถ้ามีการสร้างเขื่อนที่นี่เปลี่ยนไปแน่นอน โดยเฉพาะกับผืนป่าบริเวณที่นี้ที่จะถูกทำลายกลายเป็นเขื่อนและทะเลสาบ
       ต่อกันด้วยอีกหนึ่งบทเพลงจากสมาชิกคาราวานที่พูดถึงแม่เรวาเหมือนกัน กับเพลง “อาลัยแม่เรวา” ของน้าหว่อง คาราวาน(มงคล อุทก) ในชุด“อัศจรรย์”
       
       “แม่เอ๋ยแม่เรวา อำลาป่าแม่วงก์ ก๊อกก๊อกกระโต้งโฮง ไม่ร่อนลงแล้วยูงรำแพน
       ลาแก่งลานนกยูง เขื่อนสูงจะมาแทน โมโกจู เขาหวงแหน ดินแดนแห่งเพชรพระอุมา...”
       
       เพลงนี้น้าหว่องแต่งขึ้นเพื่อไว้อาลัยต่อป่าแม่เรวา ถ้าหากว่ามีการสร้างเขื่อนแม่เรวาขึ้นจริง เขาเขียนขึ้นที่แม่เรวาบริเวณป่าต้นน้ำเลยขึ้นไปจากแก่งลานนกยูง ซึ่งจากข้อมูลที่น้าแกประมวลมาจากจุลสารป่าแม่วงก์ คำบอกเล่าของชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นั่น น้าหว่องบอกว่าเพลงนี้เป็นเรื่องราวของป่าพูด แต่คนเป็นผู้นำมาร้องถ่ายทอดเป็นบทเพลง
       
       ทั้ง 2 บทเพลง เป็นเพลงเก่า แต่งมาก่อนหน้าเหตุการณ์เดินเท้า เพราะมีความพยายามมานานแล้วจากภาครัฐที่จะผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งวงคาราวาน น้าหงา น้าหว่อง ถือเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญทางดนตรีของกลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก
       มาถึงบทเพลงใหม่ที่แต่งขึ้นล่าสุด สดๆใหม่ๆ ร่วมปรากฏการณ์เดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์กันบ้าง ผมขอเริ่มด้วย เพลง “เดิน...เพื่อป่าแม่วงก์” ของนิด ลายสือ
       
       นิด ลายสือ เขาเป็นอดีตสมาชิกวงแม่น้ำ เคยมีเพลงเอกคลาสสิกคือ “ขุนเขายะเยือก” เพลงนี้นิด และพรรคพวก แต่งเพื่อเป็นกำลังใจให้ อ.ศศิน มาในแนวคันทรี จังหวะคึกคักกระฉับกระเฉง เหมาะกับการเป็นเพลงมาร์ชเดินปลุกใจ กับเนื้อหาโดนๆ
       
       “...ฉันจะเดิน เดินไป บอกว่าป่าไทย ยังสมบูรณ์
       ก่อนจะสิ้นสูญ ก่อนป่าถูกทำลาย
       ลานนกยูง สัตว์สาพนาไพร
       ป่าแม่วงก์ยิ่งใหญ่ ล้ำค่ากว่าการสร้างเขื่อน..”
       ยังมีอีกหนึ่งบทเพลงที่แต่งกับ อ.ศศิน ในงานนี้ นั่นก็คือ เพลง “ศศิน” แต่งโดยกวีซีไรต์ “พี่จี๊ด-จิระนันท์ พิตรปรีชา” ขับร้องโดย“อ.ไข่ มาลีฮวนน่า”(คฑาวุธ ทองไทย)
       
       เพลงนี้พี่จี๊ดโพสต์ในเฟซบุ๊คมีใจความว่า เกิดขึ้นใน 3 วัน หลังจากแต่งเพลงที่ผมจะพูดถึงต่อไปแล้ว เพลงศศินก็เกิดขึ้นมา เพื่อหวังจะให้เป็นเพลงให้กำลังใจ
       
       เพลงศศินเป็นแนวอะคูสติกโฟล์คเบาๆ แต่มีท่อนฮุคโดนใจและปลุกประโลมคือ ท่อน “...สู้ สู้ ไม่เอาเขื่อนแม่วงก์...” ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลงนี้
       
       “...ร่วมทางศศิน เพื่อแผ่นดินไทย รักษาพงไพร ก่อนจะสายเกินไป
       สู้ด้วยความรัก พิทักษ์ป่าแม่วงก์ ร่วมชูธง ให้โลกได้รับรู้
       จากหนึ่งศศินเป็นล้านสสาร จากจิตวิญญาณ อุดมการณ์ร่วมเป็นพลัง
       สู้ สู้ ไม่เอาเขื่อนแม่วง...”
       มาถึงเพลงสุดท้ายนั่นก็คือ “กอดแม่วงก์” เพลงนี้ขับร้องโดย “โฮป แฟมิลี่” แต่งเนื้อโดยพี่จี๊ด จิระนันท์ อีกเช่นเคย และก็ใช้เวลาสั้นๆแค่ 3 วันเหมือนเดิม
       
       เพลงกอดแม่วงก์ แต่งเพื่อเป็นกำลังใจให้กับ อ.ศศิน ผู้จุดประกายการเดินเท้าต้านเขื่อนแม่วงก์ เพื่อให้คนตระหนักถึงการพิทักษ์รักษาป่า ว่ามีคุณค่ากว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ไม่คุ้มค่าการลงทุนเป็นไหนๆ
       
       เพลงนี้เนื้อหาดี ดนตรีไพเราะ ท่วงทำนองฟังง่ายติดหู จึงได้รับความนิยมไม่น้อย มีคนเปิดฟังในยูทูปกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมยกให้เป็นเพลงไฮไลท์ของงานนี้ และก็ขอคัดเนื้อร้องแบบเต็มๆมานำเสนอ ดังนี้
       
                “ดุจตะเกียง ส่องทางกลางสายฝน
       จุดใจคนให้ตระหนักพิทักษ์ป่า
       ก้าวเล็กเล็ก จากแม่วงก์พงพนา
       คือก้าวกล้าที่ยิ่งใหญ่..ไกล ไม่ กลัว
       
       ดุจไม้อ่อน บอบบางกลางลมฝน
       ร้อยพันต้นเติบกล้าเป็นป่าใหญ่
       จากน้ำค้าง ค่อยกลั่นก่อหล่อเลี้ยงไพร
       เป็นสายธารแผ่กว้างไกล..สะแกกรัง
       
       ** จากแม่วงก์ ลงเจ้าพระยา จากภูผา สู่มหานคร
       สายน้ำไหล เส้นทางไกล รวมหัวใจก้าวเดิน
       เรื่องราวที่ถูกเมิน ก้าวเล็กเล็กฝ่าข้ามเผชิญ..เดินต้าน เขื่อนแม่วงก์
       
       ดุจตะเกียง ส่องทางกลางสายฝน
       จุดใจคนให้ตระหนักพิทักษ์ป่า
       ทุกก้าวย่าง สันติธรรมนำปัญญา
       สืบศรัทธา เส้นทางทอด กอดแม่วงก์”
       และนั่นก็คือ 5 บทเพลงแด่แม่วงก์ แนวร่วมภาษาตีนต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่วันนี้ได้ถูกจุดให้วิญญูชนร่วมรับรู้และตื่นตัวกันไม่น้อย
       
       อย่างไรก็ดี แม้วันนี้จะมีคนออกมาคัดค้านการต้านเขื่อนแม่วงก์กันจำนวนมาก เนื่องจากโครงการนี้ แม้จะมีการสำรวจออกมาแล้วว่าเป็นโครงการที่ได้ไม่คุ้มเสีย ไม่คุ้มค่าการลงทุน เป็นการทำลายระบบนิเวศ ทำลายผืนป่าที่สมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของเมืองไทย(ป่าแม่วงก์ติดกับป่ามรดกโลก ห้วยขาแข้ง) มีทั้งป่าสักผืนสมบูรณ์ แหล่งหากินสำคัญของสัตว์ใกล้สูญพันธ์ คือเสือโคร่งและนกยูง ขณะที่การสร้างเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมได้เพียง 1% แถมยังมีการใช้เงินลงทุนมหาศาลถึง 13,280 ล้านบาท(จากเดิม 6 พันกว่าล้านบาท) ที่สำคัญคือโครงการนี้ยังไม่ผ่านความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่ง แวดล้อม(EIA)...(คลิกดาวน์โหลดรายละเอียดข้อมูล ทำไมต้องค้านเขื่อนไม่วงก์ได้ที่นี่)
       
       แต่เมื่อนักการเมืองอยากได้ พวกเขาจึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป พร้อมกับชูดราม่า อ้างว่าแก้ปัญหาน้ำท่วม ช่วยประชาชนผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม ซึ่งหากเรื่องนี้กระแสแผ่วลง ผู้คนคลายความสนใจ โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์เสร็จโจรแน่ๆ อีกทั้งนักการเมืองบางคนยังจะได้สวาปามผืนป่าและเงินจำนวนมหาศาลกันอีกสะดือ ปลิ้น

“ปลอด” เมินดีเบต “ศศิน” สวน “ปราโมทย์” เขียนผุดเขื่อนแม่วงก์ลืมแล้วหรือ หวังไร้พายุท่วมลด

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ประธาน กบอ.อ้างตะวันออกปีนี้น้ำมาก ใช้แม่น้ำปราจีนระบายลงบางปะกง บอกถ้าไม่มีพายุเข้าจะดีขึ้น โวสร้างเขื่อนสกัดน้ำป่าไหลได้ ขอโทษชาวบ้านริมน้ำ โอ่ลอกคลองแล้วไร้ปัญหา โบ้ยนิคมสหรัตนนคร จ่อทำฝนเทียมเหนือเขื่อนภูมิพล จ่อขุดจดหมายสวน “ปราโมทย์” หนุนสร้างแม่วงก์ ถาม “ศศิน” รู้จักปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติไหม ยันไม่ขัดข้องที่จะฟัง แต่เมินดีเบต
       
       วันนี้ (24 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกว่า ปีนี้มีน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา น้ำท่วมที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ถือว่ามากที่สุดในรอบ 26 ปี เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านกว่า 1 สัปดาห์ และยังมีพายุเข้ามาอีก 1 ลูก ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวเป็นภูเขา มีฝนลงมาจำนวนมากก็ไหลเข้าเมือง และแม่น้ำในพื้นที่ ทั้งแม่น้ำนครนายก และแม่น้ำปราจีนบุรีเป็นแม่น้ำขนาดเล็กรับน้ำได้น้อย น้ำจึงเอ่อทั้งสองด้าน โดยแนวทางการระบายน้ำจะใช้แม่น้ำปราจีนบุรีเป็นหลักให้น้ำไหลมาลงสู่แม่น้ำ บางปะกง เพื่อลดน้ำในจังหวัดปราจีนบุรี หากไม่มีพายุเข้ามาอีกก็จะสามารถแก้ปัญหาได้
       
       “จากการที่ปล่อยน้ำเข้าทุ่งเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ก็ทำให้น้ำในพื้นที่ลดระดับลงมาได้ 10 ซม. ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามต้องไม่ปล่อยน้ำลงแม่น้ำนครนายก อย่างน้อยเป็นเวลา 2 วัน ปล่อยให้เป็นเรื่องของแม่น้ำปราจีนบุรีก่อน หาก 3 วันนี้ไม่มีพายุเข้ามา สถานการณ์ฝั่งตะวันออกจะดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายปลอดประสพระบุ
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะจัดระบบน้ำป่าและน้ำท่าอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า น้ำป่าต้องไม่ให้ไหลลงมา โดยการสร้างเขื่อน หรือทำแก้มลิงให้น้ำไหลลงช้า อย่างแม่น้ำนครนายกมีเขื่อนขุนด่านปราการชล สามารถป้องกันน้ำที่จะไหลลงมาทีเดียวได้ แต่แม่น้ำปราจีนบุรีไม่มีเขื่อนที่ต้นน้ำ น้ำมีเท่าไหร่ก็ไหลลงมา ส่วนพื้นที่อีสานใต้ตอนนี้น้ำเริ่มลดระดับลงแล้วเนื่องจากน้ำไหลลงแม่น้ำโขง
       
       ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า ปีนี้มีฝนตกมามากกว่าปกติ จึงต้องระบายน้ำออกทะเลให้เร็วที่สุด ให้ระบายน้ำออกจากที่ลุ่มลงแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด จึงต้องขอโทษประชาชนที่บ้านอยู่ริมน้ำด้วย แต่พื้นที่นอกคันที่มีการยกถนนแล้วก็จะไม่มีปัญหา และน้ำปีนี้ถือว่าน้อยกว่าปี 54 มาก ไม่มีน้ำที่ไหลลงมาจากภาคเหนือเลย เป็นการสู้กับน้ำฝนที่ตกลงมามาก ปริมาณไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปี 54 ประกอบกับมีการลอกคูคลองไว้แล้วจึงไม่มีปัญหา
       
       เมื่อถามว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้วหรือไม่ นายปลอดประสพกล่าวว่า เขื่อนภูมิพล มีปริมานน้ำร้อยละ 42 หาก 1 สัปดาห์ข้างหน้าปริมาณน้ำยังเป็นเช่นนี้ จะมีการทำฝนเทียมเฉพาะพื้นที่ เขื่อนภูมิพล กบอ.อนุมัติในหลักการไว้แล้ว แต่ชะลอไว้เนื่องจากเกรงว่าเมื่อทำฝนเทียมแล้วฝนจะตกลงมามาก
       
       ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ฤดูฝนปีนี้จะกระทบพื้นที่เศรษฐกิจหรือไม่ นายปลอดประสพกล่าวว่า พื้นที่อุตสาหกรรมมีการสร้างคันกั้นน้ำหมดแล้ว ยกเว้น นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ที่มีปัญหาภายในทำให้ไม่สามารถสร้างคันกั้นน้ำได้ ส่วนพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี นิคมอุตสาหกรรมสร้างที่สูงหมด จึงไม่มีปัญหา
       
       นายปลอดประสพยังได้กล่าวถึงกรณีที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ออกมาระบุว่าเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวมได้ว่า ขอเวลา 1 วันจะไปเอาจดหมายสมัยที่นายปราโมทย์เป็นอธิบดีกรมชลประทาน ทำถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ที่ชื่อนายปลอดประสพเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์มาให้ดู เนื่องจากเรื่องนี้กรมชลประทานเป็นคนตั้งงบประมาณ เป็นคนออกแบบ ไม่ใช่ตน มีการทำกันมาเกือบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม จุดยืนของตนในการบริหารประเทศคือเอาคนส่วนใหญ่ และความเดือดร้อนของคนในพื้นที่เป็นหลัก จะเห็นว่าเวลาไม่มีเขื่อนที่ต้นน้ำ ทำให้ไม่สามารถคุมน้ำได้ เรื่องความเห็น และคำแนะนำต่างๆ พร้อมรับฟัง และจะพัฒนาปรับปรุงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อย่างไรว่ามาเลย ไม่ขัดข้อง แต่ไม่ใช่มาบอกว่าไม่ให้สร้าง เพราะอีไอเอมีไว้ศึกษาผลกระทบ และบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่บอกว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะเมื่อมีการทำอีไอเอ แสดงว่าเขายอมรับว่ามีผลกระทบแน่ๆ แต่จะทำอย่างไรให้กระทบน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
       
       “จู่ๆ มาบริภาษผม หาว่าผมพูดไปได้อย่างไรว่าปลูกป่าทดแทนได้ อย่างนั้นผมจะทวงว่ารู้จักชื่อโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติหรือไม่ ที่ทำกันมา 7-8 ปี มูลนิธีสืบนาคะเสถียรก็มาร่วมปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติด้วย แต่มาวันนี้ท่านไม่พอใจกลับขึ้นมาบอกปลูกไม่ได้แล้ว ทั้งๆ ที่ท่านร่วมเขียนโครงการนี้ขึ้นมา เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทำประสบผลสำเร็จกันมาจนทุกวันนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เหนื่อย ไม่พอใจพูดอย่าง พอใจพูดอย่าง จะแนะนำอะไรบอกมาเถอะ ผมไม่ได้ขัดข้องอะไรที่จะรับฟัง ปรับปรุงอะไรให้ดีได้จะทำ” นายปลอดประสพกล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นไปดีเบตกับนักวิชาการที่ออกมาคัดค้านหรือไม่ ปลอดประสพกล่าวว่า ในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนเราใช้มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ดังนั้นปล่อยให้คณะดังกล่าวคุยกัน ตนคงไม่ต้องไปคุย และด่านที่สองจะต้องมีการทำอีไอเอ และอีเอชไอเออีกครั้ง อย่าลืมว่าที่ทำแล้วค้านกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นการศึกษาของกรมชลประทานที่มีนายปราโมทย์ เป็นอธิบดีในขณะนั้นเป็นคนเขียนโครงการขึ้นมา เขาเอาโครงการของนายปราโมทย์ที่เน้นเรื่องชลประทานมาวิเคราะห์ โดย กบอ.ทำแผนตามมาในที่ใกล้เคียงกัน แต่เน้นเรื่องการระบายน้ำ ที่มีการค้านกันไม่ใช่เงินของ กบอ.เลย แต่กรมชลประทานเป็นคนจ้างเอง ดังนั้น กลุ่มที่ออกมาคัดค้านค้านผิดคน เพราะควรจะต้องค้านนายปราโมทย์ นายปราโมทย์แก่แล้วลืมหรืออย่างไรว่าเคยพูดอะไร


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view