สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สำรวจพบเกษตรกรเป็นหนี้เฉลี่ยรายละ1.2แสนบาท

จาก โพสต์ทูเดย์

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลสำรวจสำมะโนเกษตรกร พบ เกษตรกรเกือบครึ่งเป็นหนี้เฉลี่ย1.2 แสนบาทต่อราย

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   แถลงข่าว "ผลการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556" ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร  ได้จัดเก็บข้อมูลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2556  เพื่อให้ทราบโครงสร้างพื้นฐานของการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปี สำหรับนำไปวางแผน  กำหนดนโยบาย  และติดตามประเมินผลการพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ   ทั้งนี้พบว่าข้อมูล ณ เดือนพ.ค.  2556 มี เกษตรกรจำนวน    5.9 ล้านราย   หรือ  25.9%  ของครัวเรือนทั้งประเทศ  และมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 114.6 ล้านไร่  โดยมีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ย 19.4 ไร่ต่อราย    

ทั้งนี้เกษตรกร มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไปมากที่สุด คือ 28.6% และ  42.9% มีหนี้สิน โดยเป็นหนี้สินเพื่อการเกษตร  โดย 36.9%  มีหนี้สินเฉลี่ย 124,604 บาทต่อครัวเรือน  ซึ่งส่วนใหญ่กู้จาก ธ.ก.ส.

"เนื้อที่ถือครองทำการเกษตรเกินกว่าครึ่งเป็นที่ปลูกข้าว  รองลงมาคือปลูกพืชไร่ และยางพารา  และพบว่าในช่วงปี 2536 - 2556 มีจำนวนผู้ถือครองที่ปลูกข้าวลดลงจาก 4.2 ล้านราย  เหลือ 3.8 ล้านราย  ในขณะที่เนื้อที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจาก  67.4 ล้านไร่  เป็น 72.8 ล้านไร่"นายวราเทพกล่าว

อย่างไรก็ตามพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรมากที่ สุด คือ 2.7 ล้านราย และ 53.5 ล้านไร่ ตามลำดับ รองลงมาคือภาคเหนือ 1.3  ล้านราย  และ 27.1  ล้านไร่  ภาคใต้  10 ล้านราย  และ  14.7 ล้านไร่  ส่วนภาคกลางมีผู้ถือครองทำการเกษตรน้อยที่สุด 0.9 ล้านราย  และมีเนื้อที่ถือครอง 19.3 ล้านไร่  โดยจังหวัดที่มีผู้ถือครองทำการเกษตรมากที่สุด  10 อันดับ  คือ  นครราชสีมา  รองลงมาคือ  อุบลราชธานี  ศรีสะเกษ  ขอนแก่น  นครศรีธรรมราช  สุรินทร์  ร้อยเอ็ด  สกลนคร  บุรีรัมย์  และอุดรธานี  ตามลำดับ  โดย  3 จังหวัดแรก มีผู้ถือครองทำการเกษตรเกิน 2  แสนราย

สำหรับกระทรวงเกษตรฯ มีภารกิจที่ต้องดำเนินการตามกรอบนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาภาคการเกษตร ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ๆ คือ 1.การพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ จัดตั้งและพัฒนาอาสาสมัครเกษตรกรหมู่บ้าน   ประกันความมั่นคงให้เกษตรกรในกองทุนสวัสดิการชาวนา พัฒนาธุรกิจสถาบันเกษตร ฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรซึ่งพักชำระหนี้สนับสนุนสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเผยแพร่ความรู้ภาคการเกษตร  2. การพัฒนาการผลิต ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าเพื่อความปลอดภัยต่อการบริโภค ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต และปรับระบบการผลิตให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นต้น   และ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การขยายพื้นที่ชลประทาน การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และการจัดทำระบบเตือนภัยด้านการเกษตร ทั้งในเรื่องอุทกภัย ภัยแล้ง แมลงศัตรูพืช และการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตร


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags :

view